ปฏิบัติการโบรเคนทรัสต์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ปฏิบัติการโบรเคนทรัสต์ (อังกฤษ: Operation Broken Trust) เป็นการกวาดล้างการฉ้อโกงหลักทรัพย์ครั้งใหญ่ที่สุดโดยรัฐบาลกลางสหรัฐอเมริกา ดำเนินการระหว่างวันที่ 16 สิงหาคม และ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2553[1] จุดประสงค์ของปฏิบัติการได้ระบุไว้ว่า เพื่อ "ทำลายและเปิดโปง" การฉ้อโกงด้านการลงทุนในสหรัฐและเพื่อให้ความรู้แก่สาธารณะ[1] มีการประกาศว่าปฏิบัติการดังกล่าวเกี่ยวข้องกับคดีอาญา 343 คดี ซึ่งมีมูลค่าความเสียหายรวมคิดเป็นกว่า 8.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และคดีแพ่ง 189 คดี ซึ่งมีมูลค่าความเสียหายกว่า 2.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ[2] มีเหยื่อมากกว่า 120,000 คน ได้รับผลกระทบ[3]

คณะทำงานเฉพาะกิจ[แก้]

คณะทำงานระหว่างหน่วยงานได้รับการจัดตั้งขึ้นโดยประธานาธิบดีบารัก โอบามา ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2552 และเกี่ยวข้องกับหน่วยงานของรัฐหลายหน่วยงาน ระหว่างการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2553 ซึ่งมีหลายหน่วยงานเกี่ยวข้องด้วย อาทิ อัยการสูงสุด อีริก โฮลเดอร์ เป็นตัวแทนของกระทรวงยุติธรรมสหรัฐ ผู้ช่วยผู้อำนวยการบริหารสำนักงานสอบสวนกลางแห่งสหรัฐอเมริกา (เอฟบีไอ) ชอว์น เฮนรี ผู้อำนวยการฝ่ายบังคับคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (เอสอีซี) สหรัฐ โรเบิร์ต คูซามิ หัวหน้าผู้ตรวจการไปรษณีย์หน่วยพินิจไปรษณียภัณฑ์แห่งสหรัฐอเมริกา (USPIS) กาย คอทเทรลล์ รองหัวหน้าการสืบสวนคดีอาญา กรมสรรพากร (IRS-CI) ริก เรเวน และรักษาการผู้อำนวยการฝ้ายบังคับคณะกรรมการกำกับดูแลตลาดอนุพันธ์สหรัฐ (CFTC) วินซ์ แมกโกนาเกิล[3] หน่วยงานอื่นที่เข้าร่วมด้วยได้แก่ หน่วยตำรวจลับสหรัฐ และสมาคมอัยการสูงสุดแห่งชาติ

ขอบเขตการสืบสวน[แก้]

วันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2553 คณะทำงานเฉพาะกิจได้แถลงต่อสาธารณะว่าคณะทำงานได้ตรวจสอบการฉ้อโกงที่มีเป้าหมายไปยังนักลงทุนรายบุคคล ไม่ใช่ประเด็นการฉ้อโกงบริษัทที่ซับซ้อน ในแต่ละคดี นักลงทุนรายบุคคลมักจะให้เงินกับบุคคลอื่น ๆ ที่นำเสนอ "โอกาสทางการลงทุน" โดยสัญญาว่าจะให้ผลตอบแทนที่สูงกว่า การลงทุนเหล่านี้เป็นสิ่งโกหกหรือแตกต่างไปจากที่อ้างไว้ และมักจะเกี่ยวข้องกับพอนซีสคีม ผู้ฉ้อโกงดังกล่าวยังรวมไปถึงการฉ้อโกงในโภคภัณฑ์ อสังหาริมทรัพย์ เงินตราระหว่างประเทศ โอกาสทางธุรกิจ และการสร้างราคาหลักทรัพย์[1] คูซามิอธิบายว่า "การฉ้อโกงโดยบริษัทที่เป็นที่รู้จักกันดีหรือผู้บริหารที่เป็นที่รู้จักของประชาชนจะมีพาดหัวข่าวตัวใหญ่ ในขณะที่ผู้ฉ้อโกงรายอื่น ๆ กลับสร้างความเสียหายในระดับที่เท่ากันแก่ครอบครัวที่ทำมาหากินและผู้เกษียณ" และเน้นเป็นพิเศษว่าการบังคับใช้กฎหมายจะ "ติดตามการฉ้อโกงในทุกรูปแบบ"[3]

จนถึงวันที่ 6 ธันวาคม จำเลย 87 คนได้รับโทษจำคุกซึ่งในบางคดีมีโทษจำคุกสูงถึง 20 ปี[3]

ตามข้อมูลของเดอะนิวยอร์กไทมส์ ปฏิบัติการโบรเคนทรัสต์รวมไปถึงคดีที่มีการสืบสวนแล้วระหว่างการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดีบุช และก่อนหน้าการก่อตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจดังกล่าว และมีหลายคดีที่กำลังอยู่ในระหว่างขั้นตอนก่อนหน้าการกวาดล้างจะเริ่มขึ้น[4] นอกจากนี้ การผสมคดีอาญาและคดีแพ่งยังอาจนำไปสู่การทับซ้อนและการนับจำนวนจำเลย เหยื่อ และความเสียหายเกินไปได้[4]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 Federal Bureau of Investigation (December 6, 2010). "Operation Broken Trust". สืบค้นเมื่อ December 7, 2010.
  2. Yost, Pete (December 6, 2010). "'Operation Broken Trust' Targets Financial Fraud". The Washington Post. สืบค้นเมื่อ December 17, 2010.[ลิงก์เสีย]
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 John Carney (December 6, 2010). "Operation Broken Trust: Over 500 Charged in $10.4 Billion Investment Fraud Sweep". CNBC. สืบค้นเมื่อ December 7, 2010.
  4. 4.0 4.1 Wyatt, Edward (December 8, 2010). "U.S. Counts Big Results in Fighting Fraud Cases". The New York Times. สืบค้นเมื่อ December 18, 2010.