หมู่วิหารตาฮัจรัต

พิกัด: 35°55′07″N 14°22′07″E / 35.9185°N 14.3686°E / 35.9185; 14.3686
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
หมู่วิหารตาฮัจรัต
ทางเข้าวิหารใหญ่ของหมู่วิหารตาฮัจรัต
หมู่วิหารตาฮัจรัตตั้งอยู่ในประเทศมอลตา
หมู่วิหารตาฮัจรัต
ที่ตั้งหมู่วิหารตาฮัจรัตในประเทศมอลตา
ที่ตั้งลิมจาร์ มอลตา
พิกัด35°55′07″N 14°22′07″E / 35.9185°N 14.3686°E / 35.9185; 14.3686
ประเภทวิหาร
ความเป็นมา
วัสดุหินปูน
สร้างประมาณ 3,600–3,200 ปีก่อน ค.ศ.
สมัยระยะจกันตียา
ระยะฮัลซัฟลีนี
หมายเหตุเกี่ยวกับสถานที่
ขุดค้นค.ศ. 1923–1961
ผู้ขุดค้นทิมิสโตคลีส แซมมิต
จอห์น เดวีส์ เอวันส์
เดวิด เอช. ทรัมป์
สภาพซากปรักหักพัง
ผู้ถือกรรมสิทธิ์รัฐบาลมอลตา
ผู้บริหารจัดการเฮริทิจมอลตา
การเปิดให้เข้าชมเปิด
เว็บไซต์เฮริทิจมอลตา
วิหารหินใหญ่แห่งมอลตา
(หมู่วิหารตาฮัจรัต) *
  แหล่งมรดกโลกโดยยูเนสโก
วิหารใหญ่ของตาฮัจรัต มองจากทิศตะวันตกเฉียงเหนือ
ประเทศ มอลตา
ภูมิภาค **ยุโรปและอเมริกาเหนือ
ประเภทมรดกทางวัฒนธรรม
เกณฑ์พิจารณา(iv)
อ้างอิง132
ประวัติการขึ้นทะเบียน
ขึ้นทะเบียน1980 (คณะกรรมการสมัยที่ 4)
เพิ่มเติม1992, 2015
พื้นที่0.154 เฮกตาร์ (0.38 เอเคอร์)
พื้นที่กันชน60 เฮกตาร์ (150 เอเคอร์)
* ชื่อตามที่ได้ขึ้นทะเบียนในบัญชีแหล่งมรดกโลก
** ภูมิภาคที่จัดแบ่งโดยยูเนสโก

หมู่วิหารตาฮัจรัต (มอลตา: It-Tempji Ta' Ħaġrat) ในหมู่บ้านลิมจาร์ ประเทศมอลตา ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกยูเนสโกเช่นเดียวกับวิหารหินใหญ่อื่น ๆ อีกหลายแห่งในมอลตา[1] ตาฮัจรัตเป็นหนึ่งในศาสนสถานที่เก่าแก่ที่สุดในโลก วิหารหลังใหญ่กว่ามีอายุอยู่ในระยะจกันตียา (3,600–3,200 ปีก่อนคริสต์ศักราช)[2] ในขณะที่วิหารหลังเล็กกว่ามีอายุอยู่ในระยะฮัลซัฟลีนี (3,300–3,000 ปีก่อนคริสต์ศักราช)[2]

ที่ตั้ง[แก้]

ตาฮัจรัตตั้งอยู่ที่รอบนอกทิศตะวันออกของหมู่บ้านลิมจาร์ ห่างจากหมู่วิหารสกอร์บาประมาณ 1 กิโลเมตร[3] ด้านหน้าอาคารตาฮัจรัตมีลักษณะคล้ายกับด้านหน้าอาคารสกอร์บา[2]

หมู่วิหาร[แก้]

การขุดพบชั้นเครื่องปั้นดินเผาแสดงให้เห็นว่าเคยมีหมู่บ้านตั้งอยู่บนพื้นที่นี้และมีอายุเก่าแก่กว่าตัววิหาร เครื่องปั้นดินเผายุคแรกนี้มีอายุอยู่ในระยะลิมจาร์ (3,800–3,600 ปีก่อนคริสต์ศักราช)[4]

ตาฮัจรัตสร้างขึ้นจากหินปูนปะการังชั้นล่างซึ่งเป็นหินโผล่ชุดที่เก่าแก่ที่สุดในหมู่เกาะมอลตา[5] หมู่วิหารประกอบด้วยวิหาร 2 หลังที่อยู่ติดกัน[2] วิหารน้อยติดกับด้านเหนือของวิหารใหญ่

วิหารทั้งสองมีการวางผังที่ไม่สม่ำเสมอและมีขนาดเล็กกว่าวิหารยุคหินใหม่หลายแห่งในมอลตา[6] นอกจากนี้ยังมีความต่างจากวิหารหินใหญ่อื่น ๆ ตรงที่ไม่พบบล็อกหินที่ผ่านการตกแต่งลวดลาย อย่างไรก็ตาม ยังพบโบราณวัตถุจำนวนหนึ่งในพื้นที่ โบราณวัตถุที่น่าสนใจที่สุดน่าจะเป็นแบบจำลองวิหารชิ้นหนึ่ง[7] ที่แกะสลักจากหินปูนแพลงก์ตอนโกลบิเจอไรนา แบบจำลองนี้มีหลังคาและแสดงให้เห็นโครงสร้างตามแบบฉบับวิหารหินใหญ่ในมอลตา ซึ่งประกอบด้วยโครงสร้างเสากับทับหลังด้านหน้า การก่อผนังด้วยบล็อกหินแคบสลับบล็อกหินกว้าง และการก่อชั้นหินให้เหลื่อมออกมาทีละชั้นเพื่อให้เป็นโครงสร้างด้านบน[8]

