ท้าวศรีสัจจา (มิ)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ท้าวศรีสัจจา (มิ) หรือเรียกกันว่า เจ้าคุณประตูดิน เป็นสตรีฝ่ายใน ได้ว่าราชการสิทธิขาดต่างพระเนตรพระกรรณในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ที่ทำงานของท่านอยู่ใกล้กับประตูดิน คอยดูแลคนเข้าออก ออกนั่งว่าการ (เช่น รับพวกขอเฝ้า เป็นต้น) เป็นที่เกรงขามของบรรดานางใน มีเรื่องเล่ากันว่าเมื่อประตูนี้เปิด จะมีหนุ่มรุ่นกระทงมาดักพบสตรีชาววัง เพื่อเกี้ยวพาราสี ทำให้เกิดสำนวนว่า "เจ้าชู้ประตูดิน"

สันนิษฐานกันว่า ท้าวศรีสัจจา (มิ) อาจเป็นคนเดียวกันกับท้าวศรีสัจจา (ลิ้ม) ที่ปรากฏชื่ออยู่ในราชินิกุลรัชกาลที่ 3 ซึ่งเป็นบุตรีของพระนมรอด พระนมรอดเป็นน้องสาวสุดท้องของพระชนนีเพ็ง หรือเป็นน้าของสมเด็จพระศรีสุลาลัย พระพันปีหลวงของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว[1]

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ทำรูปของท่านไว้ในคูหาใต้บันไดขึ้นพระที่นั่งบุษบกมาลามหาจักรพรรดิพิมานภายในพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ทำเป็นช่องเว้าเข้าไป ภายในช่องทำเป็นรูปปั้นนูนต่ำของท้าวศรีสัจจา (มิ)[2] โดยมีโขลน ชื่อ บัว และ ดี หมอบรับใช้อยู่ด้านข้าง[3] และมีโคลงที่เข้าใจว่าพระราชนิพนธ์โดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จารึกไว้อยู่บนรูปปั้นนูนต่ำนี้ ขึ้นต้นบาทว่า "แถลงลักษณรูปท้าว ศรีสัจ จาแฮ"[4] ในปัจจุบันโคลงพระราชนิพนธ์ลบเลือนไปแล้ว[5]

นอกจากนั้นยังมีเพลงสำหรับวงมโหรีหลวงฝ่ายใน มีเนื้อร้องเกี่ยวถึงเจ้าคุณประตูดินด้วยดังนี้[6]

เย็นย่ำ จะค่ำ ลงแล้วอยู่รอนรอน
สาวน้อยพากันจร ไปเก็บดอกแก้วเล่นเย็นเย็น
ที่เกยเราเคยเห็น เป็นพวงเป็นพู่ดูน่าชม
เก็บได้บ้างทัดหู บ้างเดินดูแล้วเด็ดดม
บ้างเก็บไว้ใส่ผ้าห่ม บ้างแซมผมสำ ราญใจ
โขลนคนหนึ่งจึงร้องห้าม ที่พวงงามงามอย่าเด็ดไป
ห้ามแล้วหาฟังไม่ จะไปเรียนเจ้าคุณประตูดิน

อ้างอิง[แก้]

  1. "ท้าวศรีสัจจา (มิ)".
  2. "หนังสือ "อัญมณีแห่งมหานคร" นิทรรศน์รัตนโกสินทร์" (PDF). p. 69.
  3. "สำรวจ "สตรี" ที่ได้รับพระราชทานเกียรติยศเป็นพิเศษในสมัยรัชกาลที่ 1-8". ศิลปวัฒนธรรม.
  4. ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา, 2405-2486 (2469). ประชุมเรื่องเบ็ดเตล็ด 3 เรื่อง คือ เรื่องการอำนวยพร เรื่องเทศกาลพระบาท อธิบายเรื่องเจ้าคุณประตูดิน. โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร.
  5. "พระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร". หน่วยราชการในพระองค์.
  6. ส. พลายน้อย. "เล่าเรื่องบางกอก ฉบับสมบูรณ์" (PDF). สำนักพิมพ์ก้าวหน้า. p. 88.