เทอราพิวเท

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ทะเลสาบมาเรโอติสในปัจจุบัน

เทอราพิวเท (กรีก: Θεραπευταί; อังกฤษ: Therapeutae) เป็นศาสนาหรือนิกายหนึ่ง ที่มีผู้นับถือในเมืองอะเล็กซานเดรีย และดินแดนส่วนอื่นของกรีกโบราณ ประเพณีและความเชื่อของเทอราพิวเทปรากฏอยู่ใน De vita contemplativa ("ว่าด้วยชีวิตแห่งการเพ่งพินิจ") ซึ่งเขียนโดยไฟโลแห่งอะเล็กซานเดรีย นักปรัชญาชาวยิว (ราว 20 ปีก่อน ค.ศ. – ค.ศ. 50)[1][2] จากงานเขียนจะพบว่าเขารู้จักนักพรตของเทอราพิวเทเป็นการส่วนตัว ไฟโลระบุว่าพวกเขาเป็น "นักปราชญ์" และเป็น "ผู้ประเสริฐ" ที่มุ่งอุทิศตนเพื่อ "ความดีงามที่สมบูรณ์พร้อม" ซึ่งชนเหล่านี้ "มีอยู่มากมายบนโลกที่มีคนอาศัยอยู่" แต่ตัวผู้เขียนเองไม่แน่ใจที่มาว่าชื่อ เทอราพิวเท (θεραπεύω) นั้น แปลว่า "การรักษา" หรือ "การบูชา" กันแน่ นักบวชเทอราพิวเทจะอาศัยอยู่บริเวณเนินเขาเตี้ย ๆ ริมทะเลสาบมาเรโอติส (Μαρεῶτις)

อุลล์ริช อาร์. ไคลน์เฮมเพิล (Ullrich R. Kleinhempel) นักวิชาการด้านศาสนา อธิบายว่า เนื้อหาของคำสอนและวิธีปฏิบัติของเทอราพิวเทที่ปรากฏในงานเขียนของไฟโลนั้น บ่งว่าใกล้เคียงกับวิธีการปฏิบัติตนของศาสนาพุทธมากที่สุด[3]

ศัพทมูลวิทยา[แก้]

คำว่า เทอราพิวเท (Therapeutae) เป็นคำพหูพจน์ในภาษาละติน มาจากคำว่า Θεραπευταί เป็นคำพหูพจน์ในภาษากรีก แปลว่า "ผู้รักษา" หรือ "ผู้ถวายการรับใช้พระเป็นเจ้า"[4] และเกี่ยวข้องกับ therapeutikos ซึ่งเป็นคำคุณศัพท์[5] เอกสารบางแห่งแปลว่า "การรักษาด้านจิตวิญญาณ" และเรียกสาวกที่เป็นผู้หญิงว่า เทอราพิวเทเดส (Θεραπευτρίδες)[6][7][8] นอกจากนี้ชื่อ เทอราพิวเท ดังกล่าวยังถูกใช้เรียกสาวกที่นับถือเทพเจ้าแอสคลีเพียส และเซอเรพิสด้วย[9]

บางแห่งว่า เทอราพิวเท อาจมาจากคำว่าเถรวาท ในภาษาบาลีของชมพูทวีป[10] บ้างก็ว่าอาจมาจากคำว่า เถรปุติโก แปลว่า "เกี่ยวกับพระเถรปุตตะ"[11] หรือ เถรปุตตะ แปลว่า "บุตรของพระเถระ"[12] ซึ่งใช้เรียกวิธีการเยียวยารักษาของคณะผู้เผยแผ่ศาสนาพุทธนิกายเถรวาท[11]

ประวัติ[แก้]

