ปราสาทชูริ

พิกัด: 26°13′1.31″N 127°43′10.11″E / 26.2170306°N 127.7194750°E / 26.2170306; 127.7194750
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ปราสาทชุริ)
อาคารหลักของปราสาทชูริ
ประตูชูเร
แผนที่
แผนที่
แผนที่
แผนที่

ปราสาทชูริ (ญี่ปุ่น: 首里城โรมาจิShuri-jō; อังกฤษ: Shuri Castle) เป็นปราสาทแบบรีวกีว ตั้งอยู่ในเขตชูริ จังหวัดโอกินาวะ เคยเป็นพระราชวังในสมัยอาณาจักรรีวกีว เมื่อปี พ.ศ. 2488 ระหว่างยุทธการที่โอกินาวะ ปราสาทถูกทำลายเกือบทั้งหมด เหลือเพียงกำแพงไม่กี่ส่วนโผล่พ้นเหนือพื้นดินเพียง 20-30 เซนติเมตร จนกระทั่งปี พ.ศ. 2535 ได้มีการก่อสร้างปราสาทขึ้นใหม่ให้มีลักษณะเดิมโดยอ้างอิงจากภาพถ่าย บันทึกทางประวัติศาสตร์ และความทรงจำของผู้อาศัยอยู่แถบนั้น อย่างไรก็ตาม เมื่อเช้ามืดวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2562 เกิดเหตุเพลิงไหม้ตัวอาคารหลักและอาคารอีกจำนวนหนึ่งเสียหายอย่างหนัก

ประวัติ[แก้]

ช่วงเวลาที่เริ่มสร้างปราสาทนั้นไม่ปรากฏแน่ชัด แต่เป็นที่ทราบแน่นอนว่าได้ถูกใช้เป็นที่พำนักในยุคซันซัง ประมาณกันว่าน่าจะถูกสร้างในระหว่างยุคกูซูกุ เช่นเดียวกับปราสาทอื่น ๆ ในโอกินาวะ เมื่อกษัตริย์โช ฮาชิได้รวบรวมดินแดนทั้ง 3 แห่งของโอกินาวะและสถาปนาอาณาจักรรีวกีว ได้ทรงใช้ปราสาทชูริเป็นที่ประทับ และในช่วงเวลาเดียวกันนี้ เมืองชูริได้เจริญรุ่งเรืองมากขึ้นจนได้รับการยกฐานะเป็นเมืองหลวง

ต่อมาอีก 450 ปีหลังจากเริ่มต้นคริสต์ศตวรรษที่ 15 เมืองชูริกลายเป็นศูนย์กลางทางการปกครองของอาณาจักรรีวกีว และยังเป็นหัวใจหลักทางด้านการค้ากับต่างประเทศ การเมือง การศึกษา และวัฒนธรรมของรีวกีว

แผนผังตัวปราสาท : 1: Seiden; 2: Hokuden; 3: Nanden; 4: Houshinmon; 5: Bandokoro; A: Shureimon; B: Kankaimon; C: Zuisenmon; D: Roukokumon; E: Koufukumon; F: Kyukeimon; G: Uekimon; H: Kobikimon

ตามบันทึกทางประวัติศาสตร์ ปราสาทชูริเกิดเพลิงไหม้หลายครั้ง แต่ก็มีการก่อสร้างขึ้นใหม่ทุกครั้ง ก่อนที่จะเกิดยุทธการที่โอกินาวะ ปราสาทได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสมบัติประจำชาติ แต่ในระหว่างสงคราม กองทัพญี่ปุ่นได้สร้างฐานบัญชาการขึ้นที่ใต้ดินของปราสาท และเริ่มใช้งานในวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2488 เรือมิสซูรีซึ่งเป็นเรือรบอเมริกัน ได้ร่วมกับเรือรบลำอื่น ๆ ระดมยิงปราสาทและฐานทัพเป็นเวลา 3 วัน จนปราสาทถูกเผาทำลายในวันที่ 27 พฤษภาคม

หลังจากสงครามสงบลง มหาวิทยาลัยรีวกีวได้ย้ายสถานที่มายังบริเวณปราสาท

ในปี พ.ศ. 2501 ประตูชูเรของปราสาทได้รับการสร้างขึ้นใหม่ และตามมาด้วยอาคารหลักในปี พ.ศ. 2535 ปัจจุบันนี้ พื้นที่รอบปราสาททั้งหมดได้รับการจัดให้เป็นสวนสาธารณะชื่อว่า Shuri Castle Park และในปี พ.ศ. 2543 ปราสาทนี้ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกร่วมกับโบราณสถานอื่น ๆ ในโอกินาวะภายใต้ชื่อ "แหล่งกูซูกุและทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องของอาณาจักรรีวกีว" อีกด้วย

