นักสำรวจปิโตรเลียม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

นักสำรวจปิโตรเลียม (Petroleum Explorer) เป็นสายอาชีพที่ดำเนินงานเกี่ยวกับการสำรวจ ผลิต และพัฒนาแหล่งปิโตรเลียม ซึ่งเป็นทรัพยากรธรรมชาติใต้ดินที่มีคุณค่าและมีการนำใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวางในปัจจุบัน โดยทั่วไปคำว่า นักสำรวจปิโตรเลียม เป็นการกล่าวรวมถึงนักวิทยาศาสตร์ใน 3 สาขา ได้แก่ นักธรณีวิทยาปิโตรเลียม(Petroleum Geologist) นักธรณีฟิสิกส์ปิโตรเลียม(Petroleum Geophysicist) และวิศวกรปิโตรเลียม (Petroleum Engineer) ซึ่งจะต้องทำงานร่วมกันเป็นลำดับขั้นตอน เพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพยากรปิโตรเลียมที่อยู่ใต้ดิน

นักธรณีวิทยาปิโตรเลียม(Petroleum Geologist)[แก้]

นักธรณีวิทยาเป็นบุคลากรที่มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับการสำรวจหาและช่วยพัฒนาแหล่งกักเก็บปิโตรเลียม การสำรวจหาปิโตรเลียมในขั้นตอนของนักธรณีวิทยาจะเริ่มตั้งแต่พิจารณาคัดเลือกพื้นที่ที่คาดว่าจะมีศักยภาพของทรัพยากรปิโตรเลียม ร่วมมือกับนักธรณีฟิสิกส์ในการจัดทำแผนที่ใต้ผิวดินเพื่อแสดงตำแหน่งโครงสร้างแหล่งกักเก็บต่างๆ เช่น โครงสร้างรูปโค้งประทุนคว่ำหรือรูปโดมที่คาดว่าจะมีทรัพยากรน้ำมันและก๊าซกักเก็บอยู่ภายใน กำหนดตำแหน่งและแนวทางของหลุมเจาะ ศึกษาชั้นหินและตรวจสอบคุณสมบัติของหินที่ได้จากหลุมเจาะสำรวจต่าง ๆ นอกจากนี้นักธรณีวิทยาจะนำข้อมูลที่ได้จากหลุมเจาะสำรวจต่าง ๆ มาประกอบกับข้อมูลการวัดความไหวสะเทือนเพื่อจัดทำแผนที่ของชั้นหินกักเก็บปิโตรเลียมใต้พื้นดิน โดยการเปรียบเทียบและจับคู่ของชั้นหินระหว่างหลุมสำรวจต่าง ๆ ที่มีคุณลักษณะเหมือนกันแล้วนำมาวาดเป็นภาพตัดขวางของชั้นหินให้ผิวดินเพื่อหาชั้นหินซึ่งเป็นโครงสร้างปิดกั้น (Trap)

เพื่อปฏิบัติภารกิจดังกล่าว นักธรณีวิทยาจึงต้องศึกษาเกี่ยวกับลักษณะที่ตั้งทางธรณีวิทยาและประวัติของการกำเนิดและการเปลี่ยนแปลงของเปลือกโลก ต้องสามารถแจกแจงและตรวจสอบชนิดของหินได้ ศึกษาข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม ภาพถ่ายทางอากาศ สำรวจและจัดทำแผนที่ธรณีวิทยา แผนที่โครงสร้างและแหล่งปิโตรเลียม วิเคราะห์ข้อมูลที่เก็บได้จากการศึกษาค่าความไหวสะเทือน (Seismic) และใช้เครื่องมือเพื่อตรวจวัดค่าความโน้มถ่วงของโลก และค่าความเข้มสนามแม่เหล็กได้

นักธรณีฟิสิกส์ปิโตรเลียม(Petroleum Geophysicist) [แก้]

วิชาทางด้านธรณีฟิสิกส์และธรณีวิทยามีความเกี่ยวพันกันค่อนข้างใกล้ชิด และบ่อยครั้งที่นักธรณีฟิสิกส์ต้องทำงานใกล้ชิดกับนักธรณีวิทยา การทำงานของนักธรณีฟิสิกส์จะใช้พื้นฐานความรู้ทางด้านฟิสิกส์ คณิตศาสตร์ และเคมีในการศึกษา โดยพิจารณาคุณสมบัติของชั้นหินบนผิวโลกและองค์ประกอบต่าง ๆ ภายในของผิวโลก นอกจากนี้ยังมีการศึกษาเรื่องของน้ำใต้ดิน, สภาพชั้นบรรยากาศที่ปกคลุมโลก, มหาสมุทร และคุณสมบัติของสนามแม่เหล็ก สนามไฟฟ้าและความโน้มถ่วงของโลกด้วย นักธรณีฟิสิกส์จะใช้ 3 วิธีการในการสำรวจหาน้ำมัน นั่นคือ วิธีการวัดค่าความเข้มสนามแม่เหล็ก (Magnetic Survey) การวัดค่าความโน้มถ่วงของโลก (Gravity Survey) การวัดค่าความไหวสะเทือน (Seismic Survey)

