กลบทก้านต่อดอก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
กลบทก้านต่อดอก
กวีหลวงลิขิตปรีชา (คุ้ม)
ประเภทกลอนกลบท
คำประพันธ์กลอนแปด
ความยาว7 บท
ยุครัตนโกสินทร์
ปีที่แต่งรัชกาลที่ 3
ส่วนหนึ่งของสารานุกรมวรรณศิลป์

กลบทก้านต่อดอก เป็นหนึ่งในบทกลอนที่ถูกจารึกไว้ที่วัดโพธิ์ (วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม) หรือ ประชุมจารึกวัดพระเชตุพนฯ ประพันธ์โดย หลวงลิขิตปรีชา (คุ้ม) เจ้ากรมพระอาลักษณ์ ฝ่ายพระราชวังบวรสถานมงคล เป็นจารึกเพลงยาวกลบทและกลอักษร แผ่นที่ 39 ลักษณะจารึกเป็นหินอ่อนสีดำทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 24 ซม. สูง 65 ซม. จารึกด้วยอักขระไทยสมัยกรุงธนบุรี - รัตนโกสินทร์

ลักษณะคำประพันธ์[แก้]

กลบทก้านต่อดอกมีลักษณะเป็นกลอนแปด มีความยาว 7 บท โดยกำหนดให้มีบังคับสัมผัสสระชิดเสียงเดียวกันตำแหน่งสองคำท้ายวรรคในแต่ละวรรคจำนวน 1 คู่ ตลอดไปจนจบกลอน [1]

เนื้อหา[แก้]

เป็นบทกลอนที่กล่าวถึงความทุกข์ระทมที่ต้องอยู่ห่างไกลจากหญิงอันเป็นที่รัก

คำกลอน[แก้]

กลบทดั่งนี้ชื่อก้านต่อดอก ๚ะ๛  
  ๏ แสนถวิลเทเวศว้าอาวรณ์สมร
ทุกข์ระทมกรมทรวงดั่งศรรอน จะนั่งนอนมีแต่พร่ำกำศรวญครวญ
ตั้งแต่พรากจากเจ้ามาวันนั้น ไม่เว้นวายคลายกระสรรค์รัญจวนหวร
โอ้โฉมงามงามเสงี่ยมสงวนนวล พี่เจียมจิตร์มิดม้วนอารมณ์กรม
จะผันผ่อนก็บ่ห่อนบันเทาเศร้า ทุกข์เท่าเขาโค่นทับระทมถม
แสนสุดโศกด้วยวิโยคนิยมชม เจ็บระบมจิตร์เจียมทำลายวาย
โอ้เจบรักษ์หนักหนอครั้งนี้นี่ เหนสุดทีที่จะให้เคลื่อนคลายหาย
แม้นโรคันอันอื่นระคายกาย แพทย์ภอย้ายยาแก้บันเทาเบา
นี่เหลือแพทย์ที่จะแปรแก้ไขได้ เปนโรคใจไฟสมรร้อนเร้าเผา
สุดจะผ่อนถอนทุกข์ทุเลาเพลา ทุกค่ำเช้าเฝ้าแต่พร่ำรำพึงตะลึง
จะเหนบ้างหฤาไฉนใจมิตร์จิตร์ ซึ่งทวีเทวศคิดคำนึงถึง
ไม่เสื่อมส่างห่างรักษรึงตรึง เปนปีครึ่งครวญคร่ำรำคาญนาน
สุดจะขืนฝืนอารมณ์กรมตรึกนึก จึ่งจารึกเรื่องพจมานสาร
โดยยุบลกลบทบุราณกาล เรียกว่าก้านต่อดอกบอกไว้ เอย๚ะ๛
   


อ้างอิง[แก้]

เชิงอรรถ

  1. วรางคณา ศรีกำเหนิด. กลบทสุภาษิตของหลวงธรรมาภิมณฑ์. [ม.ป.ป.]

บรรณานุกรม

  • ประชุมจารึกวัดพระเชตุพน. พระนคร : ผ่านฟ้าพิทยา, 2510.
  • ฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย ศูนย์มานุษยวิทยา (สิรินธร).
  • โกชัย สาริกบุตร. การวิเคราะห์กลบทในกวีนิพนธ์ไทย. กรุงเทพฯ : กรมการฝึกหักครู, 2519.