ผีเสื้อเหยี่ยวบอนเขียว

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ผีเสื้อเหยี่ยวบอนเขียว
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Arthropoda
ชั้น: Insecta
อันดับ: Lepidoptera
วงศ์ใหญ่: Bombycoidae
วงศ์: Sphingidae
สกุล: Pergesa
สปีชีส์: P.  acteus
ชื่อทวินาม
Pergesa acteus
(Cramer, 1779)

ผีเสื้อเหยี่ยวบอนเขียว (อังกฤษ: Pergesa acteus) ชื่อวิทยาศาสตร์คือ Pergesa acteus (Cramer, 1779) เป็นสมาชิกในวงศ์สฟิงยิดี้ (Sphingidae) หรือผีเสื้อเหยี่ยว และ ผีเสื้อกะโหลก (hawk moths, sphinxes) พบได้ทั่วไป มีเขตแพร่กระจายอยู่ทางตอนใต้และตะวันเฉียงใต้ของทวีปเอเชีย จากรายงานการค้นพบในอินเดีย ศรีลังกา เนปาล เวียดนาม ตะวันออกและทางใต้ของจีน ทางใต้ของญี่ปุ่น ไต้หวัน มะละกา ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย (เพนนินซูลา) อินโดนีเซีย (สุมาตรา, จาวา, ซูลาเวซี) และไทย เป็นต้น [1]

บทนำ[แก้]

ชีววิทยาและความสำคัญทางเศรษฐกิจ[แก้]

ตัวเต็มวัยมีลักษณะของส่วนหัวเรียว ลำตัวอ้วน และเรียวแหลมไปทางด้านท้อง ปีกคู่หน้ายาวแคบ พื้นปีกเป็นสีน้ำตาลพาดด้วยแถบเฉียงสีเขียวที่มีเส้นขอบสีดำหนาด้านบนบริเวณปลายปีก โดยมีปีกคู่หลังเล็กและสั้นกว่าปีกคู่หน้า ส่วนของปลายปีกกว้าง พื้นปีกเป็นสีน้ำตาล ในระยะตัวหนอนมี 5 ระยะ แบ่งได้เป็น 2 รูปแบบ เริ่มแรกลำตัวมีสีเขียว พบรอยแต้มบริเวณด้านข้างคล้ายดวงตา (eyes- spots) ตั้งแต่ปล้องที่ 2-5 และมีส่วนของรยางค์ที่ยืนออกมาจากปล้องท้องส่วนท้ายคล้ายส่วนหาง (tail horn) ต่อมาเมื่อพัฒนา จนเข้าสู่ปลายระยะที่ 5 ตัวหนอนจะมีสีน้ำตาลแดง รอยแต้มบริเวณด้านข้างคล้ายดวงตามีขนาดใหญ่ขึ้น ส่วนของรยางค์ส่วนท้ายหดสั้น และกินอาหารปริมาณน้อยลง เพื่อเตรียมตัวเข้าสู่ระยะดักแด้ (pupation) ผีเสื้อเหยี่ยวบอนเขียว ศัตรูพืชที่สำคัญทางเศรษฐกิจ เนื่องจากในระยะตัวหนอน มีพืชอาหารที่หลากหลาย ได้แก่ พืชวงศ์บอน (Araceae) เช่น สกุล Alocasia Amorphophallus Arisaem, Caladium, Colocasia, Dieffenbachia วงศ์ต้นส้มกุ้ง (Begoniaceae) เช่น สกุล Begonia วงศ์ผักปลาบ (Commelinaceae) เช่น สกุล Commelina วงศ์กะตังใบ (Leeaceae) สกุล Leea, Cissus รวมถึงวงศ์องุ่น (Vitidaceae) เช่น สกุล Vitis เป็นต้น [2]

ความสัมพันธ์เชิงวิวัฒนาการของผีเสื้อเหยี่ยวบอนเขียวและญาติ[แก้]