ในการสำรวจโดยวิธีการวัดค่าความเข้มสนามแม่เหล็กนั้น นักธรณีฟิสิกส์จะใช้เครื่องมือวัดค่าความเข้มสนามแม่เหล็ก (Magnetometer) เพื่อคำนวณค่าความเข้มของสนามแม่เหล็กโลก ณ จุดที่ทำการสำรวจบนพื้นผิวโลก สำหรับการสำรวจโดยวิธีการการวัดค่าความโน้มถ่วงของโลก นั้นจะใช้เครื่องมือวัดค่าความโน้มถ่วงของโลก (Gravity Meter/ Gravimeter) ช่วยในการคำนวณวัดค่าความโน้มถ่วงโลก ณ บริเวณที่ทำการสำรวจ โดยเครื่องมือทั้ง 2 ประเภทที่กล่าวมาแล้ว จะถูกใช้ในการสำรวจหาลักษณะ ขนาด ความลึก และขอบเขตโดยประมาณของแอ่งสะสมตะกอนและโครงสร้างชั้นหินที่ซ่อนอยู่ใต้พื้นดิน สำหรับการสำรวจโดยวิธีการวัดค่าความไหวสะเทือนนั้น จะเป็นการส่งคลื่นเสียงไปใต้พื้นดินโดยการจุดระเบิด หรือการกระแทกบนพื้นดิน ซึ่งคลื่นความสั่นสะเทือนที่ถูกส่งผ่านลงไปใต้ผิวดินจะสะท้อนกลับจากชั้นหินใต้พื้นดินมายังผิวโลก ในลักษณะของคลื่นสะท้อนกลับ และจะเข้าสู่เครื่องรับสัญญาณและถูกบันทึกโดยเครื่องมือซึ่งเรียกว่า geophone ซึ่งข้อมูลที่บันทึกไว้จะถูกนำไปประมวลผลจนสามารถแสดงผลออกมาในลักษณะของรูปภาพแสดงถึงตำแหน่งและรูปร่างลักษณะโครงสร้างของชั้นหินเบื้องล่างได้

ธรณีฟิสิกส์นับเป็นแนวหน้าของสาขาวิชาชีพที่มีการพัฒนาทางด้านวิชาการมากที่สุดในรอบทศวรรษที่ผ่านมา เทคนิคการวัดคลื่นความไหวสะเทือนแบบ 3 มิติ (3D Seismic) เป็นวิธีการที่ใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ระดับสูงเข้ามาช่วยในการพัฒนารูปแบบโครงสร้างใต้ผิวดินแบบ 3 มิติ ซึ่งช่วยเพิ่มความสามารถในการบ่งชี้บริเวณที่คาดว่าจะเป็นแหล่งสะสมตัวของปิโตรเลียมได้อย่างแม่นยำมากยิ่งขึ้น รูปแบบโครงสร้างใต้ผิวดินแบบ 3 มิติที่ได้จากการวัดคลื่นความไหวสะเทือน บางครั้งสามารถแสดงภาพเสมือนจริงขนาดใหญ่ได้ในโรงฉายโดยจะเป็นภาพเสมือนกับว่าเรากำลังยืนอยู่ในแหล่งปิโตรเลียมใต้พื้นผิวโลก

วิศวกรปิโตรเลียม (Petroleum Engineer)[แก้]

วิศวกรปิโตรเลียมเป็นผู้ที่มีหน้าที่ในการสำรวจหาและ/หรือออกแบบวิธีการที่จะผลิตน้ำมันดิบหรือก๊าซธรรมชาติจากแหล่งปิโตรเลียมที่สำรวจพบ นั่นคือหากมีการสำรวจพบชั้นหินกักเก็บปิโตรเลียมที่มีศักยภาพเพียงพอที่จะผลิตได้ ก็จะเป็นหน้าที่ของวิศวกรที่จะพิจารณาและพัฒนาหาวิธีการผลิตที่มีประสิทธิภาพสูงสุดเพื่อให้สามารถผลิตปิโตรเลียมได้ในปริมาณที่ให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าที่สุดต่อเงินลงทุนมหาศาลที่ลงทุนไป

