ข้ามไปเนื้อหา

สวัสดิ์ ตันติสุข

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สวัสดิ์ ตันติสุข

เกิด24 เมษายน พ.ศ. 2468
ตำบลบางแค อำเภอภาษีเจริญ จังหวัดธนบุรี
(ปัจจุบันอยู่ในเขตบางแค กรุงเทพมหานคร)
เสียชีวิต4 สิงหาคม พ.ศ. 2552 (84 ปี)
สาเหตุเสียชีวิตติดเชื้อในกระแสโลหิต
สัญชาติไทย
พลเมืองไทย
การศึกษาอนุปริญญาศิลปบัณฑิต
ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยศิลปากร
อาชีพศิลปิน จิตรกร
ปีปฏิบัติงานพ.ศ. 2491 – 2552
องค์การกรมศิลปากร
มีชื่อเสียงจากผู้อุทิศตนเพื่อเผยแพร่และพัฒนางานศิลปกรรมของไทย
ผลงานเด่นชีวิตใต้ร่มไม้
ทะเลยามราตรี
คู่สมรสปราณี ศรีวิภาต
บุตร1 คน
บิดามารดาคิ่ว ตันติสุข
แม้น ตันติสุข
ครอบครัวตันติสุข
รางวัลศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) – พ.ศ. 2534

สวัสดิ์ ตันติสุข (24 เมษายน พ.ศ. 2468 – 4 สิงหาคม พ.ศ. 2552) ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ประจำปี พ.ศ. 2534 ราชบัณฑิต สำนักศิลปกรรมประเภทวิจิตรศิลป์ สาขาจิตรกรรม อาจารย์สวัสดิ์เป็นศิลปินอาวุโสคนสำคัญ ผู้บุกเบิกศิลปะสมัยใหม่ของประเทศ มีผลงานจิตกรรมดีเด่นเป็นที่ยอมรับของวงการศิลปะทั้งในอดีตและปัจจุบัน ได้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะอย่างต่อเนื่องเป็นเวลายาวนานกว่า 65 ปี การบุกเบิกงานจิตรกรรมที่สำคัญ คือ ได้สร้างสรรค์ผลงานจากแบบที่เป็นรูปธรรมเข้าสู่แบบนามธรรมซึ่งมีผลต่อพัฒนาการด้านจิตรกรรมของศิลปินรุ่นหลังเป็นอย่างมาก ทำให้ศิลปินไทยประสบความสำเร็จในวงการศิลปะนานาชาติ และยังได้อุทิศตนให้กับการสอนและการเผยแพร่ศิลปะโบราณและสมัยใหม่ให้แก่นักศึกษาในสถาบันการศึกษาและประชาชนทั่วไป ได้ร่วมแสดงผลงานในการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ศิลปะนานาชาติ และการแสดงศิลปะอื่นๆ มากมายจนถึงปัจจุบัน ผลงานศิลปะและวิชาการทางศิลปะเป็นประโยชน์ต่อสังคมในทางสร้างสรรค์เป็นอย่างมาก

การศึกษาและการทำงาน[แก้]

สวัสดิ์ ตันติสุข สำเร็จการศึกษา ระดับ ป.ป.ช. จากโรงเรียนเพาะช่าง กรุงเทพมหานคร เมื่อ พ.ศ. 2485 อนุปริญญาศิลปบัณฑิต สาขาจิตรกรรมและประติมากรรม จาก มหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อ พ.ศ. 2488 ต่อมา ได้ไปศึกษาต่อด้านจิตรกรรมในต่างประเทศที่สถาบันศิลปะแห่งกรุงโรม ประเทศอิตาลี (Academy of Fine Arts, Rome) และได้รับประกาศนียบัตรจิตรกรรม เมื่อ พ.ศ. 2503

หลังจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยศิลปากร นายสวัสดิ์ ตันติสุขได้เริ่มเข้ารับราชการในตำแหน่งช่างตรีในแผนกหัตถศิลป์ กองสถาปัตยกรรม ในกรมศิลปากร ต่อมา ได้เลื่อนเป็นหัวหน้าแผนกกลาง ในสังกัดมหาวิทยาลัยศิลปากรเมื่อ พ.ศ. 2497 อีก 7 ปี ต่อมา คือ ใน พ.ศ. 2504 อาจารย์สวัสดิ์ก็ได้การเลื่อนเป็นอาจารย์ใหญ่โรงเรียนช่างศิลป์ กรมศิลปากร ได้ดำรงตำแหน่งนี้อยู่ถึง 14 ปี จึงได้รับการเลื่อนเป็นผู้อำนวยการวิทยาลัยช่างศิลป์ในกรมศิลปากร อาจารย์สวัสดิ์ ตันติสุขได้ดำรงตำแหน่งนี้ตลอดมาจนเกษียณอายุราชการในปี พ.ศ. 2528 ในตำแหน่งช่างศิลป์ระดับ 9