เหตุการณ์ไฟไหม้ปราสาท พ.ศ. 2562[แก้]

ตามรายงานข่าว[1] เหตุไฟไหม้เกิดขึ้นช่วงเวลาประมาณ 01:30 น. ตามเวลาท้องถิ่นของวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2562 ก่อนที่จะมีสัญญาณเสียงเตือนไฟไหม้ต่อมาในเวลา 02:30 น. และเจ้าหน้าที่ดับเพลิงเดินทางมาถึง 02:40 น. ไม่มีปรากฏว่ามีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต รายงานเบื้องต้นพบว่ามีอาคารที่ได้รับความเสียหายโดยสมบูรณ์ถึง 4 หลัง ได้แก่ Seiden Hokuden Nanden Bandokoro และมีอาคาร Houshinmon ที่ได้รับความเสียหายปานกลางอีก 1 หลัง[2] สำหรับความเสียหายอื่น ๆ อยู่ระหว่างการตรวจสอบ

สถานที่สำคัญบริเวณปราสาท[แก้]

เนื่องด้วยปราสาทชูริมีความบทบาทในแง่ของการเป็นศูนย์กลางทางการปกครองและศาสนา บริเวณปราสาทจึงมีสถานที่และโบราณวัตถุที่สำคัญมากมาย มีจุดเด่นคือ ประตูชูเร ซึ่งเป็นประตูหลักของปราสาท และ Tamaudun สุสานหลวงที่ตั้งอยู่ถัดจากปราสาทชูริ

ประตูหินที่ศาลเจ้าโซโนเฮียง[แก้]

ประตูหินที่ศาลเจ้าโซโนเฮียง
ปราสาทชูริ
ชื่อภาษาญี่ปุ่น
คันจิ首里城
ฮิรางานะしゅりじょう
การถอดเสียง
โรมาจิShuri-jō

ประตูหินนี้ตั้งอยู่ทางด้านซ้ายของประตูชูเร สร้างขึ้นในปี 1519 โดยกษัตริย์โชชิน กษัตริย์พระองค์ที่สามแห่งราชวงศ์โชที่สอง ที่ศาลเจ้าโซโนเฮียง นี้ กษัตริย์จะทรงสวดภาวนาเพื่อความปลอดภัยในการออกเดินทางทุกครั้ง ประตูหินนี้สะท้อนให้เห็นถึงความชำนาญในการแกะสลักหินปูนของช่างในสมัยอาณาจักรรีวกีว จนได้รับการยกย่องให้เป็นสมบัติทางวัฒนธรรมประจำชาติ และได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก โดยแยกรายชื่อจากปราสาทชูริ

อุทยานหลวงชิกินะ[แก้]

สร้างขึ้นในปี 1799 ทั้งอุทยานหลวงและตำหนักที่ตั้งอยู่บริเวณเดียวกัน ไม่ได้เป็นเพียงสถานที่พักผ่อนของเหล่าเชื้อพระวงศ์เท่านั้น แต่ยังเป็นสถานที่ต้อนรับทูตานุทูตจากจีนอีกด้วย โครงร่างรูปวงกลมของอุทยานมีความคล้ายคลึงกับสวนแบบญี่ปุ่นสมัยใหม่ แต่ตัวตำหนักซึ่งมุงด้วยกระเบื้องสีแดงมีเอกลักษณ์ของศิลปะแบบรีวกีวแท้ ส่วนสระน้ำและสะพานข้ามไปสู่เกาะเล็ก ๆ กลางน้ำได้รับการจัดด้วยศิลปะแบบจีน อุทยานแห่งนี้เป็นแบบอย่างของการจัดสวนแบบรีวกีวที่หาได้ยากยิ่งและมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ จึงได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกโลกพร้อมกับปราสาทชูริ

อ้างอิง[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

26°13′1.31″N 127°43′10.11″E / 26.2170306°N 127.7194750°E / 26.2170306; 127.7194750

  1. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-11-01. สืบค้นเมื่อ 2019-10-31.
  2. https://www.youtube.com/watch?v=J00CH5G8fZM