ผู้ใช้:พระชัชนพัฒน์ ปภากโร/กระบะทราย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ประวัติ พระครูเกษมธรรมทัต' (หลวงพ่อสุรศักดิ์ เขมรํสี)

สำนักปฏิบัติกรรมฐาน วัดมเหยงคณ์ ต.หันตรา อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา


๑. ฆราวาสสมัย

ณ หมู่บ้านแห่งหนึ่งในเขต ตำบลนครหลวง อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำป่าสัก ผู้คนในถิ่นนั้นจะคุ้นเคยเป็นอย่างดี กับเรือนแพหลังหนึ่งซึ่งจอดอยู่ริมฝั่งแม่น้ำ เป็นที่ทราบกันว่า เจ้าของเรือนแพหลังนี้ คือ สามี-ภรรยา ผู้ใจบุญ นามว่า “นายบัวขาว-นางมณี เพ็งอาทิตย์” ผู้ให้กำเนิดเด็กชายสุรศักดิ์ หรือ “พระอาจารย์สุรศักดิ์ เขมรํสี” ประทีปธรรมนำจิตใจของคณะศิษย์สุปฏิปันโนในปัจจุบัน

กาพย์ฉบัง ๑๖

สามธันวามาดล ศุภมงคล อุบัติบังเกิดกุมาร ห้าค่ำวันจันทร์กล่าวขาน

เดือนอ้ายประมาณ ปีเถาะเก้าสี่ผ่านมา กล่าวฝ่ายบิดามารดา ยินดีนักหนา

ให้ชื่อ “สุรศักดิ์” เฉิดฉาย พี่น้องหญิงชายร่วมครรภ์ ห้าคนเท่านั้น ที่สามเป็นชายชาตรี บิดามารดาปรานี

ได้เป็นศักดิ์ศรี “เพ็งอาทิตย์” ตระกูลวงศ์ ท่านมีเรือยนต์รับส่ง หลักฐานมั่นคง

ทั้งเรือบรรทุกปูนหิน เรือกสวนไร่นาทำกิน ไม่รู้หมดสิ้น ให้เช่าตามเค้ากล่าวมา

เมื่อเด็กชายสุรศักดิ์ เพ็งอาทิตย์ เจริญวัยขึ้นก็ได้เข้ารับการศึกษาทั้งในระดับประถม และมัธยมศึกษาที่โรงเรียนนครหลวงวิทยาคาร โรงเรียนนครหลวงพิบูลย์ประเสริฐวิทย์ และโรงเรียนอุดมรัชวิทยา ในเขตอำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยาเด็กชายสุรศักดิ์เป็นนักเรียนที่เอาใจใส่การเล่าเรียนเป็นอย่างดี มักได้รับคำชมเชยจากครูที่ทำการสอนอยู่เสมอ แต่จะด้วยวิบากกรรม หรือมหากุศลบันดาลให้เป็นไป ก็สุดจะคาดเดาได้ จึงทำให้เด็กชายสุรศักดิ์ เกิดประสบอุบัติเหตุบาดเจ็บร้ายแรงถึงขั้นต้องหยุดพักการเรียนไปช่วงหนึ่ง

วิชชุมมาลา ฉันท์ ๘

ลำดับต่อไป เป็นวัยเล่าเรียน มานะพากเพียร เป็นมอสอสอง เกิดอุบัติเหตุ เภทภัยเข้าครอง เจ็บข้อเท้าต้อง ผ่าตัดเยียวยา รักษาสังขาร เนิ่นนานผ่านไป จะเรียนต่อไซร้ ไม่สมอุรา ประกอบอาชีพ ช่วยท่านบิดา เดินเรือต่อมา ประมาณเจ็ดปี เบื่อหน่ายเต็มทน ต้นหนเดินเรือ อันตรายมากเหลือ เสี่ยงภัยมากมี สายน้ำคลื่นลม ขื่นขมฤดี อันอาชีพนี้ เลิกไปขายเรือ เมื่อเป็นต้นหน ฝึกฝนเรียนไป ศึกษาผู้ใหญ่ ท่านไม่รู้เบื่อ จบมอสอสาม งดงามอะเคื้อ ประโยชน์จุนเจือ เรียนต่อช่างยนต์ ช่างเชื่อมโลหะ ไม่ละเลยไป เล่าเรียนสมใจ กระทั่งช่างกล ย่างยี่สิบสี่ เบื่อหนี้ต้นหน บิดาของตน ขอให้บวชเรียน มารดาบิดา เลี้ยงมาเหนื่อยยาก เมื่อท่านออกปาก จึงได้พากเพียร ทดแทนพระคุณ เกื้อหนุนจำเนียร จึงได้บวชเรียน ด้วยจิตศรัทธา


๒. สู่ร่มกาสาวพัสตร์

เมื่อได้ตัดสินใจเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์แล้ว โยมบิดา-โยมมารดา จึงได้จัดพิธีอุปสมบทให้ เมื่อวันที่ ๖ กรกฎาคม ๒๕๑๘ ณ วัดพร้าวโสภณาราม ตำบลนครหลวง อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยมี ท่านพระครูอดุลธรรมประกาศ เป็นพระอุปัชฌาจารย์, พระอธิการป่วน โสภโณ เป็นพระกรรมวาจารย์ และ พระครูสำเริง เป็นพระอนุสาวณาจารย์ ได้รับฉายาว่า เขมรํสี ซึ่งแปลว่า ประทีปธรรมนำความสงบ และหลุดพ้น