ทะเลสาบมาเรโอติสในปัจจุบัน

พระเจ้าอโศกมหาราชได้ส่งสมณทูตเผยแผ่ศาสนาพุทธนิกายเถรวาทไปยังดินแดนในแถบซีเรีย อียิปต์ และกรีก เมื่อราว 2 หรือ 3 ก่อนคริสต์ศักราช[11] ทั้งนี้คำสอน วัตรปฏิบัติ และสังคมนักบวช อาจเป็นหลักพื้นฐานแก่ศาสนาคริสต์ด้วย[13] เพราะมีบันทึกถึงกลุ่มนักบวชจากศาสนาพุทธไว้ว่า มีกลุ่มคนโกนศีรษะ ห่มผ้าคลุม เดินทางด้วยเรือมาเป็นหมู่คณะยังเมืองอะเล็กซานเดรีย แล้วมาจัดตั้งชุมชนคล้ายกับที่พวกเราเรียกว่า "วัด" มีกำแพงล้อมรอบ ถือศีลพรหมจรรย์ มีการอยู่ร่วมกันเป็นชุมชนที่เอื้อต่อการพัฒนาด้านกายและใจ[11]

ศาสนาพุทธเป็นที่รู้จักในหมู่ชาวกรีกมานานแล้ว ดังปรากฏในหนังสือ สโตรมาตา เล่ม 1 บทที่ 16 ของนักบุญคลีเมนต์แห่งอะเล็กซานเดรีย ซึ่งเขียนถึงพระพุทธเจ้าไว้ว่า "บรรดานักปราชญ์ชาวอินเดียมีผู้ที่ปฏิบัติตนตามคำสอนของพุทธะ ผู้ทรงคุณเหนือมนุษย์ ซึ่งได้รับการเคารพนับถือดุจพระเป็นเจ้า" (εἰσὶ δὲ τῶν Ἰνδῶν οἱ τοῖς Βούττα πειθόμενοι παραγγέλμασιν. ὃν δι’ ὑπερβολὴν σεμνότητος ὡς θεὸν)[14] ใน ค.ศ. 2023 มีการค้นพบพระพุทธรูปยืน สูง 71 เซนติเมตร แกะสลักจากหินอ่อนแถบอิสตันบูล มีพุทธศิลป์แบบกรีกและยังคล้ายกับศิลปะคันธารราฐ แต่บริเวณด้านขวาของพระพุทธรูปแตกหักไปอย่างน่าเสียดาย[15] สร้างเมื่อราว ค.ศ. 90 ถึง 140 ในวิหารของเทวีไอซิส เมืองเบเรนีกี ซึ่งในขณะนั้นอยู่ภายใต้อิทธิพลของจักรวรรดิโรมัน[16] สันนิษฐานแกะสลักโดยช่างท้องถิ่น เพื่ออุทิศถวายแก่วิหารโดยกลุ่มพ่อค้าผู้มั่งมี[17]

จากหนังสือ De vita contemplativa ("ว่าด้วยชีวิตแห่งการเพ่งพินิจ") ซึ่งเขียนโดยไฟโลแห่งอะเล็กซานเดรีย นักปรัชญาชาวยิว เมื่อคริสต์ศักราชที่ 1 เขาไม่ทราบที่มาของคำว่า เทอราพิวเท อย่างชัดเจน ไม่แน่ใจว่า "ผู้รักษาด้านจิตวิญญาณ" หรือแปลว่า "ผู้ถวายการรับใช้พระเป็นเจ้า" กันแน่ พวกเทอราพิวเทเป็นนักบวชฝ่ายเพ่งพินิจและอาศัยอยู่ในเขตทะเลทราย และยังระบุว่ามีพวกเทอราพิวเทอยู่อย่างแพร่หลายทั้งในหมู่ชาวกรีกและพวกอนารยชนทั้งหลาย โดยมีจุดศูนย์กลางสำคัญอยู่ริมทะเลสาบมาเรโอติส ความว่า

"...ปัจจุบันสามารถพบคนเหล่านี้ได้ในหลาย ๆ ที่ เพราะสมควรแล้วที่ทั้งดินแดนกรีซและบ้านป่าเมืองเถื่อนทั้งหลายจะได้รับความดีงามอย่างสมบูรณ์พร้อม ในอียิปต์มีศาสนิกชนกลุ่มนี้อยู่มากที่สุด พบได้ทุกเมือง ทุกหนแห่ง โดยเฉพาะเมืองอะเล็กซานเดรีย คนจากทั่วทุกสารทิศที่มีความสามารถในการบำบัดอย่างเอกอุมุ่งแสวงบุญยังทะเลสาบมาเรโอติส ประหนึ่งว่าเป็นประเทศของพวกเขาก็มิปาน..."[18]

