อาสนวิหารกาออร์

พิกัด: 44°26′50″N 01°26′35″E / 44.44722°N 1.44306°E / 44.44722; 1.44306
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อาสนวิหารกาออร์
Cathédrale Saint-Étienne de Cahors
ศาสนา
ศาสนาโรมันคาทอลิก
จังหวัดมุขมณฑลแห่งกาออร์
ภูมิภาคแคว้นอ็อกซีตานี
จารีตโรมัน
สถานะองค์กรอาสนวิหาร
ปีที่อุทิศ1135
สถานะเปิด
ที่ตั้ง
ที่ตั้งกาออร์,  ฝรั่งเศส
พิกัดภูมิศาสตร์44°26′50″N 01°26′35″E / 44.44722°N 1.44306°E / 44.44722; 1.44306
สถาปัตยกรรม
ประเภทโบสถ์
รูปแบบกอธิก, โรมาเนสก์
ลงเสาเข็ม1080
เสร็จสมบูรณ์1135

อาสนวิหารกาออร์ (ฝรั่งเศส: Cathédrale de Cahors) หรือมีชื่อเต็มว่า อาสนวิหารนักบุญสเทเฟนแห่งกาออร์ (Cathédrale Saint-Étienne de Cahors)[1] เป็นอาสนวิหารโรมันคาทอลิกและที่ตั้งของมุขนายกประจำมุขมณฑลกาออร์ ตั้งอยู่ที่เมืองกาออร์ จังหวัดล็อต แคว้นอ็อกซีตานี ประเทศฝรั่งเศส สร้างขึ้นเพื่ออุทิศแด่นักบุญสเทเฟน เป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่แสดงให้เห็นถึงช่วงเปลี่ยนผ่านระหว่างสถาปัตยกรรมโรมาเนสก์กับสถาปัตยกรรมกอทิกได้อย่างดียิ่ง

อาสนวิหารแห่งนี้ยังเป็นสถานที่บรรจุเรลิกสำคัญของพระเยซู ซึ่งเรียกว่า "Sainte Coiffe" ซึ่งเป็นหมวกผ้าคลุมศีรษะเพื่อใช้แต่งพระศพพระเยซูเมื่อตอนสิ้นพระชนม์ ซึ่งเรลิกชิ้นนี้ถูกนำกลับมาจากแผ่นดินศักดิ์สิทธิ์ โดยเฌโร เดอ การ์ดายัก

อาสนวิหารแห่งกาออร์ได้ขึ้นทะเบียนเป็นอนุสรณ์สถานทางประวัติศาสตร์เมื่อ ค.ศ. 1862[2] รวมทั้งยังอยู่ในมรดกโลกโดยยูเนสโก โดยถือเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางซานเตียโกเดกอมโปสเตลาในประเทศฝรั่งเศสตั้งแต่ ค.ศ. 1998

ลักษณะทั่วไป[แก้]

แผนผังของอาสนวิหารโดยรวม

อาสนวิหารแห่งนี้ได้รับการสร้างขึ้นในสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 11 โดยมุขนายกเฌโร เดอ การ์ดายัก ซึ่งสร้างบนสถานที่ที่เคยเป็นที่ตั้งของโบสถ์เก่าที่สร้างในสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 7 เพื่ออุทิศแด่นักบุญดีดีเยแห่งกาออร์ ได้รับการเสกโดยสมเด็จพระสันตะปาปาคาลิกซ์ตุสที่ 2 เมื่อวันที่ 10 กันยายน ค.ศ. 1119 และเสร็จสมบูรณ์ในปี ค.ศ. 1135 ลักษณะของโบสถ์ซึ่งตั้งอยู่กลางเมืองนั้น มีความพิเศษคือกำแพงอันหนาราวกับป้อมปราการ ซึ่งในสมัยนั้นบิช็อปหรือมุขนายกถือเป็นผู้ปกครองและมีอำนาจสูงสุดในการบริหารตามระบบศักดินาของเมืองกาออร์

