อาร์เอ็มเอส ควีนเอลิซาเบธ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อาร์เอ็มเอส ควีนเอลิซาเบธ ในแชร์บูร์ ฝรั่งเศส เมื่อปี 1966
ประวัติ
สหราชอาณาจักร
ชื่อ
  • 1939–1968: ควีนเอลิซาบธ
  • 1968–1970: เอลิซาเบธ
  • 1970–1972: ซีไวส์ยูนิเวอร์ซิตี
ตั้งชื่อตามสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธ พระราชชนนี
เจ้าของ
ท่าเรือจดทะเบียน
เส้นทางเดินเรือข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก
Ordered6 ตุลาคม 1936
อู่เรือ
Yard number552
Way number4
ปล่อยเรือ4 ธันวาคม 1936[1]
เดินเรือแรก27 กันยายน 1938
Christened27 กันยายน 1938
สร้างเสร็จ2 มีนาคม 1940
Maiden voyage16 ตุลาคม 1946[2][3]
บริการ1946–1972
หยุดให้บริการ9 มกราคม 1972
รหัสระบุ
ความเป็นไปเพลิงไหม้และพลิกคว่ำ ซากเรือถูกรื้อออกบางส่วนระหว่างปี 1974–75 ส่วนที่เหลือถูกฝังอยู่ใต้ดินจากการถมทะเล
ลักษณะเฉพาะ
ประเภท: เรือเดินสมุทร
ขนาด (ตัน): 83,673 ตันกรอส
ขนาด (ระวางขับน้ำ): 83,000+ ลองตัน (84331+ เมตริกตัน)
ความยาว: 1,031 ฟุต (314.2 เมตร)
ความกว้าง: 118 ฟุต (36.0 เมตร)
ความสูง: 233 ฟุต (71.0 เมตร)
กินน้ำลึก: 38 ฟุต 9 นิ้ว (11.8 เมตร)
ดาดฟ้า: 13
ระบบพลังงาน: 12 × หม้อไอน้ำ Yarrow
ระบบขับเคลื่อน:
  • 4 × กังหันไอน้ำแบบเฟืองลดรอบเดี่ยว Parsons
  • 4 × ใบจักร กำลัง 200,000 แรงม้า (150,000 กิโลวัตต์)[4]
ความเร็ว:
  • 28.5 นอต (52.8 กิโลเมตรต่อชั่วโมง; 32.8 ไมล์ต่อชั่วโมง)
  • ความจุ: 2,283
    ลูกเรือ: 1,000+

    อาร์เอ็มเอส ควีนเอลิซาเบธ (อังกฤษ: RMS Queen Elizabeth) เป็นเรือเดินสมุทรของสายการเดินเรือคูนาร์ดไลน์ ร่วมกับอาร์เอ็มเอส ควีนแมรี ทั้งสองลำให้บริการเดินเรือรายสัปดาห์ระหว่างเซาแทมป์ตัน ในสหราชอาณาจักร แชร์บูร์ ในฝรั่งเศส และนครนิวยอร์ก ในสหรัฐอเมริกา

    ในช่วงกลางทศวรรษที่ 1930 ขณะที่บริษัทจอห์นบราวน์แอนด์คอมปานี (John Brown and Company) กำลังต่อเรือลำนี้ที่ไคลด์แบงก์ สกอตแลนด์ ตัวโครงเรือยังไม่มีชื่อ แต่ใช้รหัสภายในว่า Hull 552[5] Hull 552 ถูกปล่อยลงน้ำเมื่อวันที่ 27 กันยายน 1938 และได้รับการตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่สมเด็จพระราชินีอลิซาเบธ พระอัครมเหสีในสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 โดยเรือควีนเอลิซาเบธมีการออกแบบที่ปรับปรุงจากเรือควีนแมรี มีขนาดใหญ่กว่าเล็กน้อย โดยมีความยาวเพิ่มขึ้น 12 ฟุต ซึ่งถือเป็นเรือโดยสารขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยสร้างมาในเวลานั้น และยังคงครองสถิตินานถึง 56 ปี เรือเริ่มต้นทำหน้าที่เป็นเรือขนส่งทหารในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองตั้งแต่เดือนมีนาคม 1940 และกลับมาทำการเดินเรือเชิงพาณิชย์ในฐานะเรือเดินสมุทรตามวัตถุประสงค์ดั้งเดิมเป็นครั้งแรกในเดือนตุลาคม 1946