ไฟโลแห่งอะเล็กซานเดรีย

ก่อนจะเข้าร่วมคณะนักพรตกลุ่มนี้ จะถือว่าตนเองนั้นตายไปจากทางโลกแล้ว ต้องมอบทรัพย์สินทั้งหลายแก่ทายาทโดยสมัครใจ ถือเพศพรหมจรรย์ สวมเครื่องนุ่งห่มที่เพียงพอต่อการป้องกันความหนาวร้อน และเว้นจากสุราเมรัย นักพรตเทอราพิวเทอุทิศตนไปกับการเพ่งพินิจ โดยตลอดทั้งหกในวันหนึ่งสัปดาห์ จะมีการบำเพ็ญตบะ ถือศีลอด สวดอ้อนวอนเพียงลำพัง ศึกษาพระคัมภีร์ในกระท่อมขนาดน้อยห้องใครห้องมัน ในแต่ละกระท่อมจะมีแท่นบูชาศักดิ์สิทธิ์ และมีลานกว้างสำหรับทำกิจกรรม โดยที่ไฟโลเขียนไว้ มีเนื้อหาว่า

"...พวกเขาบริหารจิตตั้งแต่อุษาสางกระทั่งจรดเย็น พวกเขาอ่านพระคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ใช้ความคิดเพื่อเปรียบเทียบปรัชญาของบรรพชนออกมา พวกเขามองว่าความหมายตามตัวอักษรเป็นสัญลักษณ์ของธรรมชาติภายในที่ซ่อนเร้น ซึ่งจะปรากฏในแนวคิดที่แฝงอยู่..."

โดยทุก ๆ วันที่เจ็ดถือเป็นวันสะบาโต นักพรตเทอราพิวเทจะมารวมตัวกัน โดยแยกฝั่งชายหญิงออกจากกัน ทั้งหมดจะนั่งอย่างเรียบร้อยเพื่อฟังธรรมเทศนาจากนักพรตอาวุโส และร่วมสวดหรือขับร้องเพลงบูชาทางศาสนาซ้ำ ๆ จนกระทั่งรุ่งสาง นอกจากนี้พวกเขาไม่มีทาสในการครอบครอง เพราะมองว่ามนุษย์ทุกคนล้วนเท่าเทียมกัน ดังนั้นการมีทาสจึงถือเป็นเรื่องผิดธรรมชาติ

หนังสือพันธสัญญาของโยบ ถูกมองว่าอาจนำมาจากข้อความของเทอราพิวเท[19][20]

การตีความของชาวคริสต์ยุคแรก[แก้]

ยูซีเบียสแห่งแซซาเรีย (ราว ค.ศ. 263–339) นักเขียนเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 3 ระบุในหนังสือ ประวัติพระศาสนจักร (Ἐκκλησιαστικὴ ἱστορία) ระบุว่าเทอราพิวเทเป็นนักพรตในศาสนาคริสต์กลุ่มแรก พวกเขาสละทรัพย์สิน ถือเพศพรหมจรรย์ ถือศีลอด และใช้ชีวิตอย่างสันโดษตามอุดมคติของนักพรตในศาสนาคริสต์[21]

ความเชื่อมโยงกับศาสนาพุทธ[แก้]

เส้นทางการเผยแผ่ศาสนาพุทธของพระเจ้าอโศกมหาราช

ไฟโลชี้ให้เห็นความคล้ายคลึงกันระหว่างเทอราพิวเทกับศาสนาพุทธยุคแรกที่มีการตั้งอารามแบบอรัญวาสี มานานหลายศตวรรษ[22][10] มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่บ่งว่ามีการติดต่อแลกเปลี่ยนด้านการค้าและวัฒนธรรมอย่างเข้มข้นระหว่างอียิปต์กับอินเดียในคริสต์ศักราชที่ 1 ส่วนจารึกพระเจ้าอโศกได้ระบุถึงการเผยแผ่ศาสนาพุทธไปยังดินแดนแถบทะเลเมดิเตอเรเนียนเมื่อราว 250 ปีก่อนคริสต์ศักราช กลายเป็นสมมติฐานที่ว่าเทอราพิวเทอาจเป็นนิกายหนึ่งของศาสนาพุทธที่มาจากหน่อเนื้อของสมณะตั้งแต่สมัยพระเจ้าอโศกมหาราช[10][22][23] บ้างก็ว่าเทอราพิวเทอาจเป็นคณะนักบวชที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากคำสอนและหลักปฏิบัติของพระภิกษุในศาสนาพุทธ[24]

