การขริบหนังหุ้มปลาย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
การขริบหนังหุ้มปลาย
หลังจากการขริบอวัยวะเพศชาย

การขริบหนังหุ้มปลาย (อังกฤษ: Circumcision) หรือเรียกกันว่า สุนัต คือ การผ่าตัดเพื่อเอาหนังหุ้มปลายของอวัยวะสืบพันธุ์ชายออกไป โดยมีจุดประสงค์เพื่อการรักษาความสะอาดที่ง่ายขึ้น หรือ การผ่าตัดเพื่อผู้ที่มีหนังหุ้มหนาเกินไปจนไม่สามารถเปิดออกเองได้ และเกิดความเจ็บปวดเวลาอวัยวะเพศแข็งตัว

การขริบหนังปลายอวัยวะเพศ เป็นสิ่งที่ทำมาเป็นพัน ๆ ปีแล้ว ในหลายกลุ่มวัฒนธรรม ศาสนา และเชื้อชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มชาวยิวและมุสลิม เมื่อประมาณหลายสิบปีก่อนหน้านี้ ในสหรัฐอเมริกาจะมีการขริบหนังหุ้มปลายอวัยวะในทารกแรกเกิดเป็นส่วนใหญ่ ในปัจจุบันมีการถกเถียงว่าการขริบสามารถลดการติดเชื้อเอดส์และมะเร็งได้จริงหรือไม่ และคุ้มค่าหรือไม่กับการสูญเสียความรู้สึกทางเพศ โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับวิธีป้องกันอื่น ๆ ที่มีอยู่ รวมถึงเรื่องการละเมิดสิทธิเด็ก

เหตุผลทางการแพทย์[แก้]

การอักเสบที่ปลายอวัยวะเพศ (Balanitis)
หนังหุ้มปลายลึงค์ยาวเกินไปอาจเป็นข้อบ่งชี้สำหรับการขริบ


เหตุผลทางการแพทย์ของการขริบ คือ [1]

  1. หนังหุ้มปลายไม่เปิด (Phimosis) ในเด็กแรกเกิดส่วนใหญ่จะไม่เปิด ทารกเพียงร้อยละ 4 เท่านั้นที่มีหนังหุ้มปลายรูดเปิดได้ หลัง 3 ขวบจะค่อยๆ รูดเปิดได้ และหลังอายุ 5 ขวบเด็กส่วนใหญ่รูดเปิดหนังหุ้มปลายได้ ร้อยละ 98-99 กระทั่งผู้ชายอายุ 18 สามารถรูดเปิดหนังหุ้มปลายได้
  2. มีการอักเสบที่ปลายอวัยวะเพศ (Balanitis) บางคนที่มีหนังหุ้มปลายรูดเปิดยาก หรือไม่ค่อยรูดเปิดทำความสะอาด หรือในบางรายที่แพ้สบู่ น้ำยาซักผ้า หรือน้ำยาฆ่าอสุจิในถุงยางอนามัย จะมีการอักเสบที่ปลายอวัยวะเพศ และอาจมีการติดเชื้อยีสต์แทรกซ้อนได้
  3. ในผู้ชายที่มีหนังหุ้มปลายรัดตึง จนมีอาการเจ็บเวลามีเพศสัมพันธ์

ข้อโต้แย้ง[แก้]

ในบรรดาผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการขริบ มีข้อโต้แย้งเช่น

