คลองเปร็ง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

คลองเปร็ง เป็นคลองที่เชื่อมระหว่างคลองประเวศบุรีรมย์ผ่านคลองนครเนื่องเขตถึงคลองบางขนาก (คลองแสนแสบ) ในจังหวัดฉะเชิงเทรา มีระยะทาง 448 เส้น หรือ 19.52 กิโลเมตร[1] ในอดีตเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำที่มีต้นเปร็งขึ้นอยู่ทั้ง 2 ฝั่งคลองเป็นจำนวนมาก จึงเรียกคลองนี้ว่า "คลองเปร็ง"

ประวัติ[แก้]

คลองเปร็งเริ่มขุดเมื่อ พ.ศ. 2429 แล้วเสร็จใน พ.ศ. 2431[2] มีวัตถุประสงค์ในการขุดเพื่อระบายน้ำจืดจากคลองบางขนากมาไล่น้ำเค็มออกจากคลองประเวศบุรีรมย์ในฤดูแล้ง เนื่องจากเกิดความเสียหายต่อพืชผลในพื้นที่บริเวณคลองประเวศบุรีรมย์ จนทำให้มีผู้อพยพออกจากบริเวณคลองประเวศบุรีรมย์จำนวนมาก โดยเป็นที่ดินที่เช่าจากนายทุนและผู้มีบรรดาศักดิ์ ทำให้เกิดการอพยพไปยังที่อุดมสมบูรณ์กว่า เมื่อมีการขุดคลองเปร็งจึงได้รับความสนใจในการพัฒนาที่ดิน โดยเจ้าพระยาสุรวงษ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) ได้ลงทุนขุดคลองและแบ่งที่ดินออกขายให้ราษฎร แต่การลงทุนขุดต้องใช้เงินจำนวนมาก จึงได้ยืมเงินจากหลวง แต่ก็มิได้ดำเนินการคืนเงิน ทำให้ต้องทูลเกล้าฯ ถวายที่ดินฝั่งตะวันตกของคลองเปร็งแทนเงินที่ยืมไป ต่อมาที่ดินส่วนนี้ได้ตกเป็นของพระเจ้าลูกยาเธอ พระเจ้าลูกเธอ ให้เป็นกรรมสิทธิ์ที่ดินเนื้อที่ 19,357 ไร่[3]

เดิมทีจะขุดคลองเปร็งจากคลองบางขนากถึงคลองสำโรง ยาวประมาณ 40 กิโลเมตร แต่เนื่องจากการเสียชีวิตของเจ้าพระยาสุรวงษ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) ทำให้ขุดคลองได้เพียง 20 กิโลเมตรจากคลองบางขนากถึงคลองประเวศบุรีรมย์[4]

นอกจากนั้นหลวงแพ่ง กรมการเมืองนครเขื่อนขันธ์ ยังเป็นผู้ดูแลในการขุดคลองเปร็งด้วย แต่ภายหลังประสบปัญหาด้านการเงิน ได้หลบหนีจากพื้นที่เพื่อหนีภาระหนี้สินที่นำเงินค่าจองที่นาของรัฐในคลองเปร็งมาใช้

การใช้พื้นที่[แก้]

ริมคลองเปร็งเป็นที่ตั้งของมัสยิดมู่รอกี้บุ้ลอิสลาม (ลาดน้ำขาว) มัสยิดอัลวารุ้ลอิสลาม (สมอเซ) มัสยิดเราะห์มาตุ้ลอิสลาม และวัดเปร็งไพบูลย์ธัญญาหาร ชาวบ้านริมคลองเปร็งประกอบอาชีพทำนาและเลี้ยงสัตว์น้ำเป็นอาชีพหลัก ทำงานหัตถกรรมเป็นอาชีพเสริม โดยมีก๋วยเตี๋ยวโบราณและขนมโบราณเป็นสินค้าที่ขึ้นชื่อ[5]

อ้างอิง[แก้]

  1. พิมพ์อุมา โตสินธพ. "คลองเชื่อมกับพัฒนาการของชุมชนในลุ่มแม่น้ำบางปะกง ระหว่าง พ.ศ. 2420-2500" (PDF). มหาวิทยาลัยศิลปากร.
  2. "คลองขุดในประเทศไทย". สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ.
  3. ก.จ.ช., ร.5, ก.ษ. 3.3/8 "เรื่องที่นาคลองเปร็ง พระยาสุรศักดิ์มนตรีกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว" 23 มิถุนายน ร.ศ. 113.
  4. "ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2022-01-15. สืบค้นเมื่อ 2022-01-14.
  5. "ชุมชนบ้านตลาดเปร็ง". แหล่งศิลปกรรมอันควรอนุรักษ์ - สิ่งแวดล้อมศิลปกรรม.