ผีเสื้อในวงศ์ผีเหยี่ยวหรือผีเสื้อกะโหลก จากการศึกษาความสัมพันธ์ทางวิวัฒนาการของวงศ์ใหญ่ (Superfamilies) ที่อยู่ในชั้นย่อย (Subclass) Tineoidea โดยการวิเคราะห์ด้วยยีน degen 1 จาก 123 หน่วยสิ่งมีชีวิต พบว่า วงศ์ใหญ่ Bombycoidea แสดงค่า bootstrap values ≥50% ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ทางวิวัฒนาการในวงศ์ใหญ่นี้ค่อนข้างน่าเชื่อถือ [3] และจากสายสัมพันธ์ทางวิวัฒนาการ (Phylogenetic tree) Bombycoidea [4] พบว่าผีเสื้อในวงศ์ผีเสื้อเหยี่ยวหรือผีเสื้อกะโหลก (Sphingidae) เป็น sister groups กับผีเสื้อในวงศ์ผีเสื้อยักษ์ (Saturniidae) และ ผีเสื้อในวงศ์หนอนไหม (Bombycidae) ซึ่งวงศ์ผีเสื้อเหยี่ยวประกอบไปด้วย 3 อนุวงศ์ (Supfamilies) หนึ่งในนั้นคือ อนุวงศ์ Macroglossinae มีสมาชิกทั้งหมด 28 สกุล (genera) จำแนกออกจากกันโดยใช้ลักษณะทางสัณฐานวิทยา (Morphology) โดย สกุล Pergera มีสมาชิกที่พบในประเทศไทยเพียงชนิดเดียวเท่านั้น คือ Pergesa acteus (Cramer, 1779) ซึ่งสกุลดังกล่าวมีลักษณะที่แตกต่างจากสกุลอื่นๆในอนุวงศ์นี้คือ ในระยะดักแด้ จะปรากฏลักษณะของส่วนคล้ายท่อกลวงยาวบริเวณส่วนหน้า รูปคล้ายทรงเหยือกน้ำ “jug-handle” ซึ่งเป็นที่อยู่ของส่วนที่จะพัฒนาไปเป็นแผ่นรยางค์ปาก (proboscis sheath) [5]

การปรับตัวเชิงวิวัฒนาการของผีเสื้อเหยี่ยวบอนเขียว[แก้]

การพรางตัว (camouflage)[แก้]
การพรางตัว (camouflage)

การพรางตัว (camouflage) ตัวหนอนช่วงปลายระยะที่ 5 ก่อนเข้าสู่ระยะดักแด้ มีสีน้ำตาลแดง จะมีลักษณะภายนอกและสีที่คล้ายคลึงกับพืชอาหาร เช่น พืชในสกุลใบส้มกุ้ง(Begonia) ดังแสดงในภาพ ซึ่งปฏิสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นระหว่างพืชอาหารและหนอนผีเสื้อ ส่งผลให้ตัวหนอนสามารถหลบหลีกสัตว์ผู้ล่า และ เพิ่มโอกาสการอยู่รอดในธรรมชาติมากยิ่งขึ้น [6]

การเลียนแบบ (mimicry)[แก้]
การเลียนแบบ (mimicry)

การเลียนแบบ (mimicry) เพื่อป้องกันตัวจากสัตว์ผู้ล่า โดยอาศัยหลักการ เลียนรูปร่างหรือลักษณะของสิ่งมีชีวิตต้นแบบ (model) ซึ่งมักจะเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีอันตราย หรือมีรสชาติที่ไม่พึงประสงค์สำหรับสัตว์ผู้ล่า [7]กรณีหนอนผีเสื้อเหยี่ยวบอนเขียว จะมีลักษณะของแต้มที่คล้ายคลึงกับดวงตา (eyes- spots) ทำให้สัตว์ผู้ล่าเข้าใจว่าอาจเป็นดวงตาของผู้ล่าอื่นๆ เช่น งู นก อีกทั้งบริเวณแต้มดังกล่าวยังลวงสัตว์ผู้ล่าให้เข้าใจว่าเป็นส่วนหัว เป็นต้น อย่างไรก็ตามหนอนผีเสื้อหลายกลุ่มมีการปรากฏลักษณะดังกล่าวเช่นเดียวกัน ซึ่งเป็นลักษณะที่คล้ายคลึงกันโดยบังเอิญ ไม่ใช่ลักษณะที่ร่วมกันทางสายวิวัฒนาการ (convergence evolution) เนื่องด้วยข้อจำกัดทางสภาพแวดล้อมที่ใกล้เคียงกัน หรืออาจมีสัตว์ผู้ล่าร่วมกัน เป็นต้น [8]

การมีอวัยวะรับคลื่นเสียง (tympanum)[แก้]