  1. ในเรื่องการลดการติดต่อทางเพศสัมพันธ์เช่นเอดส์และมะเร็งนั้น ข้อมูลยังไม่ชัดเจน และการป้องกันด้วยถุงยางอนามัยให้ผลที่แน่นอนกว่ามากโดยไม่ต้องขริบ [1][2] นอกจากนี้อาจเกิดความเข้าใจผิดว่าขริบแล้วไม่จำเป็นต้องสวมถุงยางอนามัย ทำให้เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรคขึ้นอีก
  2. ในเรื่องการทำความสะอาดอวัยวะเพศ ผู้ปกครองสามารถสอนเด็กให้ทำได้เองตั้งแต่เล็กโดยไม่ต้องขริบ [2]
  3. ที่ปลายอวัยวะเพศมีปมประสาทจำนวนมากที่ให้ความสุขในการมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งจะถูกทำลายเมื่อถูกขริบ [3] และตามธรรมชาติหนังหุ้มปลายมีหน้าที่ปกป้องหัวลึงค์ซึ่งไวต่อสัมผัส เมื่อถูกขริบไปทำให้หัวลึงค์ต้องถูกเสียดสีโดยตรง เป็นการทำลายความไวต่อสัมผัสอีกต่อหนึ่ง [2] ผู้โต้แย้งการขริบเห็นว่าการขริบตามหลักศาสนาทั้งหญิงและชายนั้นเป็นการทำเพื่อลดความสุขทางเพศ โดยเฉพาะการสำเร็จความใคร่ด้วยตัวเอง ทำให้คนหมกมุ่นทางเพศน้อยลง [3]
  4. การขริบถือเป็นประสบการณ์ที่น่ากลัวสำหรับเด็ก โดยเฉพาะการขริบตามประเพณีที่มักกระทำโดยผู้ที่ไม่ใช่แพทย์และไม่มีกรรมวิธีที่ถูกต้อง เช่น ไม่ใช้ยาชา อาจทำให้เด็กเกิดแผลในใจและนำไปสู่ความเกลียดกลัวการมีเพศสัมพันธ์ ในทารกแรกเกิดนั้นก็สามารถรับรู้ความเจ็บปวดได้ และแม้เด็กจะจำไม่ได้แต่ความรู้สึกนั้นจะฝังลงในจิตใต้สำนึกและอาจกลายเป็นปัญหาในตอนโต [3]
  5. การขริบเด็กและทารกที่ไม่สามารถให้ความยินยอมได้เองนั้นถือเป็นการละเมิดสิทธิเด็ก ผู้ปกครองและแพทย์ควรทำเพียงให้ความรู้ แล้วปล่อยให้เด็กตัดสินใจเองเมื่อบรรลุนิติภาวะแล้วว่าจะขริบหรือไม่ ในประเทศที่ถือสิทธิส่วนบุคคลอย่างมากเช่นแถบสแกนดิเนเวีย การขริบเด็กโดยไม่มีเหตุผลทางการแพทย์อันควรถือเป็นเรื่องผิดกฎหมาย [1] ที่ประเทศเยอรมนี การขริบเด็กด้วยเหตุผลทางศาสนาอย่างเดียวโดยไม่มีเหตุผลทางการแพทย์รองรับถือเป็นความผิดอาญาอุกฉกรรจ์ เพราะผู้ปกครองไม่มีสิทธิ์เลือกศาสนาให้เด็ก เมื่อเด็กโตขึ้นเด็กอาจเลือกนับถือศาสนาอื่นที่ไม่มีข้อบังคับเรื่องขริบ (หรือไม่นับถือศาสนาเลยก็ได้) แต่การขริบสร้าง "ความเสียหายอย่างถาวร" ให้กับให้กับอวัยวะเพศไปแล้ว โดยที่เด็กไม่สามารถโต้แย้งขัดขืน หรือรักษาอวัยวะเพศให้กลับไปเหมือนเดิมได้ [4][5]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 นพ.ประวิตร พิศาลบุตร, "ขลิบ vs. Oral Sex" เก็บถาวร 2008-02-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, HealthToday, วันที่ได้รับข้อมูล 2008-03-19
  2. 2.0 2.1 2.2 รัสมี ภู, "เรื่องเร้นลับของลูกชายวัยแตกหนุ่ม" เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, Momypedia, วันที่ได้รับข้อมูล 2014-01-29
  3. 3.0 3.1 3.2 Dr.DEN Sexociety, "ถ้าอยากมีเซ็กซ์สนุกระเบิด ก็ไม่ต้องขลิบ?!" เก็บถาวร 2010-11-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, Siliconeclub, วันที่เผยแพร่ 2010-09-23
  4. "German court rules circumcision is 'bodily harm'", BBC News, วันที่ได้รับข้อมูล 2012-06-27
  5. "German court: Circumcision on Jewish boys assault", USA Today, วันที่ได้รับข้อมูล 2012-06-27

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]