ข้ามไปเนื้อหา

ธนาคารไทยพาณิชย์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
ประเภทบริษัทมหาชนจำกัด
การซื้อขาย
SET:SCB
ISINTH0015010R16 Edit this on Wikidata
อุตสาหกรรมธุรกิจการเงิน
ธนาคาร
ก่อนหน้าบุคคลัภย์
แบงก์สยามกัมมาจล
ก่อตั้ง4 ตุลาคม พ.ศ. 2447 (119 ปี ในชื่อบุคคลัภย์)
30 มกราคม พ.ศ. 2449 (118 ปี ในชื่อแบงก์สยามกัมมาจล)
27 มกราคม พ.ศ. 2482 (85 ปี ในชื่อธนาคารไทยพาณิชย์)

19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2536

(31 ปี ในชื่อธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน))
ผู้ก่อตั้งพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
สำนักงานใหญ่9 ถนนรัชดาภิเษก แขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร
บุคลากรหลัก
พันตำรวจเอก ธรรมนิธิ วนิชย์ถนอม, ประธานกรรมการ
กฤษณ์ จันทโนทก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
อรพงศ์ เทียนเงิน, ผู้จัดการใหญ่
ผลิตภัณฑ์การธนาคารลูกค้ารายย่อย การธนาคารพาณิชย์ การประกันภัย วาณิชธนกิจ เงินกู้จำนอง การธนาคารลูกค้าบุคคลรายใหญ่ การบริหารความมั่งคั่ง บัตรเครดิต
รายได้เพิ่มขึ้น 174,900.49 ล้านบาท (2562)[1]
สินทรัพย์ลดลง 2,963,746.32 ล้านบาท (2562)[1]
ส่วนของผู้ถือหุ้นเพิ่มขึ้น 400,357.83 ล้านบาท (2562)[1]
พนักงาน
20,000 (พ.ศ. 2552) Edit this on Wikidata
บริษัทแม่เอสซีบี เอกซ์
บริษัทในเครือCardX
InnovestX
SCB Asset Management
SCB Protect
SCB Julius Baer
SCB Plus
อันดับความน่าเชื่อถือFitch: AA+(tha)[2]
เว็บไซต์www.scb.co.th

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) (อังกฤษ: The Siam Commercial Bank Public Company Limited ชื่อย่อ: SCB)[3] (จีนตัวย่อ: 泰国汇商银行) เป็นธนาคารพาณิชย์แห่งแรกของไทยซึ่งก่อตั้งโดยพระบรมราชานุญาตในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อปี พ.ศ. 2449 เดิมชื่อ แบงก์สยามกัมมาจล ทุนจำกัด ธนาคารไทยพาณิชย์ถือเป็นธนาคารที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศไทย ปัจจุบันธนาคารมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ย่านรัชโยธิน เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร มีจำนวนสาขาทั้งสิ้น 643 สาขา[4] และมีเครื่องเอทีเอ็มกว่า 10,000 เครื่อง เป็นธนาคารที่มีจำนวนเครื่องเอทีเอ็มมากที่สุดในประเทศ ธนาคารไทยพาณิชย์จัดเป็นธนาคารขนาดใหญ่ที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบในประเทศ นอกจากนี้ธนาคารไทยพาณิชย์ยังถูกจัดให้เป็นธนาคารอันดับ 1 ของประเทศไทย จากการจัดอันดับธนาคารแห่งปี (Bank of the year) ประจำปี พ.ศ. 2566 และ พ.ศ. 2567

ประวัติ[แก้]

กิจการของธนาคารเริ่มต้นขึ้นในนาม บุคคลัภย์ (Book Club) ในวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2447 ก่อตั้งโดยพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย เนื่องจากขณะนั้นทรงเชื่อว่า สยามประเทศมีความจำเป็นต้องมีระบบการเงินธนาคารเพื่อรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจการเงินของประเทศ หลังจากบุคคลัภย์ขยายตัวทางธุรกิจขึ้นเป็นลำดับ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานอำนาจพิเศษให้จัดตั้ง บริษัท แบงก์สยามกัมมาจล ทุนจำกัด เพื่อประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์อย่างเป็นทางการตั้งแต่แต่วันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2449[5]

ธนาคารไทยพาณิชย์เป็นธนาคารพาณิชย์ที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบในประเทศประจำปี 2560[6] ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ สนส. 17/2560

ลำดับเหตุการณ์สำคัญ[แก้]