หน้าบันของอาสนวิหาร ซึ่งบูรณะอีกครั้งในปี ค.ศ. 1316–1324 โดยกีโยม เดอ ลาบรู พระญาติสนิทของสมเด็จพระสันตะปาปาจอห์นที่ 22 ได้กล่าวถึงอาสนวิหารแห่งนี้ว่ามีลักษณะเป็นปราการอันแข็งแรงหนาแน่น ประกอบด้วยซุ้มทางเข้าซึ่งมีหอนาฬิกาอยู่ด้านบนซึ่งถูกขนาบปิดด้วยหอคอยทั้งสองข้าง มีหน้าต่างหกบานบริเวณด้านหน้าซึ่งมีลักษณะแคบกว่าปกติ องค์ประกอบที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นโบสถ์ทางคริสต์ศาสนานั้น มีเพียงประตูทางเข้าอันสวยงามตกแต่งเป็นสามชั้น พร้อมด้วยระเบียงแนบขนาดเล็กอยู่ด้านบนประตูทางเข้า และเหนือขึ้นไปเป็นหน้าต่างกุหลาบ หลังคาเป็นแบบโดมอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ พร้อมทั้งหน้าบันทางเข้าที่มีลักษณะเป็นป้อมปราการ และประตูทางเข้าแบบสถาปัตยกรรมโรมาเนสก์ สร้างขึ้นระหว่างปี ค.ศ. 1140–1150 ถือเป็นอีกหนึ่งปราการของวิหารทางทิศเหนือ

บริเวณกลางโบสถ์[แก้]

แผนผังภายในอาคาร

บริเวณกลางโบสถ์มีขนาดกว้างถึง 20 เมตร ยาว 44 เมตร พร้อมด้วยหลังคาแบบโดมที่สูงถึง 32 เมตรในแบบสถาปัตยกรรมไบแซนไทน์ ซึ่งรับน้ำหนักโดยเสาโค้งขนาดใหญ่จำนวนหกเสา ซึ่งมีเฉพาะเพียงแค่อาสนวิหารนักบุญโซเฟียแห่งคอนสแตนติโนเปิลซึ่งมีเสาขนาดที่ใหญ่กว่า อนึ่ง ซึ่งสิ่งที่ผิดปกติจากวิหารทั่วไปคือ ไม่มีแขนกางเขน

โดมหนึ่งข้างตกแต่งด้วยงานเฟรสโก้ในสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 14[3] บอกเล่าเรื่องราวของนักบุญสเทเฟนถูกลงโทษโดยการขว้างหินจนตาย พร้อมทั้งผู้เผยพระวจนะทั้งแปดซึ่งมาในแบบขี่สัตว์ที่เป็นพาหนะ เหมือนเทพฮินดูและกรีก นอกจากนี้บริเวณกำแพงยังพบรูปภาพอื่น ๆ สมัยยุคกลางประดับอยู่ด้วย

มุขโค้ง[แก้]

บริเวณมุขโค้งด้านสกัดของอาสนวิหารเป็นแบบกอทิกซึ่งมีฐานเป็นแบบโรมาเนสก์ (ตั้งแต่บริเวณฐานเสาขึ้นไปจนถึงบริเวณหัวเสา) ด้านในประกอบด้วยชาเปลจำนวนสามหลังพร้อมรูปปั้นประดับ ซึ่งทำให้ผสมผสานกันทางศิลปะได้อย่างดีระหว่างความขาวของมุขโค้งด้านสกัด ความหลายหลายของงานกระจกสี และงานภาพเขียนประดับบริเวณร้องเพลงสวด

ในอาสนวิหารมีหลุมฝังศพอยู่หลายแห่ง อาทิเช่น หลุมฝังศพของบุญราศีอาแล็ง เดอ ซอลมีนียัก (Blessed Alain de Solminihac) และที่สำคัญคือ หมวกผ้าคลุมศีรษะของพระเยซู ซึ่งเป็นเรลิกสำคัญของที่นี่ ซึ่งถูกนำกลับมาฝรั่งเศสโดยมุขนายกเฌโร เดอ การ์ดายักจากแผ่นดินศักดิ์สิทธิ์เมื่อปี ค.ศ. 1113

