หอส่งสัญญาณโทรทัศน์เคียฟ

พิกัด: 50°28′16″N 30°27′12″E / 50.47111°N 30.45333°E / 50.47111; 30.45333
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
หอส่งสัญญาณโทรทัศน์เคียฟ
Ки́ївська телеве́жа
หอส่งสัญญาณโทรทัศน์เคียฟในปี 2014
หอส่งสัญญาณโทรทัศน์เคียฟตั้งอยู่ในประเทศยูเครน
หอส่งสัญญาณโทรทัศน์เคียฟ
ข้อมูลทั่วไป
ประเภทหอส่งสัญญาณโทรทัศน์ทรงแลตทิซ
ที่ตั้งเคียฟ ประเทศยูเครน
พิกัด50°28′16″N 30°27′12″E / 50.47111°N 30.45333°E / 50.47111; 30.45333
เริ่มสร้าง1968
แล้วเสร็จ1973
เปิดใช้งาน1973
ความสูง385 m (1,263 ft)
ข้อมูลทางเทคนิค
ลิฟต์2

หอส่งสัญญาณโทรทัศน์เคียฟ (ยูเครน: Ки́ївська телеве́жа) หรือ หอส่งสัญญาณโทรทัศน์ (Телевізі́йна ве́жа) เป็นหอส่งสัญญาณโทรทัศน์ทรงแลตทิซ ความสูง 385 เมตร (1,263 ฟุต)[1] ในเคียฟ ประเทศยูเครน และเป็นสิ่งก่อสร้างที่สูงที่สุดในประเทศ[2] หอคอยใช้เพื่อการส่งสัญญาณวิทยุและโทรทัศน์ และไม่เปิดให้สาธารณชนเข้าเยี่ยมชมหรือขึ้นหอคอย[1] หอคอยเคยเป็นหอคอยเหล็กเดี่ยวที่สูงที่สุดในโลก[1][2] จนกระทั่งในปี 2012 ถูกทำลายสถิติโดยโตเกียวสกายทรีในประเทศญี่ปุ่น

หอคอยเริ่มก่อสร้างในปี 1968[3] แล้วเสร็จในปี 1973[2] มูลค่าก่อสร้าง 12 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ หอคอยมีความพิเศษโดดเด่นที่โครงสร้างของหอไม่ใช้ตัวยึดเชิงกล (mechanical fastener) เช่นหมุดย้ำ (rivet) แต่ทุกมุม ท่อ และโครงสร้างของหอนั้นยึดเข้าด้วยกันด้วยการเชื่อมโลหะทั้งหมด หอคอยนี้ถือเป็นหอคอยแรกในโลกที่โครงสร้างสร้างขึ้นโดยใช้การเชื่อมโลหะเข้ากันทั้งหมด[2]

แรกเริ่ม หอคอยนี้ออกแบบมาเพื่อสร้างในมอสโกซึ่งในเวลานั้นเป็นเมืองหลวงของสหภาพโซเวียต แต่ทางการมอสโกขอหอคอยที่ดูทึบตันกว่านี้ และหอคอยดังที่ทางการร้องขอก็ได้สร้างขึ้นในที่สุด ซึ่งก็คือหอคอยออสตันคีโน ต่อมาเมื่อเคียฟต้องการมีหอส่งสัญญาณของตนเองจึงมีการพิจารณาโครงการหอคอยนี้ใหม่อีกครั้ง ทางการโซเวียตมีคำสั่งให้ลดความสูงของหอคอยใหม่ในเคียฟนี้ลง 30% เพื่อที่จะได้ไม่สูงเท่าหอคอยในมอสโก[4][5] หอคอยสร้างขึ้นบนพื้นที่ที่อดีตคือสุสานชาวยิวในลูเกียนิวกาหลังสุสานปิดตัวอย่างเป็นทางการในปี 1966 และได้มีการจัดแจงให้ญาติมาจัดการย้ายศพในสุสานไปฝังที่สุสานอื่น แต่ศพจำนวนมากไม่ได้ถูกย้ายออกเนื่องจากมีชาวยิวในเคียฟจำนวนมากที่เสียชีวิตไปในการสังหารหมู่ที่บาบึนยาร์ สำหรับศพที่ไม่ได้ย้ายออก ได้ใช้การทุบป้ายหลุมศพออกแทน[6][7][8][9]

ในวันที่ 1 มีนาคม 2022 หอคอยถูกโจมตีด้วยขีปนาวุธจากกองทัพรัสเซียซึ่งพยายามเข้ารุกเคียฟระหว่างการรุกรานยูเครนโดยรัสเซีย ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจากการโจมตีหอคอยห้าราย[10] อันตอน แฮรัชแชนกอ ที่ปรึกษารัฐยูเครน ระบุว่าเป็นความพยายามของกองทัพรัสเซียที่จะรบกวนการส่งสัญญาณสื่อสาร[11] สำนักข่าว เดอะเคียฟอินดิเพนเดนต์ ระบุว่าช่องโทรทัศน์ยูเครนถูกตัดการเผยแพร่จากการโจมตีครั้งนี้[12] รัฐมนตรีการต่างประเทศยูเครนประณามการโจมตีครั้งนี้ว่าป่าเถื่อน เนื่องจากหอคอยตั้งอยู่ติดกันกับอนุสรณ์สถานผู้เสียชีวิตจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์บาบึนยาร์[13]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 Kiev TV Tower บน Emporis. Retrieved 2022-03-01.
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 แม่แบบ:SkyscraperPage
  3. "Киевская телебашня стала приютом для соколов и стоит без единого болта" (ภาษายูเครน). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-03-19. สืบค้นเมื่อ 2018-03-18.
  4. В. Стах, "Викрадачі спокою наших осель", Україна Молода, #191, 14.10.2005 (in Ukrainian)
  5. І. Мащенко, "Гулівери земних споруд", Zerkalo Nedeli, #16 (340) 21-27.04.2001 (in Ukrainian) เก็บถาวร 2012-05-30 ที่ archive.today
  6. "Kiev Jewish Cemetery Reported Being Erased; Community Has No Rabbi". Jewish Telegraphic Agency (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 25 April 1966. สืบค้นเมื่อ 1 March 2022.
  7. "The Jewish cemetery in Kiev". centropa.org (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 1 March 2022.
  8. "Reconstitution of the historical memory of the Lukianivka Jewish Cemetery. | Бабин Яр". babynyar.gov.ua. สืบค้นเมื่อ 2 March 2022.
  9. "Лукьяновское еврейское кладбище в Киеве – MEMORYON". memoryon.net (ภาษารัสเซีย). สืบค้นเมื่อ 2 March 2022.
  10. "Ukraine says five people killed in Russian attack on Kyiv TV tower". Reuters. 2022-03-01. สืบค้นเมื่อ 2022-03-01.
  11. "Attack on Kyiv: TV Tower struck by missile as Russia warns residents to flee the capital". LBC. 2022-03-01. สืบค้นเมื่อ 2022-03-01.
  12. "Russian attack hits Kyiv television tower, Ukrainian official says". Al Jazeera. 2022-03-01. สืบค้นเมื่อ 2022-03-01.
  13. "Ukraine condemns Russian attack on Kyiv TV tower near Holocaust memorial site". Reuters. 2022-03-01. สืบค้นเมื่อ 2022-03-01.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

ก่อนหน้า หอส่งสัญญาณโทรทัศน์เคียฟ ถัดไป
สถิติ
โตเกียวทาวเวอร์ หอคอยทรงแลตทิซที่สูงที่สุดในโลก
385 m (1263 ft)

(1973–2012)
โตเกียวสกายทรี