  • พ.ศ. 2449 - ธนาคารเปิดทำการในที่ทำการเดิมของบุคคลัภย์ ตำบลบ้านหม้อ อำเภอพระนคร จังหวัดพระนคร
  • พ.ศ. 2453 - ธนาคารย้ายสำนักงานไปยังอาคารตลาดน้อย ตำบลตลาดน้อย อำเภอสัมพันธวงศ์ จังหวัดพระนคร
  • พ.ศ. 2455 - ธนาคารเปิดสาขาแห่งแรกย่านท่าน้ำราชวงศ์ ตำบลสำเพ็ง อำเภอสัมพันธวงศ์ เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม
  • พ.ศ. 2463 - ธนาคารเปิดสาขาแห่งแรกในส่วนภูมิภาค คือ สาขาทุ่งสง อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช (ปัจจุบันเป็นอาคารคลังพัสดุ ในย่านสถานีรถไฟชุมทางทุ่งสง) เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม
  • พ.ศ. 2470 - ธนาคารเปิดสาขาในส่วนภูมิภาคแห่งที่สอง คือ สาขาเชียงใหม่ ข้างโรงแรมรถไฟเชียงใหม่ ซึ่งอยู่หน้าสถานีรถไฟเชียงใหม่ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 1 มกราคม
  • พ.ศ. 2473 - ธนาคารเปิดสาขาในส่วนภูมิภาคแห่งที่สาม คือ สาขาลำปาง จังหวัดลำปาง นับเป็นสาขาภูมิภาคที่เก่าแก่ที่สุดที่ยังคงให้บริการในที่ทำการเดิมมาจนถึงปัจจุบัน
  • พ.ศ. 2476 - ธนาคารย้ายที่ทำการสาขาเชียงใหม่เข้าสู่ตัวเมืองเชียงใหม่
  • พ.ศ. 2482 - ธนาคารเปลี่ยนชื่อภาษาไทยจาก "แบงก์สยามกัมมาจล" เป็น "ธนาคารไทยพาณิชย์" และเปลี่ยนชื่อภาษาอังกฤษจาก "The Siam Commercial Bank, Limited" เป็น "The Thai Commercial Bank, Limited" ตั้งแต่วันที่ 27 มกราคม เป็นต้นไป
  • พ.ศ. 2485 - ธนาคารแต่งตั้งนายเล้ง ศรีสมวงศ์ เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ชาวไทยคนแรก เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์
  • พ.ศ. 2486 - ธนาคารเปิดสาขาในส่วนภูมิภาคแห่งที่สี่ คือสาขานครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา เพื่อให้บริการพ่อค้าและประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
  • พ.ศ. 2489 - ธนาคารเปลี่ยนชื่อภาษาอังกฤษกลับมาเป็น "The Siam Commercial Bank, Limited"
  • พ.ศ. 2505 - ธนาคารเริ่มใช้เครื่องลงบัญชีเดินสะพัด โพสต์-โทรนิก ซึ่งเป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่นับว่าทันสมัยที่สุดในยุคนั้น เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม
  • พ.ศ. 2514 - ธนาคารได้เปิดอาคารสำนักงานใหญ่แห่งใหม่ที่ถนนเพชรบุรี (ปัจจุบันปรับฐานะเป็นสาขาชิดลม และได้ยกอาคารดังกล่าวไปให้เป็นอาคารสำนักงานใหญ่ของบริษัท ไทยพาณิชย์ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) จากนั้นจึงได้ย้ายไปอยู่ที่อาคารหลังใหม่ติดกับหลังเดิม ซึ่งเปิดใช้งานในปี พ.ศ. 2525)
  • พ.ศ. 2516 - ธนาคารเริ่มรับพนักงานสตรีเข้าปฏิบัติงานเป็นครั้งแรก
  • พ.ศ. 2525 - ธนาคารเริ่มให้บริการฝากและถอนต่างสาขากับบัญชีเงินฝากครบทุกประเภท เป็นแห่งแรกในประเทศไทย
  • พ.ศ. 2526 - ธนาคารเริ่มให้บริการเงินด่วนด้วยเครื่องเอทีเอ็มเป็นครั้งแรก และแห่งแรกในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม
  • พ.ศ. 2531 - ธนาคารมีปริมาณสินทรัพย์รวม 103,298.1 ล้านบาท เมื่อถึงสิ้นปีดังกล่าว
  • พ.ศ. 2532–2535 - ธนาคารได้รับรางวัล "ธนาคารแห่งปี" (Bank of the Year) จากนิตยสารการเงินธนาคาร เป็นเวลา 4 ปีซ้อน ในฐานะที่เป็นธนาคารพาณิชย์ไทย ที่มีผลงานโดดเด่นอย่างรอบด้าน รวมทั้งการขยายตัวของธนาคารฯ และการเตรียมพร้อมรองรับความเจริญในอนาคต
  • พ.ศ. 2536 - ธนาคารเข้าจดทะเบียนเป็นบริษัทมหาชนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 19 กุมภาพันธ์ เป็นต้นมา โดยใช้ชื่อภาษาไทยว่า "ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)" และชื่อภาษาอังกฤษว่า "Siam Commercial Bank Public Company Limited"
  • พ.ศ. 2539 - ธนาคารย้ายที่ทำการสำนักงานใหญ่จากถนนเพชรบุรีไปยังอาคาร SCB Park Plaza บนถนนรัชดาภิเษก ย่านรัชโยธิน เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันที่ 29 มกราคม เป็นต้นมา
