ทัศนศึกษา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ทัศนศึกษา เป็นกระบวนการเรียนการสอน/วิธีสอนที่ช่วยให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ตามวัตถุประสงค์ผ่านการเรียนรู้นอกห้องเรียน โดยผู้เรียนจะได้รับความรู้จากประสบการณ์ตรง การลงมือปฏิบัติจริง ซึ่งช่วยให้เกิดความเข้าใจและจดจำสิ่งที่ได้พบเห็นในเวลาอันรวดเร็วและเป็นเวลานาน และการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบนี้เป็นการใช้แหล่งการเรียนรู้ที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด[1] สำหรับในประเทศไทยนั้นได้แบ่งการจัดทัศนศึกษาออกเป็น 3 รูปแบบคือ การจัดทัศนศึกษาไม่ค้างคืน การจัดทัศนศึกษาแบบค้างคืนและการจัดทัศนศึกษาภายนอกราชอาณาจักร[2]

ครูพานักเรียนทัศนศึกษาในพิพิธภัณฑ์ลูฟ

สำหรับจุดประสงค์หลักในการจัดทัศนศึกษานั้นเพื่อให้นักเรียนได้มีโอกาสเรียนรู้ประสบการณ์นอกห้องเรียน ซึ่งหัวข้อในการเรียนรู้นั้นจะมีความหนักเบาไม่มากเท่ากับการเรียนในห้องเรียน นอกจากนี้แล้วยังมีจุดประสงค์แฝงเพื่อให้นักเรียนได้มีโอกาสรู้จักซึ่งกันและกัน ได้มีประสบการณ์ทางสังคมด้วย รวมทั้งได้มีโอกาสในการเรียนรู้ด้วยตนเองอีกด้วย ทั้งนี้รวมไปถึงการเกิดความตระหนักในตนเอง ทักษะกระบวนการการเรียนรู้เป็นกลุ่มและเกิดการเรียนรู้ในเรื่องราวของระบบนิเวศและสิ่งรอบตัวที่พบเห็นอีกด้วย อย่างไรก็ตามโรงเรียนจะไม่อนุญาตให้ไปทัศนศึกษาหากไปเพียงเฉพาะการท่องเที่ยวและไม่มีวัตถุประสงค์ในการเดินทาง[3] ทั้งนี้ยกเว้นแต่การไปทัศนศึกษาเพื่อฉลองการจบการศึกษาหรือนักเรียนเป็นผู้จัดการเดินทางด้วยตนเอง

อย่างไรก็ตามในการทัศนศึกษาบางครั้งมักมีค่าใช้จ่ายสูง เพื่อไม่ให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างกลุ่มคนรวยกับคนจน ทางโรงเรียนอาจจัดหาทุนการศึกษาเพิ่มเติมจากคณะกรรมการสถานศึกษาหรือสมาคมต่างๆของโรงเรียน หากไม่สามารถจัดหาทุนสำหรับการเดินทางภายในโรงเรียนได้ ทางโรงเรียนอาจจัดหาทุนจากภายนอก เช่น องค์กรในท้องถิ่นต่างๆ เป็นต้น เพื่อให้นักเรียนได้มีโอกาสไปทัศนศึกษา ซึ่งกรณีนี้จะเกิดขึ้นเฉพาะทั้งห้องเรียนจำเป็นต้องไปทัศนศึกษา

อ้างอิง[แก้]

  1. ทิศนา แขมมณี,ศาสตร์การสอน: องค์ความรู้เพื่อการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ, (กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,2545),342
  2. "ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการพานักเรียนและนักศึกษาไปนอกสถานศึกษา พ.ศ. 2548" (PDF). 8 December 2013. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2012-10-21. สืบค้นเมื่อ 2013-12-07.
  3. ทิศนา แขมมณี,14 วิธีสอนสำหรับครูมืออาชีพ, (กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,2555),43