    ต่อมา ด้วยความนิยมในการเดินทางข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกด้วยเรือลดลง ทั้งเรือควีนเอลิซาเบธและควีนแมรีจึงถูกแทนที่ด้วยเรือควีนเอลิซาเบธ 2 ลำใหม่ที่มีขนาดเล็กและประหยัดกว่า โดยเรือควีนเอลิซาเบธ 2 ทำการเดินทางเที่ยวปฐมฤกษ์ในปี 1969 เรือควีนแมรีหยุดให้บริการอย่างเป็นทางการในวันที่ 9 ธันวาคม 1967 และถูกขายให้กับเมืองลองบีช รัฐแคลิฟอร์เนีย ส่วนเรือควีนเอลิซาเบธได้ปลดประจำการหลังจากเดินทางข้ามมหาสมุทรครั้งสุดท้ายไปยังนครนิวยอร์ก เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 1968[6]

    เรือควีนเอลิซาเบธถูกย้ายไปยังท่าเรือเอเวอร์เกลดส์ รัฐฟลอริดา และดัดแปลงเป็นแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งเปิดให้เข้าชมในเดือนกุมภาพันธ์ 1969 แต่กิจการไม่ประสบความสำเร็จ จึงต้องปิดตัวลงในเดือนสิงหาคม 1970 สุดท้าย เรือควีนเอลิซาเบธถูกขายให้กับ ต่ง เจ้าหรง นักธุรกิจชาวฮ่องกง ผู้มีแผนจะดัดแปลงเป็นเรือสำราญมหาวิทยาลัยลอยน้ำ ชื่อว่า "ซีไวส์ยูนิเวอร์ซิตี" (Seawise University) แต่ในปี 1972 ขณะที่เรือเข้ารับการปรับปรุงในท่าเรือฮ่องกง ก็ได้เกิดเพลิงไหม้ขึ้นบนเรืออย่างไม่ทราบสาเหตุ และตัวเรือก็เอียงไปด้านข้างเนื่องจากน้ำที่ใช้ดับเพลิง ต่อมาในปี 1973 ซากเรือถูกมองว่าเป็นสิ่งกีดขวางการเดินเรือในบริเวณนั้น จึงมีการรื้อถอนซากเรือบางส่วนในปี 1974–1975[7]

    การออกแบบและการสร้าง[แก้]

    อาร์เอ็มเอส ควีนเอลิซาเบธ ขณะกำลังก่อสร้าง

    ในวันที่เรืออาร์เอ็มเอส ควีนแมรี ออกเดินทางในเที่ยวปฐมฤกษ์ เซอร์เพอร์ซี เบตส์ ประธานบริษัทคูนาร์ดไลน์ ได้แจ้งให้ทีมผู้ออกแบบเรือซึ่งนำโดย จอร์จ พาเทอร์สัน เริ่มวางแผนออกแบบเรือลำที่สองตามที่วางแผนไว้[8] ต่อมาในวันที่ 6 ตุลาคม 1936 ได้มีการลงนามสัญญาระหว่างคูนาร์ดไลน์กับผู้สนับสนุนทางการเงินจากรัฐบาลอย่างเป็นทางการ[9]