แซคาเรียส พี. ทุนดี (Zacharias P. Thundy) นักภาษาศาสตร์ระบุว่า เทอราพิวเท เป็นคำกรีกที่ยืมคำว่า เถรวาท จากภาษาบาลี ซึ่งเป็นศาสนาพุทธแบบดั้งเดิม[10] ส่วนนักวิชาการบางคนก็ว่ามาจาก เถรปุตตะ เพื่อสื่อถึงนิกายเถรวาท[12]

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. งานเขียนนี้ต่างไปจากปรัชญากรีกที่เขียนโดยไฟโลเอง และงานเขียนอื่น ๆ ของเขาก็ไม่ได้เขียนถึงเทอราพิวเทไว้เลย
  2. Toy, Crawford Howell; Siegfried, Carl; Lauterbach, Jacob Zallel. "PHILO JUDÆUS".
  3. Ullrich R . Kleinhempel, "Traces of Buddhist Presence in Alexandria: Philo and the "Therapeutae"", Научно-теоретический журнал 2019 https://www.academia.edu/39841429/Traces_of_Buddhist_Presence_in_Alexandria_Philo_and_the_Therapeutae_
  4. θερα^π-ευτής, οῦ, ὁ A. one who serves the gods, worshipper, θ. Ἄρεως, θεῶν, Pl.Phdr.252c, Lg.740c; ὁσίων τε καὶ ἱερῶν ib.878a; “τοῦ καλοῦ” Ph.1.261; οἱ θ. worshippers of Sarapis or Isis, UPZ8.19 (ii B.C.), IG11(4).1226 (Delos, ii B.C.); title of play by Diphilus, ib.2.992ii9; name of certain ascetics, Ph.2.471; θ. ὁσιότητος, of the followers of Moses, ib.177. 2. one who serves a great man, courtier, “οἱ ἀμφὶ τὸν πάππον θ.” X.Cyr.1.3.7. II. one who attends to anything, c. gen., “σώματος” Pl.Grg.517e; “τῶν περὶ τὸ σῶμα” Id.R.369d. 2. medical attendant, τῶν καμνόντων ib.341c.
  5. θερα^π-ευτικός, ή, όν, A. inclined to serve, c. gen., “τῶν φίλων” X.Ages.8.1; “εὐσέβεια δύναμις θ. θεῶν” Pl.Def.412e; “θεοῦ” Ph.1.202 (but τὸ θ. γένος, = θεραπευταί, Id.2.473); inclined to court, τῶν δυνατῶν, τοῦ πλήθους, Plutarch Lysander.2, Comp.Plutarch Lycurgus. Num.2; “τὸ θ. τῆς ὁμιλίας” Plutarch Lysander.4. 2. abs., courteous, obsequious, in good and bad sense, X.HG3.1.28 (Comp.), Plutarch Lucullus.16; “θ.παρρησία” Id.2.74a. Adv. “-κῶς” Id.Art.4; “θ. ἔχειν τινός” Ph.1.186, cf. Str.6.4.2. II. inclined to take care of, careful of, λόγου dub. l. in Men.402.15. 2. esp. of medical treatment, ἕξις θ. a valetudinarian habit of body, Arist.Pol.1335b7; ἡ -κή, = θεραπεία, Pl.Plt.282a; also τὸ -κόν therapeutics, Dsc. Ther. Praef. (but also τὸ περὶ παθῶν θ., title of a work on moral remedies by Chrysippus, Phld.Ir.p.17 W.); περὶ θ. μεθόδου, title of work by Galen.
  6. θερα^π-ευτός, όν, A. that may be fostered or cultivated, Pl.Prt.325b. 2. curable, Paul.Aeg.4.5.
  7. θερα^π-εύτρια, ἡ, fem. of A. “θεραπευτής” EM47.45.
  8. LSJ θερα^π-ευτρίς, ίδος, ἡ,= foreg., Ph.1.261, 655: pl., as title of certain female ascetics, Id.2.471.
  9. Voluntary Associations in the Graeco-Roman World John S. Kloppenborg, Stephen G. Wilson - 2012 "Vidman thinks they were simple worshipers united in a loose association (1970:69, 125 38); cf. therapeutae of Asclepius at Pergamon (Habicht 1969:114 15). melan-phoroi; cf. Poland, s.v. melan-phoroi, PW 15:408 14; Wilcken 1927 57, 1:8,"....Footnote 33..The latter is found of worshipers of Sarapis in inscriptions (LSJ cites IG XI/4 second century BCE Delos)
