จดหมายเหตุ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ชั้นวางกล่องระเบียนบรรจุเอกสารจดหมายเหตุ

จดหมายเหตุ (อังกฤษ: archive) หมายถึง รายงานหรือบันทึกเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น[1] หรือสถานที่เก็บและให้บริการเอกสารจดหมายเหตุ[2][3] เรียกว่า หอจดหมายเหตุ[4]

จดหมายเหตุประกอบด้วยเอกสารข้อมูลปฐมภูมิที่บุคคลหรือองค์กรสะสมมาตลอดชีวิตและเก็บไว้เพื่อแสดงประวัติและหน้าที่ของบุคคลหรือองค์กรนั้น ๆ[5][6] ผู้เชี่ยวชาญด้านจดหมายเหตุและนักประวัติศาสตร์โดยทั่วไปเข้าใจจดหมายเหตุว่าเป็นบันทึกที่สร้างขึ้นและเป็นผลจากกิจกรรมทางกฎหมาย การค้า การบริหาร หรือสังคมตามปกติ จดหมายเหตุได้รับการนิยามเชิงเปรียบเทียบว่าเป็น "สารคัดหลั่งของสิ่งมีชีวิต"[7] และแตกต่างจากเอกสารที่เขียนหรือสร้างขึ้นเพื่อสื่อสารข้อความเฉพาะแก่ลูกหลาน

โดยทั่วไป จดหมายเหตุประกอบด้วยบันทึกที่ได้รับการคัดเลือกสำหรับการเก็บรักษาถาวรหรือระยะยาว โดยพิจารณาจากคุณค่าทางวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ หรือหลักฐานที่ยั่งยืน[6] บันทึกจดหมายเหตุโดยปกติไม่มีการเผยแพร่และเกือบจะมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวเสมอ ซึ่งต่างจากหนังสือหรือนิตยสารที่อาจมีสำเนาเหมือนกันหลายฉบับ นั่นหมายความว่าจดหมายเหตุค่อนข้างต่างจากห้องสมุดในด้านการใช้งานและการบริหาร แม้ว่าชุดสะสมจดหมายเหตุมักพบได้ในอาคารห้องสมุดก็ตาม[8]

บุคคลที่ทำงานในด้านจดหมายเหตุเรียกว่านักจดหมายเหตุ ส่วนการศึกษาและการปฏิบัติในการจัดการ เก็บรักษา และจัดให้มีการเข้าถึงข้อมูลและสื่อในหอจดหมายเหตุเรียกว่า archival science ผู้บันทึกอาจเป็นส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือบุคคลทั่วไปก็ได้ เพื่อบันทึกไว้สำหรับใช้อ้างอิงในอนาคต

ในประเทศไทย[แก้]

ตั้งแต่อดีต พระมหากษัตริย์ไทยโปรดเกล้าฯ ให้มีธรรมเนียมการจดบันทึกเหตุการณ์สำคัญของบ้านเมือง วิถีชีวิต ความเป็นอยู่ รวมถึงปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดขึ้น โดยผู้มีหน้าที่จดบันทึกดังกล่าวเรียกว่าอาลักษณ์ จดหมายเหตุนี้จะถูกเก็บรักษาไว้อย่างดีในหอจดหมายเหตุหรือหอหลวง เพื่อให้เป็นประโยชน์ทางการศึกษาต่อคนรุ่นหลัง จดหมายเหตุในราชวงศ์นี้ บางทีก็เรียกพงศาวดาร เช่น พระราชพงศาวดารกรุงเก่า และพระราชพงศาวดารเหนือ[9]ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์[10]ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

จดหมายเหตุที่บันทึกโดยบุคคลในอดีตก็มีความสำคัญไม่น้อย มีทั้งการบันทึกเหตุการณ์ทั่วไป การบันทึกเรื่องราวของตนเองอย่างลักษณะอนุทิน ฯลฯ บางฉบับมีคุณค่าต่อการศึกษาประวัติศาสตร์อย่างมาก เช่น จดหมายเหตุบางกอกของแดน บีช บรัดเลย์ จดหมายเหตุลาลูแบร์ของซีมง เดอ ลา ลูแบร์ จดหมายเหตุเสด็จประพาสยุโรป ร.ศ.116 ของพระยาศรีสหเทพ (เส็ง วิริยศิริ) จดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี จดหมายเหตุจีนว่าด้วยกรุงสยาม เป็นต้น

จดหมายเหตุในอดีตพบว่ามีการบันทึก โดยการเขียน การพิมพ์ ลงบนวัสดุต่าง ๆ ตามยุคสมัย เช่น แผ่นหิน ใบลาน กระดาษ เป็นต้น

อ้างอิง[แก้]

  1. พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554, หน้า 298
  2. "Glossary of Library and Internet Terms". University of South Dakota Library. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-03-10. สืบค้นเมื่อ 30 April 2007.
  3. "Definition of ARCHIVE" (ภาษาอังกฤษ). Merriam-Webster. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 1 June 2022. สืบค้นเมื่อ 1 June 2022.
  4. พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554, หน้า 1320
  5. "The OPS Historical Archives - Ophthalmic Photographers' Society". www.opsweb.org. สืบค้นเมื่อ 2024-04-24.
  6. 6.0 6.1 "SAA Dictionary: archives". dictionary.archivists.org. สืบค้นเมื่อ 2024-04-24.
  7. Galbraith, V. H. (1948). Studies in the Public Records. London. p. 3.
  8. "A Glossary of Archival and Records Terminology". Society of American Archivists. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 15 June 2013. สืบค้นเมื่อ 7 December 2012.
  9. "ประชุมพงศาวดาร". สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 5 ตุลาคม 2008. สืบค้นเมื่อ 3 ตุลาคม 2008.
  10. เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค), บ.ก. (2531). พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑ (6 ed.). กรุงเทพฯ: กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร. ISBN 974-7936-18-6.

บรรณานุกรม[แก้]

  • Bastian, J. A., & Webber, D. (2008). Archival internships: a guide for faculty, supervisors, and students. Society of American Archivists.
  • Chen, A. (2020). Placing papers: the American literary archives market. University of Massachusetts Press.
  • Kandiuk, M. (Ed.). (2020). Archives and special collections as sites of contestation. Library Juice Press.
  • Mitchell, E., Seiden, P., & Taraba, S. (Eds). (2012). Past or portal? : enhancing undergraduate learning through special collections and archives. Association of College and Research Libraries, a division of the American Library Association.
  • Theimer, K. (Ed.). (2014). Management: Innovative Practices for Archives and Special Collections. Rowman & Littlefield Publishers.
  • ราชบัณฑิตยสถานพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554. พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, 2556. 1,544 หน้า. ISBN 978-616-7073-80-4

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]