    เรือลำใหม่มีการปรับปรุงการออกแบบจากเรือควีนแมรีหลายอย่าง[10] เช่น ลดจำนวนหม้อไอน้ำลงเหลือ 12 ตัว จากเดิมที่มี 24 ตัวบนควีนแมรี การเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้สามารถลดจำนวนปล่องไฟลง 1 ปล่อง เพื่อเพิ่มพื้นที่สำหรับดาดฟ้าบรรทุกสินค้าและผู้โดยสาร ปล่องไฟทั้งสองได้รับการออกแบบให้ยึดตัวเองได้โดยไม่ต้องใช้สายยึดด้านนอก และมีการตรึงภายในเพื่อให้ดูสวยงาม นอกจากนี้ ยังมีการยกเลิกการใช้เวลล์เด็ก (well deck - ช่องว่างที่ต่ำกว่าระดับดาดฟ้าหลัก มักใช้สำหรับขนถ่ายสินค้าที่หัวเรือ) ทำให้ได้รูปทรงของตัวเรือที่เพรียวลมยิ่งขึ้น อีกทั้งยังมีการออกแบบหัวเรือให้แหลมและเฉียงขึ้น เพื่อเพิ่มจุดยึดสมออีก 1 จุด [10] เรือลำใหม่นี้มีความยาวกว่าเรือควีนแมรี 12 ฟุต และมีระวางขับน้ำมากกว่า 4,000 ตัน[11][9]

    แบบจำลองของเรือควีนแมรี (หน้า) และควีนเอลิซาเบธ (หลัง) สร้างโดยจอห์นบราวน์แอนด์คอมพานี จัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์การขนส่งกลาสโกว์

    อาร์เอ็มเอส ควีนเอลิซาเบธ สร้างโดยบริษัทจอห์นบราวน์แอนด์คอมพานี ในไคลด์แบงก์ สกอตแลนด์ บริเตนใหญ่ ระหว่างการสร้าง ตัวเรือมักถูกเรียกด้วยหมายเลขประจำอู่ว่า Hull 552[12] การออกแบบภายในเป็นผลงานของทีมศิลปินที่นำโดยสถาปนิก จอร์จ เกรย์ วอร์นัม[13] บันได โถง และทางเข้า สร้างขึ้นโดย บริษัท เอช.เอช. มาร์ติน แอนด์ โค (H.H. Martyn & Co.)[14] คูนาร์ดไลน์วางแผนให้ปล่อยเรือลงน้ำในเดือนกันยายน 1938 และการตกแต่งภายในจะแล้วเสร็จเพื่อให้เรือเริ่มให้บริการในฤดูใบไม้ผลิปี 1940[9] สมเด็จพระราชินีอลิซาเบธทรงเป็นผู้ประกอบพิธีลงน้ำเรือด้วยพระองค์เองเมื่อวันที่ 27 กันยายน 1938[10] เล่ากันว่า ตัวเรือเริ่มเคลื่อนลงน้ำก่อนที่พระราชินีจะทรงทำพิธีอย่างเป็นทางการ และด้วยความว่องไว พระราชินีทรงสามารถทุบขวดไวน์แดงออสเตรเลียลงที่หัวเรือได้ทันก่อนที่มันจะไหลพ้นระยะ[15] จากนั้นตัวเรือได้ถูกนำไปเทียบท่าเพื่อทำการตกแต่งภายใน[9][10] มีการประกาศว่า ในวันที่ 23 สิงหาคม 1939 สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 และสมเด็จพระราชินีอลิซาเบธจะทรงเสด็จมาเยี่ยมชมเรือและห้องเครื่อง โดยกำหนดวันเดินทางเที่ยวปฐมฤกษ์ไว้เบื้องต้นคือวันที่ 24 เมษายน 1940 แต่เนื่องจากสงครามโลกครั้งที่สอง ทำให้ทั้งสองเหตุการณ์นี้ถูกเลื่อนออกไป และแผนการของคูนาร์ดไลน์ก็ถูกยกเลิก[9]

    เรือควีนเอลิซาเบธจอดเทียบท่าเพื่อทำการตกแต่งภายในจนถึงวันที่ 2 พฤศจิกายน 1939 เมื่อกระทรวงการเดินเรือออกใบอนุญาตพิเศษเพื่อรับรองว่าเรือพร้อมใช้งาน วันที่ 29 ธันวาคม เครื่องยนต์ของเรือได้รับการทดสอบเป็นครั้งแรก ตั้งแต่เวลา 09:00–16:00 น. โดยปลดใบจักรออกเพื่อตรวจสอบอุณหภูมิ แรงดันน้ำมันและไอน้ำ สองเดือนต่อมา คูนาร์ดไลน์ได้รับจดหมายจากวินสตัน เชอร์ชิล[16] ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งลอร์ดเอกแห่งกระทรวงทหารเรือ สั่งให้เรือออกจากไคลด์แบงก์โดยเร็วที่สุดและ "อยู่ให้ห่างจากเกาะอังกฤษตราบที่คำสั่งยังคงมีผล"[ต้องการอ้างอิง]