  10. 10.0 10.1 10.2 10.3 Thundy, Zacharias P. (1993). Buddha and Christ: Nativity Stories & Indian Traditions. Brill Publishers. pp. 244–249. ISBN 9004097414.
  11. 11.0 11.1 11.2 11.3 ธีรปัญโญ (กันยายน 2560). สุขภาวะแนวพุทธ (PDF). โพธิยาลัย 3(28). p. 15.
  12. 12.0 12.1 Hillar, Mariah (2012). From Logos to Trinity: The Evolution of Religious Beliefs from Pythagoras to Tertullian. Cambridge University Press. p. 40. ISBN 9781107013308.
  13. Pliny the Elder, "The Natural History", Chap. 21 เก็บถาวร 2013-07-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  14. Clement of Alexandria "The Stromata, or Miscellanies" Book I, Chapter XV
  15. "พระพุทธรูปเก่าแก่ 2,000 ปี ชี้มีพุทธศาสนิกชนในอียิปต์ยุคโบราณ". BBC Thai. 4 พฤษภาคม 2566. สืบค้นเมื่อ 5 พฤษภาคม 2566. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  16. วิทิต บรมพิชัยชาติกุล (5 พฤษภาคม 2566). "พบ พระพุทธรูป อายุ 1,900 ปีในอียิปต์โบราณสมัยปกครองโดยอาณาจักรโรมัน – ชี้ ชาวพุทธอาศัยอยู่ที่นั่นเป็นครั้งแรก". National Geographic Thai. สืบค้นเมื่อ 5 พฤษภาคม 2566. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  17. "อียิปต์เผยค้นพบพระพุทธรูปในวิหารเก่า". ไทยรัฐออนไลน์. 1 พฤษภาคม 2566. สืบค้นเมื่อ 5 พฤษภาคม 2566. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  18. On Ascetics เก็บถาวร 2017-06-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (another name for the De Vita Contemplativa), Section III.
  19. Spittler, Russel Paul (1983), 'Testament of Job', in James H. Charlesworth (ed. Old Testament Pseudepigrapha Vol I Doubleday
  20. Taylor, Joan E., "Virgin Mothers: Philo on the Women Therapeutae," Journal for the Study of the Pseudepigrapha, 12.1(2001): 37-63. doi:10.1177/095182070101200102
  21. Constantine Scouteris, University of Athens Source "The semianchoritic character of the Therapeutae community, the renunciation of property, the solitude during the six days of the week and the gathering together on Saturday for the common prayer and the common meal, the severe fasting, the keeping alive of the memory of God, the continuous prayer, the meditation and study of Holy Scripture were also practices of the Christian anchorites of the Alexandrian desert." [1] Constantine Scouteris, "The Therapeutae of Philo and the Monks as Therapeutae according to Pseudo-Dionysius Scouteris, The Therapeutae of Philo and the Monks as Therapeutae according to Pseudo-Dionysius
  22. 22.0 22.1 Linssen, Robert (2016). Living Zen [Second Edition]. Hauraki Publishing. ISBN 9781787201118.
  23. Gruber, Elmar R.; Kersten, Holger (1996). The Original Jesus: The Buddhist Sources of Christianity. Element Books. ISBN 9781852308353.
  24. "ปฏิสัมพันธ์ระหว่างพระพุทธศาสนากับกรีซ". วิชาประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาห้องเรียนวัดโกเมศรัตนาราม. 6 มิถุนายน 2554. สืบค้นเมื่อ 17 เมษายน 2566. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]