ผลงาน[แก้]

แม้อาจารย์สวัสดิ์ ตันติสุขจะปฏิบัติงานในหน้าที่ของข้าราชการอย่างเต็มเวลา แต่ท่านก็ยังใช้เวลานอกราชการสร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณภาพออกมาอย่างต่อเนื่อง ผลงานหลายชิ้นของท่านได้รับการยกย่องผ่านการประกวดในระดับชาติ ดังนี้

  • รางวัลในการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ สาขาจิตรกรรม ได้รับเกียรติเป็นศิลปินชั้นเยี่ยม พ.ศ. 2498
  • รางวัลเหรียญทอง การแสดงงานจิตรกรรม เมืองราเวนนา อิตาลี พ.ศ. 2502
  • รางวัลที่ 1 ประเภทจิตรกรรมมหาวิทยาลัยแห่งกรุงโรม พ.ศ. 2503
  • รางวัลที่ 2 การแสดงศิลปะระหว่างชาติ ไซ่งอน พ.ศ. 2505
  • แสดงงานจิตรกรรมที่ได้รับเชิญจากกลุ่ม ส่วนราชการต่างๆทั้งในและต่างประเทศ

เกียรติคุณที่ได้รับ[แก้]

ผลงานต่างๆ รวมทั้งการทำงานเพื่อถ่ายทอดและเผยแพร่งานในสาขาจิตรกรรม อาจารย์สวัสดิ์ ตันติสุขได้สรรค์สร้างผลงานทางศิลปออกมาเป็นจำนวนมากอย่างต่อเนื่องที่ ทำให้อาจารย์ได้รับการยกย่องเป็นอย่างสูง ดังนี้

  • ศิลปินชั้นเยี่ยม (สาขาจิตรกรรม) จาก การแสดงงานศิลปกรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2498
  • ปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (จิตรกรรม) จาก มหาวิทยาลัยศิลปากร พ.ศ. 2527
  • ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) พ.ศ. 2534
  • ราชบัณฑิตสำนักศิลปกรรม ( ประเภทวิจิตรศิลป์ จิตรกรรม) พ.ศ. 2535

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

บั้นปลายชีวิต[แก้]

แม้จะอยู่ในวัยของผู้สูงอายุ อาจารย์สวัสดิ์ ตันติสุข ก็ยังคงมีความสนใจและมีบทบาทในวงการศิลปะอยู่อย่างสม่ำเสมอ ยังคงเป็นสมาชิกสมาคมจิตรกรรมสีน้ำอาเซียนและสมาคมศิลปะในประเทศ ฯลฯ ท่านยังคงเข้าร่วมประชุมราชบัณฑิตยสถานอย่างสม่ำเสมอเดือนละ 2 ครั้ง และยังคงนำเสนอบทความที่น่าสนใจหรือสิ่งที่ค้นพบจากการค้นคว้าวิจัยต่อที่ประชุมสำนักศิลปกรรมอยู่อย่างสม่ำเสมอ

อ้างอิง[แก้]

  1. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย เก็บถาวร 2005-12-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๒ ตอนที่ ๒๑ ข หน้า ๗, ๓ ธันวาคม ๒๕๔๘
  2. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย, เล่ม ๑๑๗ ตอนที่ ๒๕ ข หน้า ๒๓, ๑ ธันวาคม ๒๕๔๓
  3. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา ประจำปี ๒๕๔๔ เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๐ ตอนที่ ๗ ข หน้า ๑, ๑๑ เมษายน ๒๕๔๖
  4. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญจักรมาลาและเหรียญจักรพรรดิมาลา, เล่ม ๙๑ ตอนที่ ๑๔๑ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๑๒๐๗, ๑๗ สิงหาคม ๒๕๑๗
  5. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์, เล่ม ๙๖ ตอนที่ ๘๗ ง หน้า ๒๐๑๖, ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๒๒