    สงครามโลกครั้งที่สอง[แก้]

    ในช่วงเริ่มต้นสงครามโลกครั้งที่สอง มีการตัดสินใจอย่างรอบคอบว่า เรือควีนเอลิซาเบธมีความสำคัญอย่างมากต่อความพยายามในการทำสงคราม ด้วยเหตุนี้ การเคลื่อนไหวของเรือจึงต้องถูกปกปิดมิให้สายลับเยอรมันที่ปฏิบัติการในบริเวณไคลด์แบงก์สามารถติดตามได้ แผนอำพรางเรือจึงถูกริเริ่มขึ้น โดยการสื่อสารข้อมูลเท็จว่าเรือจะเดินทางไปเซาแทมป์ตันเพื่อเสร็จสิ้นการตกแต่งภายใน[16] อีกปัจจัยหนึ่งที่เร่งให้เรือออกจากไคลด์แบงก์คือ ต้องเคลียร์พื้นที่ท่าเทียบเรือสำหรับการติดตั้งอุปกรณ์ขั้นสุดท้ายของเรือหลวงดยุกออฟยอร์ก (HMS Duke of York)[16] สำหรับการติดตั้งอุปกรณ์ขั้นสุดท้าย เฉพาะท่าเทียบเรือของจอห์นบราวน์เท่านั้นที่มีขนาดใหญ่พอที่จะรองรับเรือประจัญบานชั้นคิงจอร์จที่ 5 ได้

    เรือนอร์มังดี ควีนแมรี และควีนเอลิซาเบธ ที่ท่าเรือนิวยอร์กในปี 1940

    สิ่งสำคัญประการหนึ่งที่จำกัดวันออกเดินทางของเรือคือ ระดับน้ำในแม่น้ำไคลด์ ในปีนั้นมีน้ำขึ้นสูงเพียงสองครั้งเท่านั้น ที่ระดับน้ำจะสูงพอให้เรือขนาดใหญ่เช่นควีนเอลิซาเบธออกจากอู่ต่อเรือไคลด์แบงก์ได้[16] แย่ไปกว่านั้น ฝ่ายข่าวกรองเยอรมันก็ทราบข้อเท็จจริงนี้อยู่ สำหรับการเดินทางครั้งนี้ มีการจัดสรรพกำลังพลเพียง 400 นายเท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่ถูกย้ายมาจากเรืออาร์เอ็มเอส แอควิเทเนีย (RMS Aquitania) โดยได้รับคำสั่งปลอมว่าเป็นเพียงการเดินทางชายฝั่งระยะสั้นไปยังเซาแทมป์ตัน[16] มีการส่งชิ้นส่วนต่าง ๆ ไปยังเซาแทมป์ตันล่วงหน้า และเตรียมความพร้อมสำหรับการนำเรือควีนเอลิซาเบธ เข้าสู่อู่แห้งคิงจอร์จที่ 5 เพื่อตกแต่งภายในขั้นสุดท้าย[16] เพื่อสร้างหลักฐานปลอม ชื่อของพนักงานอู่ต่อเรือของจอห์นบราวน์จึงถูกจองไว้ที่โรงแรมต่าง ๆ ในเซาแทมป์ตัน นอกจากนี้ กัปตันจอห์น ทาวน์ลีย์ (John Townley) ก็ได้รับแต่งตั้งเป็นกัปตันคนแรกของเรือควีนเอลิซาเบธ ทาวน์ลีย์เคยมีประสบการณ์เป็นกัปตันเรือแอควิเทเนียมาแล้วหนึ่งเที่ยว และเคยเป็นกัปตันเรือขนาดเล็กหลายลำของคูนาร์ดมาก่อน ทั้งทาวน์ลีย์และลูกเรือ 400 คนได้รับแจ้งจากตัวแทนบริษัทก่อนออกเดินทาง ให้เตรียมสัมภาระสำหรับการเดินทางไกล โดยแจ้งว่าพวกเขาอาจจะไม่ได้กลับบ้านนานถึง 6 เดือน[17]

    เมื่อเข้าสู่ช่วงต้นเดือนมีนาคม 1940 เรือควีนเอลิซาเบธ ก็พร้อมสำหรับการเดินทางลับ สีประจำบริษัทคูนาร์ดเดิมถูกทาทับด้วยสีเทาเข้มแบบเรือรบ และในเช้าวันที่ 3 มีนาคม เรือได้ออกจากท่าจอดเรือในแม่น้ำไคลด์อย่างเงียบเชียบ แล่นออกจากแม่น้ำเพื่อแล่นต่อไปตามชายฝั่ง ระหว่างทางได้พบกับทูตของกษัตริย์[16] ซึ่งนำเอาคำสั่งปิดผนึกมามอบให้กับกัปตันโดยตรง ขณะรอคอยทูตของกษัตริย์ เรือควีนเอลิซาเบธได้ทำการเติมเชื้อเพลิง ปรับเข็มทิศ และทดสอบอุปกรณ์บางอย่างเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนที่จะมุ่งหน้าสู่จุดหมายปลายทางอันเป็นความลับ

    เรือควีนเอลิซาเบธถูกทาสีเทาแบบเรือรบเพื่อใช้ในยามสงคราม หลังจากเพิ่งขนส่งทหารไปยังตะวันออกกลางในปี 1942
    อาร์เอ็มเอส ควีนเอลิซาเบธ ในฐานะเรือขนส่งทหารในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง

    กัปตันทาวน์ลีย์เพิ่งทราบภายหลังว่า เขาต้องนำเรือมุ่งตรงไปยังนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ซึ่งขณะนั้นยังเป็นประเทศที่วางตัวเป็นกลาง โดยไม่ได้รับอนุญาตให้หยุดแวะพักหรือแม้แต่ชะลอความเร็วเพื่อส่งพนักงานนำร่องท่าเรือเซาแทมป์ตันที่ขึ้นมาประจำเรือตั้งแต่ไคลด์แบงก์ลงจากเรือ และต้องรักษาความเงียบทางวิทยุอย่างเคร่งครัด ในวันนั้นเอง ช่วงเวลาที่เรือควีนเอลิซาเบธควรจะเดินทางถึงเซาแทมป์ตัน กลับกลายเป็นว่าเมืองดังกล่าวถูกกองทัพอากาศเยอรมันทิ้งระเบิดอย่างหนัก[16] เรือควีนเอลิซาเบธแล่นข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกเป็นรูปซิกแซก เพื่อหลบหนีเรือดำเยอรมัน (U-boat) ใช้เวลาเดินทาง 6 วัน ด้วยความเร็วเฉลี่ย 26 นอต เมื่อมาถึงนครนิวยอร์ก เรือได้เทียบท่าข้างเรือควีนแมรี และเรือนอร์มังดีของฝรั่งเศส ซึ่งถือเป็นครั้งเดียวในประวัติศาสตร์ที่เรือเดินสมุทรขนาดใหญ่ที่สุดในโลก 3 ลำมาจอดเทียบท่าข้างกัน[16] เมื่อเดินทางถึงนครนิวยอร์กแล้ว กัปตันทาวน์ลีย์ได้รับโทรเลขสองฉบับ ฉบับแรกจากภรรยาแสดงความยินดีกับภารกิจสำเร็จ อีกฉบับจากสมเด็จพระราชินีอลิซาเบธ ทรงขอบคุณสำหรับการนำเรือมาส่งอย่างปลอดภัย หลังจากนั้นเรือควีนเอลิซาเบธก็ถูกจัดการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด ไม่อนุญาตให้ผู้ใดขึ้นเรือโดยไม่ได้รับอนุญาตล่วงหน้า แม้แต่เจ้าหน้าที่ท่าเรือเองก็ตาม[16]

