คลองทับนาง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

คลองทับนาง เป็นคลองที่ไหลแยกจากคลองสำโรง เป็นเส้นแบ่งเขตการปกครองบางส่วนระหว่างตำบลเทพารักษ์ และตำบลแพรกษาใหม่ อำเภอเมืองสมุทรปราการ กับตำบลบางพลีใหญ่ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ สภาพในปัจจุบันไม่ได้เป็นคลองยาวต่อเนื่อง บางส่วนตื้นเขิน ถูกบ่อขยะทับถม ช่วงท้ายคลองเป็นเพียงท้องร่องเล็กๆ ไหลลงสู่คลองชลประทานเลียบถนนสุขุมวิท ไม่ได้ต่อถึงคลองปากน้ำไหลลงอ่าวไทยเช่นในอดีต คลองทับนางจึงกลายสภาพมาเป็นเพียงคลองทดน้ำสู่ไร่นาเท่านั้น จากข้อมูลขององค์การบริหารส่วนตำบลบางพลีใหญ่ ระบุว่าคลองทับนาง มีความกว้าง 10 เมตร ยาว 5,100 เมตร[1]

คลองทับนางเป็นคลองโบราณ ราว พ.ศ. 2041 สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 โปรดให้ขุดลอกชำระคลองสำโรงกับคลองทับนางให้กว้างขึ้น ในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาระบุว่า "ในศักราช 860 (พ.ศ. 2041) ปีมะเมียสัมฤทธิศก สมเด็จพระรามาธิปดีที่ 2 มีรับสั่งให้ขุดซ่อมคลองสำโรงและคลองทับนางเพื่อให้เรือใหญ่ไปมาได้ ทั้งนี้ เพราะเดิมคลองสำโรงซึ่งอยู่ตำบลศรีษะจระเข้กับคลองทับนางตื้นเขินจะต้องชำระใหม่"[2]

บริเวณทางแยกระหว่างสองคลองมีการค้นพบเทวรูปสัมฤทธิ์ 2 องค์ เรียกภายหลังว่า พระยาแสนตา องค์หนึ่ง กับ บาทสังขกร อีกองค์หนึ่ง[3]

ในพงศาวดารยังกล่าวว่ามีการขุดลอกคลองทับนางต่อไปทางใต้จนถึงคลองปากน้ำ (สมัยที่ยังไม่ได้สร้างเมืองสมุทรปราการ)[4]

สุนทรภู่ได้แต่ง นิราศเมืองแกลง ระหว่างการเดินทางไปเมืองแกลงเมื่อ พ.ศ. 2350 กล่าวถึงคลองทับนางว่า[5]

ถึงทับนางวางเวงฤทัยวับ เห็นแต่ทับชาวนาอยู่อาศัย
นางชาวนาก็ไม่น่าจะชื่นใจ คราบขี้ไคลคร่ำคร่าดังทาคราม
อันนางในนคราถึงทาสี ดีกว่านางทั้งนี้สักสองสาม
โอ้พลัดพรากจากบุรินแล้วสิ้นงาม ยิ่งคิดความขวัญหายเสียดายกรุง

อ้างอิง[แก้]

  1. "ตารางแสดงแหล่งน้ำธรรมชาติในเขตองค์การบริหารส่วนตำบลบางพลีใหญ่". องค์การบริหารส่วนตำบลบางพลีใหญ่. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-06-29. สืบค้นเมื่อ 2022-06-20.
  2. พิมพ์อุมา โตสินธพ. "คลองเชื่อมกับพัฒนาการของชุมชนในลุ่มแม่น้ำบางปะกง ระหว่าง พ.ศ. 2420-2500" (PDF). มหาวิทยาลัยศิลปากร. p. 44.
  3. "ความเป็นมาของชื่อ พระประแดง (ที่สมุทรปราการ) เกี่ยวข้องกับการขุดพบเทวรูป 2 องค์ ใน คลองสำโรง". คมชัดลึก.
  4. "ทับนาง" (PDF).
  5. "นิราศเมืองแกลง นิราศเรื่องแรกและเป็นนิราศที่ยาวที่สุด ของท่านสุนทรภู่". เอ็มไทย. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-11-28. สืบค้นเมื่อ 2022-06-20.