เนื่องจากในความเป็นจริงน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติที่ถูกกักเก็บอยู่ในชั้นหินกักเก็บปิโตรเลียม มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่จะสามารถผลิตได้โดยแรงดันตามธรรมชาติ ดังนั้นเพื่อให้สามารถนำปิโตรเลียมที่มีสะสมอยู่ใต้พื้นดินขึ้นมาใช้ประโยชน์ได้มากที่สุด วิศวกรปิโตรเลียมจึงต้องพัฒนาและใช้วิธีการที่หลากหลายเพื่อเพิ่มปริมาณการผลิต ซึ่งวิธีการหลากหลายดังกล่าวที่มีการพัฒนามาใช้แล้วโดยวิศวกรปิโตรเลียม ได้แก่ การสูบอัดน้ำ/สารเคมี/ไอน้ำเข้าไปในชั้นหินกักเก็บปิโตรเลียมใต้พื้นดินเพื่อเพิ่มแรงดันในชั้นหินให้น้ำมันไหลออกมา นอกจากนี้การขุดเจาะตามแนวนอน หรือการสร้างรอยแตกในชั้นหินเพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงในชั้นหินกักเก็บปิโตรเลียมเป็นบริเวณกว้างยิ่งขึ้น เพื่อให้การใช้ประโยชน์หลุมผลิตเป็นไปอย่างคุ้มค่าที่สุด ก็เป็นวิธีการหนึ่งที่พัฒนาและออกแบบโดยวิศวกรปิโตรเลียมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต

อย่างไรก็ดี แม้ว่าวิศวกรปิโตรเลียมจะใช้วิธีการที่ดีที่สุดที่มีอยู่ในปัจจุบันแต่ก็ยังสามารถผลิตน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติจากชั้นหินกักเก็บปิโตรเลียมได้เพียงส่วนหนึ่งของปริมาณปิโตรเลียมที่สะสมอยู่ทั้งหมดเท่านั้น ดังนั้นวิศวกรปิโตรเลียมจึงยังต้องพัฒนาวิธีการใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มสัดส่วนการผลิตนี้ให้มากยิ่งขึ้น

ในสายงานของวิศวกรปิโตรเลียมเองก็ยังสามารถแบ่งออกได้เป็นสายงานเฉพาะทางอีก 3 สายงานหลัก ได้แก่

1. วิศวกรแหล่งกักเก็บ (Reservoir Engineer)

2. วิศวกรขุดเจาะ (Drilling Engineer)

3. วิศวกรการผลิต (Production Engineer; sub-surface)


เส้นทางก้าวเข้าสู่สายงานด้านปิโตรเลียม[แก้]

หากต้องการศึกษาในระดับอุดมศึกษาด้านปิโตรเลียม ในประเทศไทยมีหลายมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนทั้งในส่วนของธรณีวิทยา ธรณีฟิสิกส์ รวมทั้งวิศวกรปิโตรเลียม โดยมีรายละเอียดแยกตามสายอาชีพดังนี้

ด้านธรณีวิทยาปิโตรเลียม[แก้]

ภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

สาขาวิชาธรณีศาสตร์ ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เก็บถาวร 2010-10-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน

ด้านธรณีฟิสิกส์ปิโตรเลียม[แก้]

ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เก็บถาวร 2011-06-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน

ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เก็บถาวร 2010-07-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน

ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เก็บถาวร 2013-03-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน

ภาควิชาวิทยาศาสตร์พื้นพิภพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์[ลิงก์เสีย]

ด้านวิศวกรปิโตรเลียม[แก้]

สาขาวิศวกรรมปิโตรเลียม ภาควิชาวิศวกรรมเหมืองแร่และปิโตรเลียม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เก็บถาวร 2013-02-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน

สาขาวิชาเทคโนโลยีธรณี สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี

หน่วยงานด้านการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศไทย[แก้]

บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด

บริษัท เชฟรอนประเทศไทย จำกัด

ศูนย์พัฒนาปิโตรเลียมภาคเหนือ กรมการพลังงานทหาร เก็บถาวร 2011-06-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน

อ้างอิง[แก้]

เอกสารเผยแพร่วิชาการ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน

เอกสารเผยแพร่วิชาการ กรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ดูเพิ่ม[แก้]

กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน

กรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เก็บถาวร 2005-08-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน