กฎการพาดหัวของเบ็ทเทอร์ริดจ์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

กฎการพาดหัวของเบ็ทเทอร์ริดจ์ เป็นกฎที่กล่าวว่า "หัวเรื่องใดๆ ที่ลงท้ายด้วยเครื่องหมายปรัศนี (เครื่องหมายคำถาม) สามารถตอบได้ด้วยคำว่า ไม่" โดยตั้งตามชื่อของ เอียน เบ็ทเทอร์ริดจ์ นักข่าวสายเทคโนโลยีชาวอังกฤษ[1] แม้ว่าแนวคิดนี้จะมีที่มายาวนานกว่านั้น[2] ข้อสังเกตนี้เรียกได้อีกชื่อหนึ่งว่า "กฎของเดวิส"[3][4](Davis' law) หรือเพียง "หลักการวารสารศาสตร์"[5] ในสาขาฟิสิกส์พลังงานสูง แนวคิดดังกล่าวมีชื่อเรียกว่า กฎของฮินช์ลิฟ[6](Hinchliffe's Rule)

เบ็ทเทอร์ริดจ์ได้อธิบายแนวคิดนี้ในบทความเดือนกุมภาพันธ์ ปีพ.ศ. 2552 สืบเนื่องจากบทความในเทคครันช์ (TechCrunch) ที่พาดหัวว่า "ลาสต์ เอฟเอ็มเพิ่งยกข้อมูลการฟังของผู้ใช้ให้ RIAA หรือเปล่า?" ("Did Last.fm Just Hand Over User Listening Data To the RIAA?"):

บทความนี้เป็นข้อพิสูจน์ที่เยี่ยมยอดในหลักการของผมว่า หัวเรื่องใดๆ ที่ลงท้ายด้วยเครื่องหมายคำถาม สามารถตอบได้ด้วยคำว่า "ไม่" เหตุผลที่นักข่าวชอบเลือกเขียนสไตล์นี้ เพราะพวกเขาเองก็รู้ว่าเรื่องนั้นโม้ทั้งเพ และไม่มีที่มาหรือข้อมูลที่จะใช้ยืนยันได้ แต่ก็ยังอยากเล่นเรื่องนั้นอยู่[7]

ห้าปีก่อนหน้าที่บทความของเบ็ทเทอร์ริดจ์จะได้รับการดีพิมพ์ แอนดรูว์ มาร์ นักข่าวชาวอังกฤษได้ให้ข้อสังเกตที่คล้ายกันในหนังสือของเขา My Trade ในปี พ.ศ. 2547 โดยข้อสังเกตนี้เป็นหนึ่งในข้อแนะนำสำหรับผู้อ่านที่ต้องการอ่านหนังสือพิมพ์ด้วยความเข้าใจอย่างถ่องแท้:

ถ้าพาดหัวขึ้นต้นด้วยคำถาม ลองตอบว่า 'ไม่' ดู (เช่น ในพาดหัวจำพวกต่อไปนี้) "นี่คือโฉมหน้าที่แท้จริงของเด็กอังกฤษรุ่นใหม่หรือ?" (ผู้อ่านที่มีเหตุผล: ไม่) เราพบวิธีรักษาโรคเอดส์แล้วหรือยัง? (ไม่; เพราะถ้าใช่ คุณคงไม่ใส่เครื่องหมายคำถามหรอก) แผนที่นี้คือกุญแจสู่สันติภาพหรือไม่? (น่าจะไม่) หัวเรื่องที่มีเครื่องหมายคำถามลงท้าย ในหลาย ๆ กรณี หมายความว่าเรื่องกำลังพยายามชี้นำ หรือถูกเขียนมาหลายต่อหลายครั้งแล้ว ส่วนมากมักเป็นเรื่องที่ก่อให้เกิดความกลัว หรือเป็นความพยายามที่จะยกระดับการรายงานข่าวธรรมดาให้กลายเป็นประเด็นระดับชาติ ซึ่งมักหวังให้จบลงด้วยความตื่นกลัวระดับชาติ สำหรับนักข่าวที่ยุ่งรัดตัวเพื่อการหาข้อเท็จจริง เครื่องหมายคำถามแปลว่า 'อย่าเสียเวลาอ่านเรื่องนี้'.[8]

กระนั้น เบ็ทเทอร์ริดจ์ได้ยอมรับว่าตนก็ได้ละเมิดกฎนี้ไปด้วยเช่นกัน (โดยการเขียนพาดหัวด้วยคำถามพร้อมคำตอบว่า "ใช่") ในบทความชื่อว่า "ร้านแอพสโตร์ของแมคให้คุณใช้ซอฟต์แวร์ในเชิงพาณิชย์หรือเปล่า?" ("Does the Mac App Store let you use software for commercial use?") ซึ่งตีพิมพ์บนเว็บไซต์ของเขาเอง[9]

อ้างอิง[แก้]

  1. Macalope, The (2012-08-11). "The Macalope Weekly: Pointless Exercises". Macworld. สืบค้นเมื่อ 2012-11-08.
  2. Posted by meatrobot (2007-12-04). ""It's an old truism among journalists ..." 2007". Meatrobot.org.uk. สืบค้นเมื่อ 2012-11-08.
  3. "List of variants of Murphy's Law". สืบค้นเมื่อ 2012-11-08.
  4. Liberman, Mark (2006-09-17). "Language Log: Davis Law". Itre.cis.upenn.edu. สืบค้นเมื่อ 2012-11-08.
  5. "Murphy's Laws: Journalistic Principle". Murphyslaws.net. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-09-03. สืบค้นเมื่อ 2012-11-08.
  6. "Guest Blogger: Joe Polchinski on the String Debates". Cosmic Variance. Discover Magazine. December 7, 2006. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-11-14. สืบค้นเมื่อ May 16, 2014.
  7. Ian Betteridge (23 February 2009). "TechCrunch: Irresponsible journalism". Technovia.co.uk. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-01-09. สืบค้นเมื่อ 27 June 2011.
  8. Marr, Andrew (2004). My Trade: a short history of British journalism. London: Macmillan. p. 253. ISBN 1-4050-0536-X.
  9. Ian Betteridge (13 January 2011). "In which I violate my own law of headlines". Technovia.co.uk. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-02-21. สืบค้นเมื่อ 27 June 2011.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]