แผนตะวันตก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ที่ตั้งของกองทัพฝ่ายตรงข้ามในวันที่ 31 สิงหาคม ค.ศ. 1939 และแผนเยอรมนี

แผนตะวันตก (อังกฤษ: Plan West; โปแลนด์: Plan Zachód) เป็นแผนปฏิบัติการทางทหารของกองทัพโปแลนด์ ในสมัยสาธารณรัฐโปแลนด์ที่สอง โดยมีขึ้นเพื่อเตรียมการป้องกันประเทศจากการรุกรานของนาซีเยอรมนี ซึ่งถูกออกแบบมาในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1930

แผนการ[แก้]

แผนการแรกของโปแลนด์เป็นการทำนายถึงการโจมตีของกองทัพเยอรมันจากโพเมราเนีย มายังกรุงวอร์ซอ รวมไปถึงกำลังสนับสนุนจากซิลีเซียและปรัสเซีย โดยมีเป้าหมายเพื่อที่จะเชื่อมฉนวนโปแลนด์ ระหว่างโพเมราเนียกับปรัสเซีย หลังจากที่การผนวกดินแดนบางส่วนของเชโกสโลวาเกียได้เปลี่ยนแปลงสภาพแนวชายแดนไป นักวางแผนชาวโปแลนด์จึงทบทวนแผนการอีกครั้งหนึ่ง โดยมีความเชื่อว่ากองทัพเยอรมันจะโจมตีมาจากซิลีเซียมายังกรุงวอร์ซอ ซึ่งในการรบจริง นักวางแผนได้ทำนายเส้นทางการโจมตีของกองทัพเยอรมันได้อย่างถูกต้อง แต่ก็ยังมีข้อเสียที่สำคัญอยู่ คือ พวกเขาไม่ได้ให้ความสำคัญกับการเตรียมการถึงการโจมตีจากปรัสเซียและสโลวาเกียมากนัก แต่กลับเป็นแผนการรบหลักของกองทัพเยอรมันในกรณีสีขาว[1][2]

ต่อมา ได้มีการโต้เถียงกันในการตัดสินใจเลือกที่จะป้องกันตามแนวชายแดนอันยาวเหยียด หรือเลือกที่จะล่าถอยไปทางทิศตะวันออกและทิศใต้ และพยายามสร้างแนวป้องกันที่มีความยาวสั้นกว่าแทน โดยมีปราการธรรมชาติเป็นแม่น้ำ ถึงแม้ว่าแนวคิดที่สองจะฟังดูมีน้ำหนักในทางการทหารมากกว่า แต่การพิจารณาในเชิงการเมืองมีความสำคัญกว่า เนื่องจากนักการเมืองโปแลนด์กังวลว่าเยอรมนีจะสามารถยึดครองดินแดนข้อพิพาทได้ง่ายขึ้น (อย่างเช่น นครเสรีดานซิก ฉนวนโปแลนด์ และซิลีเซีย) และจะยุติสงครามได้อย่างรวดเร็วภายหลังจากการยึดครองดินแดนดังกล่าว[3] ดินแดนทางด้านตะวันตกของโปแลนด์มีประชากรอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น และมีเขตอุตสาหกรรมหนัก ซึ่งมีส่วนสำคัญต่อการระดมพล และการผลิตทรัพยการให้แก่กองทัพโปแลนด์อีกด้วย [1]

แผนการดังกล่าวสันนิษฐานว่าสหภาพโซเวียตจะคงความเป็นกลางของตนระหว่างสงคราม เนื่องจากได้มีการประเมินว่าพันธมิตรนาซี-โซเวียตดูเหมือนจะเป็นไปไม่ได้ อย่างไรก็ตาม แผนนี้เป็นการเปิดโอกาสให้ลิทัวเนียสามารถยึดเมืองวิลโน อันเป็นดินแดนพิพาทระหว่างโปแลนด์กับลิทัวเนีย และกองกำลังโปแลนด์ขนาดเล็ก ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบด้วยหน่วยป้องกันชายแดน ไม่มีส่วนในการป้องกันดินแดนดังกล่าวเลย[1]

แผนการนี้ยังสันนิษฐานเอาว่า กองทัพโปแลนด์จะสามารถหยุดยั้งกองทัพเยอรมันได้เป็นเวลาหลายเดือน แต่เนื่องจากความเหนือกว่าทางด้านอาวุธและด้านกำลังพล ทำให้อาจมีการโจมตีสวนกลับได้ (แผนการนี้ประมาณว่า เยอรมนีมีข้อได้เปรียบที่สำคัญอยู่สองหรือสามประการ)[1][4] จนกว่าจะมีการกดดันจากพันธมิตรตะวันตก ซึ่งมีความผูกพันในการโจมตีจากทางตะวันตก เพื่อกันกองทัพเยอรมันจากแนวรบด้านโปแลนด์ และเปิดโอกาสให้โปแลนด์ดำเนินการโจมตีสวนกลับได้[1][5]

ประสิทธิภาพ[แก้]

แผนตะวันตกสามารถคาดการณ์ขนาด ที่ตั้งและทิศทางของการบุกได้อย่างแม่นยำ[4] แต่เมื่อถึงเวลาที่กองทัพเยอรมันโจมตีเข้ามาแล้ว แนวป้องกันที่สองและแนวป้องกันถัดไปไม่เป็นไปตามแผน หรือไม่ก็ไม่สามารถลงมือปฏิบัติได้ในทางทหาร[4] นอกจากนี้ยังมีส่วนที่เป็นอุปสรรคขัดขวาง คือ การจัดการกับระบบสื่อสารและการส่งเสบียง[4][6]

เมื่อเยอรมนีบุกครองโปแลนด์ในเดือนกันยายน 1939 กองทัพโปแลนด์พ่ายแพ้ครั้งสำคัญในยุทธการตามแนวชายแดน ดังที่ได้มีการวิพากษ์วิจารณ์แผนการดังกล่าวไว้ ปัจจัยอื่นที่สำคัญ รวมไปถึง การประเมินความสามารถในการเคลื่อนไหวได้อย่างรวดเร็ว และยุทธวิธีการโจมตีสายฟ้าแลบของเยอรมนีต่ำเกินไป และยังประเมินความสามารถของตนสูงเกินไปอีกด้วย และการรุกรานของสหภาพโซเวียตจากทางตะวันออก และการขาดความช่วยเหลือจากพันธมิตรตะวันตก ทำให้กองทัพโปแลนด์ต้องพ่ายแพ้เมื่อย่างเข้าเดือนตุลาคม 1939[7]

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 (ในภาษาโปแลนด์) Plan "Zachód"
  2. Seidner 1978, p. 50.
  3. Seidner 1978, p. 74.
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 (ในภาษาโปแลนด์) POLSKI PLAN OBRONNY ZACHÓD เก็บถาวร 2007-07-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  5. Seidner 1978, pp. 89–91.
  6. Seidner 1978, p. 235–241.
  7. Seidner 1978, pp. 284–290.
  • Seidner, Stanley S. (1978), Marshal Edward Śmigły-Rydz Rydz and the Defense of Poland, New York, OCLC 164675876

อ่านเพิ่ม[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]