ช็อกโกแลตทหาร (สวิตเซอร์แลนด์)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ช็อกโกแลตทหาร
ช็อกโกแลตทหารสวิตเซอร์แลนด์
ประเภทช็อกโกแลต
แหล่งกำเนิดสวิตเซอร์แลนด์
ส่วนผสมหลักช็อกโกแลต

ช็อกโกแลตทหาร (เยอรมัน: Militärschokolade, ฝรั่งเศส: chocolat militaire, อิตาลี: cioccolato militare, รูมันช์: tschigulatta da militar) เป็นส่วนหนึ่งของเสบียงสนามของกองทัพสวิส[1]

ประวัติ[แก้]

ช็อกโกแลตทหารแบบนาโปลิตัง
คำอธิบายส่วนผสมที่ด้านหลังบรรจุภัณฑ์

ช็อกโกแลตทหารมีชื่ออย่างเป็นทางการในกองทัพสวิสว่า "เสบียงสนามฉุกเฉิน" (Notportion หรือ ration de secours หรือ razione di soccorso หรือ raziun da reserva) เป็นดาร์กช็อกโกแลตสีดำบรรจุในกล่องกระดาษแข็งสีขาวสองกล่องซึ่งปิดด้วยฟิล์มพลาสติกใส มีขนาดประมาณกล่องบุหรี่ กล่องกระดาษแข็งสองกล่องเชื่อมติดกันแต่สามารถฉีกแยกออกจากกันได้ง่าย ช็อกโกแลตทหารนี้ผลิตโดยหลายบริษัท เช่น บริษัท Villars-Maitre-Chocolatier หรือบริษัท Chocolat Stella ช็อกโกแลตทหารเป็นส่วนหนึ่งของเสบียงสนามพื้นฐานสำหรับทหารสวิสเป็นเวลาหลายทศวรรษ นอกจากบิสกิตทหารแล้วช็อกโกแลตทหารก็เป็นที่นิยมของเด็กนักเรียนเมื่อได้รับแจกจากทหาร ช็อกโกแลตทหารจึงมีกลุ่มผู้ติดตามประจำ

เมื่อเวลาผ่านไป ช็อกโกแลตแท่งขนาด 50 กรัม บรรจุในบรรจุภัณฑ์กระดาษสีแดงและช็อกโกแลตนมแท่งขนาด 50 กรัมในบรรจุภัณฑ์พลาสติกสีแดง เป็นที่นิยมมากกว่า"เสบียงสนามฉุกเฉิน"ซึ่งมีขนาดเท่ากันแต่ไม่มีจำหน่าย ทำให้เกิดข่าวลือว่าช็อกโกแลตนี้สำหรับเจ้าหน้าที่เท่านั้น สิ่งนี้ก่อให้เกิดสมญาอย่างไม่เป็นทางการว่า "ช็อกโกแลตเจ้าหน้าที่ (Offizierschokolade)" โดยปัจจุบันได้เข้ามาแทนที่"เสบียงสนามฉุกเฉิน"แล้ว ซึ่ง"เสบียงสนามฉุกเฉิน"ก็ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของเสบียงสนามสำหรับกองทัพอีกต่อไป ช็อกโกแลตสีดำรุ่นก่อนของบริษัท Stella ได้เลิกผลิตในวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2548 อย่างไรก็ตาม ผู้ผลิตอีกรายในรัฐตีชีโนยังคงผลิตต่อไปในสูตรดั้งเดิมและขายให้กับลูกค้าที่เป็นพลเรือน ช็อกโกแลตทหารปัจจุบันยังมีแบบที่ประกอบด้วยข้าวพองหรือแผ่นข้าวโพดอบแห้ง นอกจากช็อกโกแลตแท่งแล้ว ช็อกโกแลตทหารยังมีจำหน่ายในรูปของนาโปลิตังขนาด 5 กรัม ซึ่งใช้เพื่อวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมการขาย กองทัพสวิสจัดหาช็อกโกแลตทหารจากผู้ผลิตหลายรายซึ่งได้รับการรับรองจาก UTZ รวมถึงบริษัท Chocolat Stella และบริษัท Chocolat Frey

ตราสินค้าที่ได้รับการคุ้มครอง[แก้]

ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 รัฐสภาสวิตเซอร์แลนด์เป็นผู้ถือสิทธิ์ในตราสินค้า "Swiss Army" และในเดือนเมษายน พ.ศ. 2559 ศาลพาณิชย์แห่งรัฐแบร์น (Handelsgericht Bern) ห้ามผู้ผลิตช็อกโกแลตใช้ชื่อตราสินค้า "Swiss Army" โดยไม่มีใบอนุญาตที่เกี่ยวข้อง[2]

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. Pädagogische Hochschule Luzern. "Themenpaket 3: Schweizer Schokoladepioniere" (PDF). verkehrshaus.ch (ภาษาเยอรมัน). verkehrshaus.ch – Schuldienst. p. 3. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 15 กันยายน 2016. สืบค้นเมื่อ 8 กันยายน 2016.
  2. "«Swiss Army»-Schokolade muss sich umbenennen". Tages-Anzeiger (ภาษาเยอรมัน). 16 เมษายน 2016.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]