  • พ.ศ. 2541–2542 - สืบเนื่องจากวิกฤตทางการเงินในเอเชียเมื่อปี พ.ศ. 2540 ส่งผลต่อเนื่องถึงเศรษฐกิจไทยโดยรวมที่ซบเซาลงอย่างหนักและการดำเนินมาตรการที่เข้มงวดตามกรอบนโยบายของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ธนาคารจึงต้องรับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นับเป็นยุควิกฤตของธนาคารเนื่องจากมีปริมาณสินเชื่อด้อยคุณภาพเพิ่มขึ้นตามลำดับ ทางธนาคารจึงมุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้น ด้วยความพยายามรักษาระดับของเงินกองทุนให้เพียงพอ การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ การปรับปรุงโครงสร้างของธนาคารตลอดจนตัดทอนค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ร่วมกับการแก้ไขปัญหาในระยะยาวด้วยการเพิ่มทุน ซึ่งล้วนแต่สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ทั้งการเสนอขายหุ้นแก่ผู้ถือหุ้นเดิม ผู้ลงทุนในต่างประเทศ และการออกหุ้นกู้ซึ่งถือเป็นการขายหุ้นเพิ่มทุนครั้งใหญ่ที่สุดของประเทศไทย โดยวารสารการเงินหลายฉบับกล่าวว่าเป็นข้อตกลงที่ควรพิจารณาแห่งปีของเอเชีย ซึ่งมาตรการทั้งหมดนั้น ได้รับความร่วมมือร่วมใจจากพนักงานของธนาคารเป็นอย่างดียิ่ง
  • พ.ศ. 2549 - ธนาคารมีปริมาณสินทรัพย์เป็นอันดับที่สาม มูลค่าเกินหนึ่งล้านล้านบาท โดยมีมูลค่าตลาดรวม เพิ่มสูงขึ้นเป็นอันดับหนึ่ง ตลอดจนมีจำนวนสาขา และเครื่องเอทีเอ็มทั่วประเทศ มากที่สุดในประเทศไทย
  • พ.ศ. 2553 - ธนาคารปรับปรุงอัตลักษณ์และตราสัญลักษณ์ของธนาคาร ให้มีความเรียบง่ายและทันสมัยมากขึ้น และขยายจำนวนสาขาจนครบ 1,000 สาขา โดยสาขาที่ 1,000 ตั้งอยู่ที่ศูนย์การค้าพาราไดซ์พาร์ค โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดที่ทำการสาขาเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม[7]
  • พ.ศ. 2555 - บริษัท เงินทุน สินอุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) ได้โอนบรรดากิจการทั้งหมดไปเป็นส่วนหนึ่งของธนาคาร ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม[8]
  • พ.ศ. 2558 - ธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่รัชโยธิน เขตจตุจักร เกิดอัคคีภัย มีผู้เสียชีวิต 1 ราย ได้แก่ นายเดชา ด้วงชนะ เจ้าหน้าที่ดับเพลิงเขตหลักสี่[9]
  • พ.ศ. 2559 - ธนาคารเปิดตัวผลิตภัณฑ์บัญชีเงินฝากแบบไม่มีสมุดคู่ฝาก (SCB E PASSBOOK) เป็นธนาคารแรกในประเทศไทย[10] โดยบัญชีแบบไม่มีสมุดนี้จะใช้เพียงบัตรประจำตัวประชาชนในการติดต่อธนาคาร และมีการส่งรายการเดินบัญชีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Statement) ให้ทางอีเมลแอดเดรสที่ลูกค้าได้ให้ไว้กับธนาคาร ทุกวันที่ 1 ของเดือน บัญชีแบบไม่มีสมุดคู่ฝากจะให้อัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าบัญชีแบบมีสมุดคู่ฝาก[11] แต่จะไม่สามารถใช้เป็นบัญชีรับเงินจากการขายกองทุนได้ เนื่องจากการรับเงินจากการขายกองทุนต้องใช้บัญชีออมทรัพย์แบบมีเล่มสมุดเท่านั้น[12]
  • พ.ศ. 2560 - ธนาคารเปิดตัว แอปพลิเคชัน SCB Easy เวอร์ชันปรับปรุงใหม่ โดยมีการเปลี่ยนแปลงอินเตอร์เฟซให้สวยงามทันสมัย และเพิ่มการทำธุรกรรมกดเงินไม่ใช้บัตรผ่านโทรศัพท์มือถือเป็นธนาคารแรกในประเทศไทย[13]
  • พ.ศ. 2561 - ธนาคารประกาศยกเลิกค่าธรรมเนียมการฝาก ถอน โอน เติม จ่าย ที่ดำเนินการทำธุรกรรมผ่านแอปพลิเคชัน SCB Easy ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม เป็นต้นมา โดยเป็นธนาคารแรกในประเทศไทยที่ประกาศยกเลิกค่าธรรมเนียมดังกล่าว[14]
  • พ.ศ. 2564 - ธนาคารไทยพาณิชย์ ประกาศโอนกิจการธนาคาร และกิจการในเครือทั้งหมดให้ บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งแปรสภาพมาจาก บริษัท ไทยพาณิชย์โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน)
  • พ.ศ. 2565 - ธนาคารเริ่มดำเนินการแลกหุ้นเข้าสู่ บมจ.เอสซีบี เอกซ์ ซึ่งเป็นบริษัทโฮลดิ้งของกลุ่มธุรกิจไทยพาณิชย์ ตั้งแต่เดือนมีนาคม-เมษายน หลังจากนั้น เอสซีบี เอกซ์ จะเป็นผู้ถือหุ้นของธนาคารทั้งหมด เพื่อนำไปสู่การถอนหุ้นธนาคารออกจากตลาดหลักทรัพย์ และให้ซื้อขายหุ้นของบริษัทโฮลดิ้งแทน โดยใช้ชื่อย่อหลักทรัพย์เดิมของธนาคาร คือ SCB โดยการดำเนินการนี้เสร็จสิ้นในเดือนพฤษภาคมปีเดียวกัน[15] ทั้งนี้ หลังการแลกหุ้นดังกล่าว สัดส่วนการถือครองหุ้นของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงถือผ่านสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ เพิ่มขึ้น 0.20% เป็น 23.58% จากเดิม 23.38%
  • พ.ศ. 2560–2566 - ธนาคารทยอยลดจำนวนสาขาลง จากเดิมที่เคยเป็นธนาคารที่มีจำนวนสาขามากที่สุดในประเทศ ลดเหลือเพียงราว ๆ 700 สาขาในปัจจุบัน[4] บางสาขาเปลี่ยนไปให้บริการในรูปแบบ SCB Express[16] คือการทำรายการผ่านเครื่อง VTM (Virtual Machine) ทั้งนี้สาขาในรูปแบบ SCB Express อาจมีพนักงานประจำหรือไม่ก็ได้ขึ้นอยู่กับกรณี

