อาหารคาร์บอนต่ำ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

อาหารคาร์บอนต่ำ กล่าวถึงการเลือกใช้ชีวิตโดยการลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจก (GHGe) ที่มาจากการใช้พลังงาน มีการประเมินว่า อย่างน้อย 20 เปอร์เซ็นต์ของแก๊สเรือนกระจกในสหรัฐอเมริกามาจากวิธีการทางอาหาร ตัวเลขนี้อาจต่ำเพราะคำนวณจากแหล่งกำเนิดของแก๊สเรือนกระจกโดยตรง แหล่งกำเนิดทางอ้อม เช่น ความต้องการผลิตภัณฑ์จากประเทศอื่นยังไม่ได้ถูกรวมไว้ อาหารคาร์บอนต่ำจะลดปริมาณการปล่อยก๊าซให้น้อยที่สุดจากผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ กรรมวิธีทางอาหาร การขนส่ง การเตรียมอาหาร และขยะจากอาหาร หลักการของอาหารคาร์บอนต่ำนี้รวมถึงการบริโภคเนื้อและนมจากโรงงานให้น้อยลง โดยทั่วไปคือลดการบริโภคอาหารจากโรงงาน แต่บริโภคอาหารจากท้องถิ่นและอาหารตามฤดูกาล บริโภคอาหารที่ผ่านกรรมวิธีน้อยขั้นตอนและมีบรรจุภัณฑ์น้อย ลดขยะจากอาหารโดยการเลือกปริมาณอาหารให้พอเหมาะ การรีไซเคิล และการทำปุ๋ย

ที่มาของโภชนาการและการปล่อยแก๊สเรือนกระจก[แก้]

ในสหรัฐอเมริกา วิธีการทางอาหารปล่อยแก๊สเรือนกระจกที่มีส่วนในการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) ถึง 4 ชนิด คือ คาร์บอนไดออกไซด์ (CO2), มีเทน (CH4), ไนตรัสออกไซด์ (N2O) และ คลอโรฟลูออโรคาร์บอน (CFCs) การเผาไหม้ของน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับการขนส่งอาหารในระยะไกลทั้งทางอากาศ ทางเรือ รถบรรทุก และรถไฟ ปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งเป็นก๊าซที่เป็นสาเหตุผลักของภาวะโลกร้อน แก๊สมีเทนซึ่งเป็นผลพลอยได้จากการปศุสัตว์และการเผาขยะ สามารถดักความร้อนได้มากกว่าแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 23 เท่า ไนตรัสออกไซด์ที่มาจาการเพาะปลูกและการชลประทานที่มากเกินไป สามารถดักความร้อนได้มากกว่าแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ 200 เท่า คลอโรฟลูโอโรคาร์บอนถูกปล่อยจากการทำความเย็นและการแช่แข็ง ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการเก็บรักษาอาหารเพื่อขนส่งทางเรือ

การเลือกอาหารคาร์บอนสูงหรือคาร์บอนต่ำ[แก้]

อาหารบางประเภทใช้เชื้อเพลิงในการผลิตมากกว่าสิ่งอื่น จึงมีความเป็นไปได้สำหรับการเลือกอาหารคาร์บอนต่ำ โดยการเลือกอาหารที่ใช้เชื้อเพลิงน้อย ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์และแก๊สเรือนกระจกน้อย ผู้บริโภคอาหารเจยืนยันว่าทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับการลดปริมาณการปล่อยแก๊สเรือนกระจกด้วยตัวเองคือการบริโภคผักปลอดสารพิษ ผักปลอดสารพิษสามารถลดปริมาณการปล่อยแก๊สเรือนกระจกได้ถึง 1.5 ตันต่อปี (เมื่อเทียบกับมาตรฐานการบริโภคของชาวอเมริกัน) การเลือกบริโภคอาหารประเภทนี้ในหนึ่งมื้อจากห้ามื้อ สามารถลดปริมาณการปล่อยแก๊สเรือนกระจกได้เท่ากับการเปลี่ยนจากการใช้รถยนต์ธรรมดาเป็นรถยนต์ประหยัดพลังงาน (hybrid-powered car) แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับประเภทของพืช วิธีการปลูก วิธีการบรรจุ วิธีการขนส่งและระยะทางในการขนส่ง วิธีการเก็บรักษา เป็นต้น ในขณะเดียวกันมีการโต้แย้งว่า การบริโภคผลิตภัณฑ์เนื้อ นม ไข่ ที่ผ่านการเลี้ยงในฟาร์มได้ผลกว่า ในแง่ของรักษาดิน ที่อยู่ของสัตว์ป่า และคาร์บอนในบรรยากาศ นั่นเป็นเพราะหากฟาร์มเลี้ยงสัตว์ที่มีการจัดการที่ดี จะสามารถสร้างหน้าดินได้เร็วกว่าระบบนิเวศทั่วไป ทั้งทำให้ดินสมบูรณ์และลดคาร์บอนได้เป็นจำนวนมาก หญ้าที่ถูกสัตว์กินอยู่ตลอดเวลาจะโตเร็วกว่า จึงสามารถเปลี่ยนคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศให้กลายเป็นสารอินทรีย์ได้มากกว่าหญ้าที่ถูกทิ้งไว้ตามธรรมชาติ เหตุผลคือการที่สัตว์กินหญ้าเป็นการกระตุ้นให้หญ้าเจริญเติบโตได้ดี และเพราะมูลสัตว์ซึ่งช่วยให้ดินอุดมสมบูรณ์ไปด้วยไนโตรเจนและสารอาหารที่สำคัญสำหรับพืช