การมีอวัยวะรับคลื่นเสียงที่มีประสิทธิภาพของผีเสื้อเหยี่ยวบอนเขียว ในการรับสัญญาณคลื่นเสียงที่มีความถี่อยู่ในช่วง 30- 50 dB ซึ่งตั้งอยู่บริเวณฐานของรยางค์ปาก จากหลักฐานทางฟอสซิล เชื่อว่ามีการพัฒนาของอวัยวะรับคลื่นเสียงของแมลงกลุ่มต่างๆ ในช่วง 65- 80 ล้านปีที่แล้ว ใกล้เคียงกับช่วงเวลาที่มีการพัฒนาระบบการเคลื่อนที่ของค้างคาวโดยใช้เสียง (echolocation) ชี้ให้เห็นว่า มีการวิวัฒนาการร่วมกันระหว่างเหยื่อและผู้ล่าในเส้นทางสายวิวัฒนาการเกิดขึ้น ซึ่งการแข่งขันระหว่างกลุ่มสิ่งมีชีวิต (arm race) เพื่อเพิ่มโอกาสในการอยู่รอดของเผ่าพันธุ์มากที่สุด โดยหลักการ คือ ขณะเคลื่อนที่ค้างคาวจะส่งสัญญาณคลื่นเสียงที่มีความถี่ (ระดับ ultrasonic) ออกไป เมื่อคลื่นเสียงตกกระทบกับวัตถุ จะสะท้อนกลับยังอวัยวะรับเสียงของค้างคาว จึงทำให้รับทราบถึงขนาดและ ตำแหน่งของเหยื่อ ขณะเดียวกันผีเสื้อเหยี่ยวบอนเขียวสามารถตรวจจับสัญญาณดังกล่าว และหลบหลีกได้ทัน ก็สามารถอยู่รอดได้ เป็นต้น [9] นอกจากนี้ค้างคาวยังมีการสามารถพัฒนา วิธีดักฟังเสียงของเหยื่อ (passive acoustics) เช่น เสียงจากการกระพือปีกของแมลง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการล่าเหยื่อมากขึ้น

อ้างอิง[แก้]

  1. The moths of Borneo, (1998). http://www.mothsofborneo.com/part-3/sphingidae/sphingidae_31_1.php
  2. Pittaway& Kitching, (2009). Sphingidae of the Eastern Palaearctic  : http://tpittaway.tripod.com/china/p_act.htm
  3. . Regierhttp,C.J. et al., (2010) A Large-Scale, Higher-Level, Molecular Phylogenetic Study of the Insect Order Lepidoptera (Moths and Butterflies)://www.plosone.org/article/info%3Adoi%2F10.1371%2Fjournal.pone.0058568
  4. Tree of life web project, (2010). http://tolweb.org/Bombycoidea/12037 เก็บถาวร 2014-04-25 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  5. Leong, M.T. and Rozario, D.V., (2009). Larval development and metamorphosis of the hawkmoth, pergesa acteus (Cramer) in Singapore (lepidoptera:Sphingidae: Macroglossinae) Nature in Singapore, 2009 2: 329–338. http://rmbr.nus.edu.sg/nis/bulletin2009/2009nis329-338.pdf เก็บถาวร 2012-08-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  6. นันทศักดิ์ ปิ่นแก้ว, 2551,ชีวิตและวิวัฒนาการ กับความหลากหลายทางชีวภาพในประเทศไทย: การพรางตัว (Camouflage) และ การเลียนแบบ (Mimicry). วารสารโครงการพัฒนาองค์ความรู้และศึกษานโยบายการจัดการทรัพยากรชีวภาพใน ประเทศไทย (BRT). http://www.biotec.or.th/brt/images/stories/camouflage.pdf[ลิงก์เสีย]
  7. นันทศักดิ์ ปิ่นแก้ว, 2551,ชีวิตและวิวัฒนาการ กับความหลากหลายทางชีวภาพในประเทศไทย: การพรางตัว (Camouflage) และ การเลียนแบบ (Mimicry). วารสารโครงการพัฒนาองค์ความรู้และศึกษานโยบายการจัดการทรัพยากรชีวภาพใน ประเทศไทย (BRT). http://www.biotec.or.th/brt/images/stories/camouflage.pdf[ลิงก์เสีย]
  8. Janzena, H.D., Hallwachsa, W. and Burnsb, M.J., (2011). A tropical horde of counterfeit predator eyes. Proceedings of National Academy of Sciences of the United States of America, 2010 26: 1-7. http://entomology.si.edu/staffpages/Burns/2010_PNAS_Janzen-etal_eyes.pdf
  9. YAGER, D.D. (2009). Structure, Development, and Evolution of Insect Auditory Systems.Microscopy Research and Technique, 1999 47:380–400. http://www.mantislab.com/398.pdf