บริษัทในเครือ[แก้]

  • CardX ดูแลกลุ่มผลิตภัณฑ์ด้านบัตรเครดิต บัตรกดเงินสด และสินเชื่อส่วนบุคคล
  • InnovestX ดูแลเรื่องการลงทุนในหลักทรัพย์ เปลี่ยนชื่อมาจากหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ SCBS
  • SCB Asset Management (SCBAM) ดูแลเรื่องการลงทุนในกองทุนรวม ชื่อเต็มคือ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนไทยพาณิชย์
  • SCB Protect ดูแลเรื่องการจัดการประกันภัยและประกันชีวิต
  • SCB Julius Baer
  • SCB Plus
  • TokenX ดูแลเรื่องการพัฒนาแพลตฟอร์มสินทรัพย์ดิจิทัล (Blockchain and NFT Platform Solution)
  • AutoX (เงินไชโย) ดูแลเรื่องสินเชื่อเงินกู้โดยใช้รถยนต์ส่วนบุคคล

กรรมการและผู้บริหารระดับสูง[แก้]

ตั้งแต่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

  • พลอากาศเอก สถิตย์พงษ์ สุขวิมล ประธานที่ปรึกษาคณะกรรมการและกรรมการ
  • พันตำรวจเอก ธรรมนิธิ วนิชย์ถนอม, ประธานกรรมการ บมจ. เอสซีบี เอกซ์
  • นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์, นายกกรรมการ ธนาคารไทยพาณิชย์
  • นายอาทิตย์ นันทวิทยา, ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. เอสซีบี เอกซ์
  • นายกฤษณ์ จันทโนทก, ประธานเจ้าหน้าที่บริหารธนาคารไทยพาณิชย์