อุตสาหกรรมปศุสัตว์และฟาร์มปศุสัตว์[แก้]

เนื้อวัวและนมวัวอาจปล่อยแก๊สเรือนกระจกในปริมาณสูง อาหารสัตว์เป็นส่วนสำคัญในกระบวนการเลี้ยงสัตว์ของ Confined Animal Feeding Operation (CAFOs) หรือโรงงานปศุสัตว์ ข้าวโพดและถั่วเหลืองจะถูกแปรรูปให้เป็นอาหารสัตว์ บรรจุ แล้วส่งไปที่โรงงานปศุสัตว์ ในปี 2005 CAFOs มีผลิตภัณฑ์สัตว์ปีกถึง 74 เปอร์เซนต์ของผลิตภัณฑ์สัตว์ปีกในโลก 50 เปอร์เซนต์ของเนื้อหมู 43 เปอร์เซนต์ของเนื้อวัว และ 68 เปอร์เซนต์ของไข่ไก่ (อ้างอิงจาก Worldwatch Institute) สัดส่วนเหล่านี้จะสูงกว่าในประเทศพัฒนาแล้ว และกำลังเพิ่มขึ้นในประเทศกำลังพัฒนาที่ปริมาณความต้องการกำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ในทางตรงกันข้าม สัตว์ที่ให้หญ้าเป็นอาหารปล่อยแก๊สเรือนกระจกน้อยกว่าถึง 40 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากขั้นตอนการให้อาหารที่ปล่อยแก๊สคาร์บอนในปริมาณน้อยกว่ามาก และความสามารถในการย่อยอาหารของสัตว์ที่สูงกว่า มีผลทำให้เกิดแก๊สมีเทนน้อยกว่า อย่างไรก็ตาม ตัวเลขนี้ไม่ได้รวมถึงระบบนิเวศของฟาร์มที่ดีที่มีระบบการจัดการคาร์บอนคุณภาพสูง ทุ่งเลี้ยงสัตว์หมุนเวียน (rotational grazing) สำหรับสัตว์เคี้ยวเอื้อง (วัว ควาย แกะ แพะ ม้า) และสัตว์ปีก (ไก่ นก) บนที่ดินที่ไม่มีการเพาะปลูกทำให้เกิดการสะสมหน้าดินอย่างรวดเร็ว และช่วยลดปริมาณคาร์บอน โพลีเฟส ฟาร์ม (Polyface Farm) ในเวอร์จิเนีย สหรัฐอเมริกา เป็นผู้ริเริ่มการทำฟาร์มชนิดนี้ สามารถสร้างอัตราการเพิ่มผิวหน้าดินได้ 1 นิ้วต่อปี ซึ่งมากกว่าปริมาณหน้าดินของป่าที่มีคุณภาพดีถึง 100 เท่า อย่างไรก็ตามโพลีเฟสเผยว่ายังคงล้มเหลวในการจัดการกับไนตรัสออกไซด์และมีเทนในการทำปศุสัตว์ มีการวิพากษ์วิจารณ์เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆสำหรับโพลีเฟส เพราะโพลีเฟสซื้ออาหารสัตว์ที่ไม่ปลอดสารพิษสำหรับเลี้ยงสัตว์ปีกและหมูซึ่งไม่กินหญ้า และ ดังนั้นการสะสมคาร์บอนจึงไปรวมอยู่ที่อื่นแทน

ในขณะเดียวกัน ธัญพืชและถั่วเหลืองซึ่งเป็นกระดูกสันหลังของอาหารตะวันตก (รวมถึงอาหารมังสวิรัติของตะวันตก) ถูกปลูกอย่างกว้างขวางด้วยการปลูกพืชแบบชนิดเดียว (monoculture) ทำให้เกิดการสูญเสียหน้าดินทุกปีด้วยแรงลมและการกัดเซาะของฝน ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ที่ดีควรมีที่อยู่อาศัยสำหรับพืชหลายชนิด ในขณะที่ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ที่ปลูกพืชชนิดเดียวจะเป็นการกักกันไม่ให้มีพืชชนิดอื่นนอกจากพืชสายพันธุ์ที่ต้องการ สัตว์ที่เลี้ยงด้วยหญ้าเป็นประโยชน์ต่อที่ดิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเนื้อและนมถูกบริโภคภายในท้องถิ่นซึ่งตรงกันข้ามกับผลผลิตทางการเกษตร

