เดินเม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
มัสยิดเยนี เมืองเทสซาโลนีกี สร้างโดยชาวเดินเมในยุคจักรวรรดิออตโตมัน

เดินเม (ฮีบรู: דוֹנְמֶה, อักษรโรมัน: Dōnme, ตุรกีออตโตมัน: دونمه, ตุรกี: Dönme) คือกลุ่มชาวยิวสะบาโตผู้หลบซ่อนในจักรวรรดิออตโตมัน แม้ภายนอกพวกเขาเข้ารีตศาสนาอิสลาม แต่ก็ยังคงรักษาระบบความเชื่อแบบยิว และปฏิบัติตนตามคับบาลาห์อย่างลับ ๆ[1][2][3][4] พวกเขามีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองเทสซาโลนีกี[1][4][5] โดยมีศาสนสถานคือมัสยิดเยนี (Yeni Cami) เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวเดินเมประจำเมืองดังกล่าว[6]

การนับถือศาสนาอิสลามของชาวยิวกลุ่มนี้เกิดขึ้น หลังจากซับบาไท เซวี (שַׁבְּתַי צְבִי) รับบีชาวยิวเซฟาร์ดี อ้างตนว่าเป็นเมสสิยาห์ของชาวยิว ทำให้มีสาวกคอยติดตามอยู่เป็นจำนวนมาก และในเวลาต่อมาเขาถูกรัฐบาลออตโตจับกุมตัว และให้เลือกระหว่างการถูกประหารชีวิต หรือยอมเปลี่ยนไปนับถือศาสนาอิสลาม[7] เซวีแสร้งทำเป็นเลื่อมใสศรัทธาในศาสนาอิสลามและเปลี่ยนศาสนาเพื่อเลี่ยงโทษประหาร[7] ด้วยเหตุนี้ชาวยิวสะบาโตส่วนหนึ่งจึงยอมเข้ารีตเป็นมุสลิม จึงถูกเรียกว่า เดินเม[1][7][4][8] อันเป็นภาษาตุรกี แปลว่า "ผู้ละทิ้งความเชื่อ"[1][4] กระนั้นพวกเขายังนับถือและปฏิบัติศาสนกิจแบบชาวยิวอย่างลับ ๆ[1][7][9] หลังการแลกเปลี่ยนประชากรระหว่างกรีซกับตุรกีใน ค.ศ. 1925 ชาวเดินเมจึงโยกย้ายออกไปจากเมืองเทสซาโลนีกี[6] ชาวยิวสะบาโตบางส่วนยังคงอาศัยอยู่ในประเทศตุรกีจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 21 ในฐานะลูกหลานของชาวเดินเม[1]

ปัจจุบันไม่มีข้อมูลจำนวนประชากรชาวเดินเมหรือจำนวนคนที่เรียกตนเองด้วยชื่อดังกล่าว แม้จะมีลูกหลานบางคนยังอาศัยอยู่ในย่านเทชวีกีเย ในเมืองอิสตันบูลก็ตาม พวกเขามีสุสานเป็นของตนเอง เรียกว่าสุสานบึลบึลเดเร (Bülbüldere Mezarlığı) หรือสุสานชาวซาโลนีกา (Selanikliler Mezarlığı)

หลังการก่อตั้งประเทศอิสราเอลขึ้นใน ค.ศ. 1948 มีชาวเดินเมเพียงไม่กี่ครอบครัวที่อพยพไปยังประเทศอิสราเอล[10] ใน ค.ศ. 1994 อิลกาซ โซร์ลู (Ilgaz Zorlu) นักบัญชีชาวตุรกี ที่อ้างว่าตนสืบเชื้อสายเดินเมมาแต่ฝ่ายมารดา ได้เผยแพร่บทความในวารสาร เปิดเผยว่าตนเองมีเชื้อสายเดินเม และได้นำเสนอความเชื่อทางศาสนาอย่างลับของชาวเดินเม[11] หัวหน้ารับบีแห่งตุรกี และหน่วยทางศาสนาของอิสราเอล ไม่ยอมรับว่าชาวเดินเมเป็นยิว เพราะพวกเขาทิ้งศรัทธาในศาสนายูดาห์มายาวนาน[12][13] โซร์ลูจึงยื่นคำร้องต่อศาลอิสตันบูลในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2000 ขอให้เปลี่ยนศาสนาในบัตรประชาชนของตนเองจาก "อิสลาม" เป็น "ยูดาห์" ซึ่งเขาชนะคดีในเวลาต่อมา ต่อมาเบธดิน หรือศาลศาสนายูดาห์ประจำตุรกี ได้ให้การยอมรับว่าเขาเป็นชาวยิว[14] แต่เนื่องจากพวกเขาไม่ได้รับการยอมรับว่าเป็นยิว ชาวเดินเมจึงไม่มีสิทธิ์ในกฎหมายว่าด้วยการกลับคืน (Law of Return) ของรัฐบาลอิสราเอล[12]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 "Judaism – The Lurianic Kabbalah: Shabbetaianism". Encyclopædia Britannica. Edinburgh: Encyclopædia Britannica, Inc. 23 January 2020. สืบค้นเมื่อ 6 October 2020.
  2. Gershom Scholem (2017). "Doenmeh". Jewish Virtual Library. American–Israeli Cooperative Enterprise (AICE). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 5 November 2017.
  3. Kaufmann Kohler; Henry Malter (1906). "Shabbetai Ẓevi". Jewish Encyclopedia. Kopelman Foundation.
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 Kohler, Kaufmann; Gottheil, Richard (1906). "Dönmeh". Jewish Encyclopedia. Kopelman Foundation. สืบค้นเมื่อ 6 October 2020.
  5. Sean McMeekin, The Berlin-Baghdad Express p.75
  6. 6.0 6.1 The Dönmeh: the Judeo-Islamic Mystery of Thessaloniki เก็บถาวร 2010-10-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, Albena Shkodrova, Balkan Travellers.com
  7. 7.0 7.1 7.2 7.3 Kohler, Kaufmann; Malter, Henry (1906). "Shabbetai Ẓevi". Jewish Encyclopedia. Kopelman Foundation. สืบค้นเมื่อ 6 October 2020.
  8. Türkay S. Nefes (September 2015). "Scrutinizing impacts of conspiracy theories on readers' political views: a rational choice perspective on anti-semitic rhetoric in Turkey". The British Journal of Sociology. Chichester, West Sussex: Wiley-Blackwell. 66 (3): 557–575. doi:10.1111/1468-4446.12137. PMID 26174172.
  9. Kirsch, Adam (15 February 2010). ""The Other Secret Jews", review of Marc David Baer, The Dönme: Jewish Converts, Muslim Revolutionaries, and Secular Turks". The New Republic. New York. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 17 February 2010. สืบค้นเมื่อ 6 October 2020.
  10. "Doenmeh". www.jewishvirtuallibrary.org. สืบค้นเมื่อ 2022-10-31.
  11. Bali 2010, p. 37.
  12. 12.0 12.1 Yardeni, Dan (2013-08-18). "A Scapegoat For All Seasons: The Dönmes or Crypto-Jews of Turkey by Rifat Bali". eSefarad (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2022-10-31.
  13. "Jewish History / Waiting for the Messiah - Haaretz - Israel News". 2009-05-19. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 19 May 2009. สืบค้นเมื่อ 2022-10-31.
  14. Bali 2010, p. 42.