รายพระนามและชื่อประธานกรรมการ[แก้]

ผู้ถือหุ้นรายใหญ่[แก้]

  • ข้อมูล ณ วันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2567[17]
ลำดับที่ รายชื่อผู้ถือหุ้น จำนวนหุ้นสามัญ สัดส่วนการถือหุ้น
1 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว 793,832,359 23.58%
2 กองทุนรวม วายุภักษ์หนึ่ง 549,600,000 16.32%
3 บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด 215,604,931 6.40%
4 SOUTH EAST ASIA UK (TYPE C) NOMINEES LIMITED 148,934,061 4.42%
5 STATE STREET EUROPE LIMITED 132,341,967 3.93%
6 กองทุนรวม วายุภักษ์หนึ่ง โดย บลจ.เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) 117,849,100 3.50%
7 กองทุนรวม วายุภักษ์หนึ่ง โดย บลจ.กรุงไทย จำกัด (มหาชน) 117,849,100 3.50%
8 สำนักงานประกันสังคม 81,114,300 2.41%
9 THE BANK OF NEW YORK MELLON 47,394,327 1.41%
10 BNY MELLON NOMINEES LIMITED 44,112,765 1.31%

รางวัล[แก้]

ปี รางวัล สาขา ผล
2566 Thailand Zocial Awards 2023[18] Best Brand Performance on Social Media กลุ่มธุรกิจธนาคาร ชนะ

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 งบการเงิน/ผลประกอบการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
  2. อันดับเครดิต เก็บถาวร 2021-01-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
  3. สรุปข้อสนเทศบริษัทจดทะเบียนตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
  4. 4.0 4.1 "ธนาคารแห่งประเทศไทย | Bank of Thailand". app.bot.or.th.
  5. ประวัติธนาคารไทยพาณิชย์ เก็บถาวร 2015-08-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, จากเว็บไซต์ของธนาคารฯ
  6. ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ สนส. 17/2560
  7. "สมเด็จพระเทพฯ"โปรดร้านหนังสือ
  8. การโอนและรับโอนกิจการทั้งหมดของบริษัทเงินทุน สินอุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) ให้แก่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เก็บถาวร 2015-09-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, จากเว็บไซต์ของธนาคารฯ
  9. ไฟไหม้!'ไทยพาณิชย์'สังเวย1
  10. "Facebook". www.facebook.com.
  11. รู้ยัง!! บัญชีเงินฝากแบบ E-passbook ได้ดอกเบี้ยสูงงงงงง | รู้ยัง!! บัญชีเงินฝากแบบ E-passbook ได้ดอกเบี้ยสูงงงงงง ... สะดวก ง่าย ไม่มีค่าธรรมเนียม เปลี่ยนแล้วชีวิตดี๊ดีย์ ทำยังไง มาดูกัน... | By SCB ThailandFacebook, สืบค้นเมื่อ 2024-06-05
  12. "สมัคร SCBAM Fund Click ด้วยบัญชี SCB e-passbook ไม่ได้". Pantip.
  13. ""ไทยพาณิชย์" เตรียมให้บริการ "กดเงินไม่ใช้บัตร" ผ่านแอปฯ พรุ่งนี้". mgronline.com. 2017-08-19.
  14. "เป็นทางการแล้ว SCB Easy ยกเลิกค่าธรรมเนียมโอนเงินข้ามแบงค์-ข้ามเขต เติมเงิน จ่ายบิล | Blognone". www.blognone.com (ภาษาอังกฤษ).
  15. aof (2022-03-01). "ไทยพาณิชย์ ประกาศแลกหุ้น SCBX-SCB เริ่ม 2 มีนาคม-18 เมษายน 2565". ประชาชาติธุรกิจ.
  16. sakhononline (2017-12-10). "มารู้จัก SCB Express สาขารูปแบบใหม่ ปรับตัวรับภาวะลดจำนวนสาขา". รายงานพิเศษ (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  17. "SCB - ข้อมูลผู้ถือหุ้น - ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย". www.set.or.th.
  18. "ประกาศผล Thailand Social Awards ครั้งที่ 11 แบรนด์และผู้ทรงอิทธิพลบนโลกโซเชียลยกทัพร่วมงานคับคั่ง". ไทยรัฐ. 2023-02-24. สืบค้นเมื่อ 2023-02-25.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]