37 เปอร์เซนต์ของการเกิดมีเทนทั้งหมดมาจากการผลิตในอุตสาหกรรมปศุสัตว์ เกิดขึ้นจากระบบการย่อยอาหารของสัตว์เคี้ยวเอื้อง เช่น วัว แกะ แพะ เพราะผลิตภัณฑ์ CAFO จะถูกรวมสู่ศูนย์กลาง โดยการขนส่งสัตว์ไปที่โรงฆ่าสัตว์ และส่งไปร้านค้าย่อยต่างๆ ซึ่งเหล่านี้เป็นแหล่งปล่อยแก๊สเรือนกระจกลำดับต่อไป ดังนั้นทำฟาร์มเลี้ยงสัตว์และควบคุมปริมาณมีเทนจึงเป็นสิ่งสำคัญต่อสิ่งแวดล้อม

โรงงานปศุสัตว์ผลิตเนื้อและนมมีผลกระทบอย่างมากต่อการปล่อยแก๊สเรือนกระจก มีการประเมินว่า 18 เปอร์เซนต์ของแก๊สเรือนกระจกในโลกนี้มาจากอุตสาหกรรมปศุสัตว์ซึ่งมากเป็นอันดับสองของที่มาของการปล่อยแก๊สเรือนกระจก และมีปริมาณมากกว่าการขนส่งทุกรูปแบบรวมกัน วิธีที่ง่ายที่สุดที่จะลดปริมาณแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์และมีเทนจากอาหารคือ การบริโภคเนื้อวัว เนื้อแกะ และนมจากโรงงานให้น้อยลง เปลี่ยนมาบริโภคผลิตภัณฑ์ในท้องถิ่น เลือกบริโภคเนื้อสัตว์ที่เลี้ยงด้วยหญ้า สิ่งเหล่านี้จะช่วยลดผลกระทบในทางลบ และเกิดผลดีต่อคุณภาพของพื้นดินและปริมาณคาร์บอนในอากาศ

การขนส่งระยะไกลและวิธีการขนส่ง[แก้]

การขนส่งอาหารในระยะไกลทั้งทางบกและทางน้ำด้วยเรือหรือเครื่องบินที่มีตู้แช่เป็นส่วนสำคัญในการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ในอุตสาหกรรมอาหาร จากการศึกษาพบว่าผลิตภัณฑ์อาหารหลายชนิด ใช้พลังงานเพียง 20 เปอร์เซ็นต์ในการผลิตสำหรับการชลประทาน การใช้สารเคมี และอุปกรณ์ต่างๆในไร่นา ส่วนการขนส่งและกระบวนการต่างๆใช้พลังงานถึง 80 เปอร์เซนต์ แต่การศึกษาอื่นพบว่า แก๊สคาร์บอนจากการขนส่งเป็นเพียง 10-15 เปอร์เซนต์ของปริมาณการปล่อยคาร์บอนทั้งหมดของอาหาร คำว่า locavore ใช้อธิบายคนที่พยายามบริโภคอาหารที่ผลิตภายในพื้นที่ระยะรัศมีไม่เกิน 100 ไมล์

กระบวนการ ผลิตภัณฑ์ และขยะ[แก้]

อาหารที่ใช้วิธีการผลิตหลายขั้นตอน เช่น ธัญพืชอัดแท่งหนึ่งชิ้นต่อหนึ่งบรรจุภัณฑ์ ใช้พลังงานปริมาณมากในการผลิตและเกิดขยะจากห่อบรรจุภัณฑ์ ตั้งแต่การขนส่งส่วนผสมของอาหารมาจากที่ต่างๆ การผลิตอาหาร บรรจุลงหีบห่อ ขนส่งเพื่อเก็บไว ้ก่อนจะนำส่งให้กับร้านค้าย่อย ขวดน้ำเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่ก่อให้เกิดขยะจากผลิตภัณฑ์อาหาร มีการประมาณการว่าชาวอเมริกันทิ้งขวดน้ำพลาสติกถึงวันละ 40 ล้านขวด และขวดน้ำเหล่านี้จะถูกลำเลียงใส่เรือข้ามทวีป น้ำที่ผสมแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ (เช่น น้ำอัดลม โซดา) จะถูกทิ้งให้เย็น และเก็บรักษาภายใต้แรงดันระหว่างการขนส่งเพื่อรักษาระดับคาร์บอนไดออกไซด์ให้เจือจาง ซึ่งจะใช้พลังงานมากขึ้นสำหรับการขนส่งในระยะทางที่ไกลขึ้น การดื่มน้ำสะอาดจากก๊อกน้ำเป็นตัวเลือกหนึ่งที่ใช้ปริมาณคาร์บอนน้อย

อ้างอิง[แก้]