การถ่ายฝากตัวอ่อน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

การถ่ายฝากตัวอ่อน (อังกฤษ: embryo transfer) เป็นการนำตัวอ่อนที่เกิดจากการผสมพันธุ์ระหว่างตัวอสุจิของพ่อพันธุ์และไข่ของแม่พันธุ์ที่คัดเลือกไว้ แล้วเก็บออกมาจากมดลูกของแม่พันธุ์ ต่อจากนั้นนำไปฝากใส่ไว้ให้เติบโตในมดลูกของตัวเมียอีกตัวหนึ่งจนคลอด

การถ่ายฝากตัวอ่อนประกอบด้วยสัตว์เพศเมียที่เป็นตัวให้ (donor) และตัวรับ (recipients) ซึ่งมีได้หลายตัว

ตัวให้จะเป็นแม่พันธุ์ที่คัดเลือกไว้ ซึ่งสัตว์บางประเภท เช่นโค กระบือ จะตกไข่ครั้งละ 1 ใบ แต่ถ้าต้องการให้ตกไข่มากขึ้น ก็ต้องใช้ฮอร์โมนกระตุ้นรังไข่ให้สร้างไข่ได้มากกว่าปกติ ซึ่งจะทำให้แม่พันธุ์มีไข่ตกมากกว่าครั้งละ 1 ใบ เมื่อแม่พันธุ์สามารถตกไข่ได้ครั้งละหลายใบ ก็จะมีโอกาสผสมเป็นตัวอ่อนได้หลายตัวในคราวเดียวกัน

ตัวรับเป็นสัตว์เพศเมียที่ไม่ได้รับการเลือกเป็นแม่พันธุ์ ตัวรับมีได้หลายตัว เพื่อรับตัวอ่อนจากแม่พันธุ์ให้มาเจริญเติบโตในมดลูกของตัวรับจนถึงกำหนดคลอด ตัวรับจะต้องมีสภาพร่างกายที่เป็นปกติ มีมดลูกที่พร้อมจะรับการฝังตัวของตัวอ่อน ดังนั้น ตัวรับมักจะเป็นพันธุ์พื้นเมืองเพราะจะแข็งแรงกว่า ในบางกรณีก่อนการถ่ายฝากตัวอ่อนอาจต้องมีการฉีดฮอร์โมนให้ตัวรับ เพื่อเตรียมสภาพของมดลูกให้พร้อมที่ตั้งท้องตามปกติ