ระเบียงคด

ซุ้มประตู[แก้]

รายละเอียดบริเวณหน้าบันซุ้มประตูทางเข้า

สร้างขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1135 ที่บริเวณทางเข้าทิศเหนือ โดยมีส่วนที่สวยงามคือ หน้าบันที่อยู่เหนือประตู เป็นงานปูนปั้นบอกเล่าเรื่องราวของเมโสส ในรูปแบบของสถาปัตยกรรมแบบเปลี่ยนผ่านระหว่างสถาปัตยกรรมโรมาเนสก์กับสถาปัตยกรรมกอทิก

บนฉากหนี่งเป็นเรื่องราวของพระเยซู ที่ยกพระหัตถ์ขวาขึ้นเพื่อแสดงสัญลักษณ์ของการอวยพร ส่วนพระหัตถ์ซ้ายถือคัมภีร์ไบเบิ้ล อยู่ในกรอบรูปไข่ที่แสดงถึงการขึ้นสวรรค์ของพระองค์ และยังถูกขนาบทั้งสองข้างด้วยนางฟ้าประหนึ่งพยายามอธิบายพระอภินิหารให้แก่อัครสาวกสิบสองค์ ซึ่งยืนล้อมรอบพระแม่มารี

บริเวณด้านซ้ายมือ มีรูปปั้นแสดงให้เห็นถึงบุคคลที่แต่งกายแตกต่างจากพระอัครสาวก ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นรูปปั้นแสดงถึงตัวผู้ปั้นนั้นเอง อีกส่วนหนึ่งแสดงถึงประวัติของนักบุญสเทเฟน ซึ่งเป็นนักบุญประจำอาสนวิหาร บริเวณกรอบด้านบนสุดมีนางฟ้าอีกสี่องค์ที่พาพระเยซูขึ้นสู่สวรรค์

ระเบียงคด[แก้]

ประตูที่อยู่ทางขวามือของบริเวณร้องเพลงสวดจะนำไปสู่ระเบียงคดแบบกอทิกฟล็องบัวย็อง (Flamboyant) ที่สร้างราวปี ค.ศ. 1504 โดยมุขนายกอ็องตวน เดอ ลูแซ็ก ในบริเวณประกอบด้วยรูปปั้นแสดงบทบาทในชีวิตประจำวัน ซึ่งคาดว่าน่าจะถูกลอกแบบมาจากที่โบสถ์แม่พระบังเกิดแห่งกาดวง (L'abbaye Notre-Dame de la Nativité de Cadouin)

บริเวณฝั่งตะวันตกเป็นที่ตั้งของชาเปลนักบุญโกแบร์ (Chapelle Saint Gaubert) ซึ่งมีเพดานโค้งที่ตกแต่งด้วยภาพวาดสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยา และบริเวณกำแพงโดยรอบยังมีงานเฟรสโกบอกเล่าเรื่องราวของการพิพากษาครั้งสุดท้าย ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์ศิลปะทางศาสนา ซึ่งจัดแสดงภาพเขียนของมุขนายกแห่งกาออร์ทั้ง 93 องค์[4] พร้อมทั้งเครื่องแต่งกายพิธี

อ้างอิง[แก้]

  1. Mireille Bénéjeam-Lère, La cathédrale Saint-Étienne,(p.9-69) dans Congrès archéologique de France. 147eme session. Quercy. 1989, Société Française d'Archéologie, Paris, 1993
  2. http://www.culture.gouv.fr/public/mistral/merimee_fr?ACTION=CHERCHER&FIELD_1=REF&VALUE_1=PA00094997 กระทรวงวัฒนธรรมแห่งฝรั่งเศส
  3. Marie-Anne Sire, Cathédrale de Cahors. Les peintures murales du XIVe récemment découvertes dans le massif occidental, (p.71-77), dans Congrès archéologique de France. 147eme session. Quercy. 1989, Société Française d'Archéologie, Paris, 1993
  4. Georges Costa, Le trésor de la cathédrale de Cahors, (p.79-85), dans Congrès archéologique de France. 147eme session. Quercy. 1989, Société Française d'Archéologie, Paris, 1993

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]