โครงสี่สุภาพ

ท่านสุรศักดิ์จึงได้ บรรพชา เขมรังสีฉายา เลิศแล้ว วัดพร้าวโสภณา รามแห่ง นั้นนา ถิ่นเกิดดูเพริศแพร้ว ยิ่งล้ำ อำรุง จิตมุ่งจักไขว่คว้า หาธรรม ตัดกิเลสสงบงำ ผ่องพ้น เคร่งครัดวินัย สำ คัญยิ่ง นาพ่อ เป็นแบบอย่างเลิศล้น เจิดจ้าคณาสงฆ์ จำนงจักใคร่รู้ กรรมฐาน อบรมวิปัสสนาจารย์ ครบถ้วน ประสบท่านผู้ชาญ ปฏิบัติ ธรรมนา ทรงพระคุณเลิศล้วน ก่อให้ศรัทธา

ต่อมาท่านได้ลองไปปฏิบัติกรรมฐาน ณ สำนักวิปัสสนานครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยการแนะนำจากญาติฝ่ายโยมบิดา ทำให้ท่านได้ประจักษ์ถึงพุทธดำรัส ที่ว่า สพฺพรสํ ธมฺมรโส ชินาติ รสพระธรรมย่อมชนะรสทั้งปวง

ในช่วงเวลานั้นท่านได้พบกับความสงบร่มเย็นแท้จริงของชีวิต และรู้สึกลึกซึ้งในคุณค่าของพระธรรมมากยิ่งขึ้น จนทำให้เปลี่ยนความตั้งใจจากเดิม ที่คิดว่าจะบวชเพียงพรรษาเดียว เพื่อทดแทนคุณบิดามารดา เป็นตั้งมั่นที่จะอยู่ในร่มกาสาวพัสตร์ต่อไป เพื่อค้นคว้าศึกษาหลักธรรมให้แตกฉานยิ่งขึ้น

โครงสี่สุภาพ

สังวรสมาธิวัตรนั้น คือนาม พระผู้ทรงคุณความ อะเคื้อ บารมีหาโลกสาม ฤาเทียบ เมตตาพระก่อเกื้อ ศิษย์ล้วนระลึกคุณ

กาลต่อมาท่านได้มีโอกาสเข้ากราบนมัสการพระอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนากรรมฐาน แห่งวัดเพลงวิปัสสนา เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร ท่านรู้สึกเลื่อมใสศรัทธาในปฏิปทาของท่านพระครูรูปนี้ยิ่งนัก


๓. ศึกษาพระอภิธรรมนำชีวิต

ท่านพระครูสังวรสมาธิวัตร ได้เมตตารับพระภิกษุสุรศักดิ์ไว้เป็นศิษย์ ทั้งยังได้แนะนำให้เข้ารับการอบรมในสำนักปฏิบัติกรรมฐาน ณ สำนักวัดเพลงวิปัสสนา จนมีศรัทธาแรงกล้าใคร่ที่จะศึกษาในพระอภิธรรมคัมภีร์ จึงได้ไปสมัครเรียนที่อภิธรรมโชติกวิทยาลัย ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ กรุงเทพมหานคร โดยเรียนที่ระเบียงวิหารคต และ ณ ที่นี้เอง พระภิกษุสุรศักดิ์ก็ได้ใช้ความเพียรในการศึกษาพระอภิธรรมคัมภีร์จนมีความรู้แตกฉาน สามารถสอบได้คะแนนสูงสุดเป็นที่หนึ่งของประเทศ จึงได้รับความไว้วางใจ แต่งตั้งให้เป็นครูสอนพระอภิธรรม ซึ่งในขณะนั้นท่านมีอายุพรรษาเพียง ๓ พรรษาเท่านั้น แต่ต้องเป็นทั้งครูสอน และนักเรียนศึกษาในชั้นสูงต่อไปด้วย

สำหรับครูที่ถ่ายทอดวิชาพระอภิธรรม ที่พระภิกษุสุรศักดิ์มีความประทับใจในวิธีการสอนเป็นอันมากก็คือ ท่านพระครูธรรมสุมนต์นนฺทิโก เจ้าอาวาสวัดจากแดง จังหวัดสมุทรปราการ พระภิกษุสุรศักดิ์ได้ศึกษาหาความรู้จากครูบาอาจารย์ต่างๆ และค้นคว้าศึกษาในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา พร้อมทั้งหาโอกาสออกไปสู่ความวิเวกตามป่าเขาลำเนาไพร ฝึกฝนปฏิบัติในพระธรรมกรรมฐานอยู่เสมอเป็นนิจ และนั่นคือการสั่งสมปัญญาบารมีไว้เป็นปัจจัยในการเผยแผ่พระพุทธธรรม เป็นผลให้กาลต่อมาได้บังเกิดพระสุปฏิปันโน ผู้บำเพ็ญคุณประโยชน์ยิ่งอีกรูปหนึ่งในพระพุทธศาสนา ซึ่งมีนามฉายาว่า “เขมรํสี ภิกขุ”