    เรือควีนเอลิซาเบธออกเดินทางจากท่าเรือนิวยอร์ก เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 1940 มุ่งหน้าสู่สิงคโปร์ เพื่อเข้ารับการปรับเปลี่ยนเป็นเรือขนส่งทหาร[9] ระหว่างทางได้แวะพักเติมเชื้อเพลิงและเสบียงที่ตรินิแดดและเคปทาวน์ สุดท้ายก็เดินทางถึงอู่ทหารเรือที่สิงคโปร์ ที่นี่เรือได้รับการติดตั้งปืนกลต่อสู้อากาศยาน และตัวเรือก็ถูกทาสีเทาใหม่[ต้องการอ้างอิง]

    เรือควีนเอลิซาเบธเดินทางออกจากสิงคโปร์ในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 1942 และเดินทางมาถึงเอสกิมัลต์ รัฐบริติชโคลัมเบีย ประเทศแคนาดา อย่างลับ ๆ ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 1942 ระหว่างนั้น เรือได้เข้ารับการปรับปรุงภายในอู่แห้ง เพื่อเพิ่มห้องพักและติดตั้งอาวุธยุทโธปกรณ์ และเหล่าช่างเรือกว่า 300 คนก็รีบเร่งทาสีตัวเรือใหม่[18] ในช่วงกลางเดือนมีนาคม เรือควีนเอลิซาเบธได้บรรทุกทหารอเมริกัน 8,000 นาย ออกเดินทางไกล 7,700 ไมล์ จากซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา ไปยังซิดนีย์ ออสเตรเลีย[19] ก่อนหน้านั้น เรือเคยทำหน้าที่ขนส่งทหารออสเตรเลียไปยังสมรภูมิต่าง ๆ ในเอเชียและแอฟริกา[20] ต่อมาหลังปี 1942 เรือควีนเอลิซาเบธพร้อมด้วยเรือควีนแมรี ก็ถูกย้ายไปประจำการที่มหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ เพื่อทำหน้าที่ลำเลียงทหารอเมริกันไปยังยุโรป[20]

    เรือควีนเอลิซาเบธและควีนแมรี ต่างทำหน้าที่เป็นเรือขนส่งทหารตลอดช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง[21] ความเร็วสูงของเรือทั้งสองลำช่วยให้พวกมันหลบหนีอันตราย โดยเฉพาะเรือดำน้ำเยอรมัน ทำให้เรือทั้งสองลำมักจะได้รับอนุญาตให้แล่นนอกกองเรือเสมอ[17] อย่างไรก็ตาม เรือควีนเอลิซาเบธก็เคยเกือบถูกโจมตีโดยเรือดำน้ำ U-704 ซึ่งยิงตอร์ปิโดใส่ 4 ลูกเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 1942[22] ผู้บังคับการเรือดำน้ำ นายพลเรือ ฮอสท์ วิลเฮล์ม เคสส์เลอร์ (Horst Wilhelm Kessler) รายงานว่าได้ยินเสียงระเบิด[22] และทางฝ่ายโฆษณาชวนเชื่อของนาซีเยอรมันก็ประกาศข่าวปลอมว่าเรือควีนเอลิซาเบธถูกจมลง[23] แต่ความจริงแล้ว ตอร์ปิโดลูกหนึ่งเกิดระเบิดก่อนเวลาอันควร ส่งผลให้เรือควีนเอลิซาเบธไม่ได้รับความเสียหายใด ๆ[24]

    ในฐานะเรือขนส่งทหารตลอดช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เรือควีนเอลิซาเบธ บรรทุกทหารไปแล้วมากกว่า 750,000 นาย และแล่นไปไกลกว่า 800,000 กิโลเมตร (500,000 ไมล์)[9]

    หลังสงครามโลกครั้งที่ 2[แก้]

    ปีสุดท้าย[แก้]

    ในนิยาย[แก้]

    ในปี พ.ศ. 2502 เรือควีนอลิซาเบธได้ปรากฏตัวในภาพยนตร์ตลกเสียดสีของอังกฤษเรื่อง The Mouse That Roared นำแสดงโดย ปีเตอร์ เซลเลอร์ส และ ฌอง ซีเบิร์ก ขณะที่คณะผู้รุกรานจาก "แกรนด์ เฟนวิค" ซึ่งเป็นชาติย่อยของยุโรปในจินตนาการ ข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกเพื่อทำสงครามกับสหรัฐฯ พวกเขาพบและได้ผ่านเรือควีนเอลิซาเบธที่ใหญ่กว่ามาก และได้รู้ว่าท่าเรือนิวยอร์กถูกปิดเนื่องจากการฝึกซ้อมการโจมตีทางอากาศ[25]

    ซากเรือควีนอลิซาเบธปรากฏในภาพยนตร์เจมส์ บอนด์เรื่อง 007 เพชฌฆาตปืนทอง ในปี พ.ศ. 2517 โดยเป็นสำนักงานใหญ่ลับของ MI6[26][27]

    ซากเรือนี้ยังปรากฏในฉากย้อนอดีตในตอนของ มังกรอเมริกัน: เจค ลอง

    อ้างอิง[แก้]

    1. Pride of the North Atlantic, A Maritime Trilogy, David F. Hutchings. Waterfront 2003
    2. John Shephard, The Cunard – White Star liner Queen Elizabeth
    3. RMS Queen Elizabeth – Maiden Voyage after War – Cunard – Original footage, British Movietone News via youtube
    4. "RMS Queen Elizabeth". www.relevantsearchscotland.co.uk. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 21 September 2022. สืบค้นเมื่อ 21 September 2022.
    5. "Big Liners Steel Frame Work Rises as Workers Speed Up" Popular Mechanics, left-side pg 346. Hearst Magazines. September 1937.
    6. "RMS Quen Elizabeth - 1939".
    7. "Classic Liners and Cruise Ships – Queen Elizabeth". Cruiseserver.net. สืบค้นเมื่อ 17 May 2012.
    8. RMS Queen Elizabeth from Victory to Valhalla. pp. 10
    9. 9.0 9.1 9.2 9.3 9.4 9.5 9.6 "Cunard Queen Elizabeth 1940 – 1972". Cunard.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2 January 2010. สืบค้นเมื่อ 17 May 2012.
    10. 10.0 10.1 10.2 10.3 Maxtone-Graham, John. The Only Way to Cross. New York: Collier Books, 1972, p. 355
    11. Pathé, British. "Sister Ship To The Queen Mary". www.britishpathe.com.
    12. RMS Queen Elizabeth, The Beautiful Lady. Janette McCutcheon, The History Press Ltd (8 November 2001)
    13. The Liverpool Post, 23 August 1937
    14. John Whitaker (1985). The Best. p. 238.
    15. Hutchings, David F. (2003) Pride of the North Atlantic. A Maritime Trilogy, Waterfront.
    16. 16.00 16.01 16.02 16.03 16.04 16.05 16.06 16.07 16.08 16.09 Maxtone-Graham 1972, p. 358–60
    17. 17.0 17.1 Floating Palaces. (1996) A&E. TV Documentary. Narrated by Fritz Weaver
    18. "Queen Elizabeth".
    19. The RMS Queen Elizabeth (1942) Zacha's Bay Window Gallery
    20. 20.0 20.1 "Rms. Queen Elizabeth". Ayrshire Scotland. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 8 January 2009. สืบค้นเมื่อ 17 May 2012.
    21. "Two Ships Helped End WWII". สืบค้นเมื่อ 16 Aug 2020.
    22. 22.0 22.1 Blair, Clay (2000). Hitler's U-Boat War: The Hunted, 1942–1945. New York: Modern Library. p. 107.
    23. "Image". rmhh.co.uk. สืบค้นเมื่อ 2024-01-31.
    24. "HISTORY - The CUNARD - WHITE STAR Liner rms QUEEN ELIZABETH (1938-1972)". earlofcruise.blogspot.com. สืบค้นเมื่อ 2024-01-31.
    25. "The Mouse That Roared (1959) Trivia". IMDB. IMDB.com. สืบค้นเมื่อ 28 June 2019.
    26. "RMS Queen Elizabeth". สืบค้นเมื่อ 5 March 2015.
    27. Hann, Michael (3 October 2012). "My favourite Bond film: The Man with the Golden Gun". The Guardian. สืบค้นเมื่อ 5 March 2015.

    อ่านเพิ่มเติม[แก้]