วิหารใหญ่[แก้]

วิหารใหญ่ (ซึ่งมีอายุอยู่ในระยะจกันตียา) มีผังเป็นรูปดอกจิกสามแฉกตามแบบฉบับ โดยมีส่วนหน้าเว้าเปิดสู่ลานกว้างครึ่งวงกลม ส่วนหน้าประกอบด้วยช่องประตูขนาดใหญ่ตรงกลางและที่นั่งตรงฐาน[3] บันไดสองขั้นพาไปสู่ทางเข้าหลักและทางเดินที่ขนาบด้วยแผ่นหินปูนปะการังขนาดใหญ่ตั้งตรง[2]

ทางเดินนำไปสู่ลานกลางวิหารซึ่งแผ่ออกเป็นห้องครึ่งวงกลม 3 ห้อง ห้องเหล่านี้ถูกก่อผนังปิดบางส่วนในบางช่วงเวลาของระยะฮัลซัฟลีนี[9] และมีการค้นพบเศษเครื่องปั้นดินเผาภายในผนังที่ว่านี้ มุขโค้งของแต่ละห้องสร้างด้วยผนังหินสกัดหยาบ การก่อชั้นหินเหนือผนังให้เหลื่อมออกมาทีละชั้นบ่งชี้ว่าวิหารนี้เคยมีหลังคาคลุม[2]

มีการค้นพบประติมากรรมวิหารแกะสลักที่นี่ เป็นแบบจำลองขนาดเล็กที่แกะสลักจากหินปูนโกลบิเจอไรนาและได้รับการค้นพบใน ค.ศ. 1923[7]

วิหารน้อย[แก้]

วิหารน้อย (ซึ่งมีอายุอยู่ในระยะฮัลซัฟลีนี) ตั้งอยู่ทางด้านเหนือและมีความยาว 6 เมตรครึ่ง มีทางเข้าถึงจากมุขโค้งด้านตะวันออกของวิหารใหญ่ วิหารหลังนี้สร้างด้วยหินก้อนเล็กกว่าและแสดงถึงความไม่สมบูรณ์ของการออกแบบที่ถูกมองว่ามีความโบราณหรือเป็นลักษณะเฉพาะของชนบท[10]

การขุดค้น[แก้]

ตาฮัจรัตได้รับการขุดค้นทางโบราณคดีในช่วงระหว่าง ค.ศ. 1923–1926 นำโดยทิมิสโตคลีส แซมมิต ซึ่งในขณะนั้นเป็นผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ ต่อมาได้รับการขุดค้นอีกครั้งใน ค.ศ. 1954 นำโดยจอห์น เดวีส์ เอวันส์ จากนั้นเดวิด เอช. ทรัมป์ นักโบราณคดีชาวอังกฤษ ได้ระบุอายุโบราณสถานแห่งนี้อย่างแม่นยำหลังการขุดค้นใน ค.ศ. 1961[2]

ตาฮัจรัตมีชื่อรวมอยู่ในรายการโบราณวัตถุสถานของมอลตา ค.ศ. 1925[11]

การบูรณะ[แก้]

ส่วนหน้าของวิหารและช่องประตูได้รับการสืบสร้างขึ้นใหม่ใน ค.ศ. 1937[12]

ระเบียงภาพ[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. "Megalithic Temples of Malta - UNESCO World Heritage Centre". Whc.unesco.org. สืบค้นเมื่อ 2010-09-12.
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 2.5 2.6 "Heritage Malta". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2 ตุลาคม 2008. สืบค้นเมื่อ 2 ตุลาคม 2008.
  3. 3.0 3.1 Trump, Cilia. "Malta Prehistory and Temples": 154. {{cite journal}}: Cite journal ต้องการ |journal= (help)
  4. Trump, Cilia. "Malta Prehistory and Temples": 155. {{cite journal}}: Cite journal ต้องการ |journal= (help)
  5. "Geology". Semide-mt.org. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2012. สืบค้นเมื่อ 12 กันยายน 2010.
  6. Żammit, Mayrhofer. "The Prehistoric Temples of Malta and Gozo": 142. {{cite journal}}: Cite journal ต้องการ |journal= (help)
  7. 7.0 7.1 "Ta Hagrat - Mgarr - Temple Model". Megalithics.com. สืบค้นเมื่อ 2010-09-12.
  8. Zammit T., "Ta Hagrat Megalithic Ruins at Mgarr, Malta" Bulletin of the Museum, Malta, I, i, 5, 1929.
  9. Trump. "Malta: An Archaeological Guide": 139. {{cite journal}}: Cite journal ต้องการ |journal= (help)
  10. Trump. "Malta: An Archaeological Guide": 140. {{cite journal}}: Cite journal ต้องการ |journal= (help)
  11. "Protection of Antiquities Regulations 21st November, 1932 Government Notice 402 of 1932, as Amended by Government Notices 127 of 1935 and 338 of 1939". Malta Environment and Planning Authority. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 19 เมษายน 2016.
  12. The Megalithic Portal and Megalith Map. "Ta' Hagrat Ancient Temple : The Megalithic Portal and Megalith Map". Megalithic.co.uk. สืบค้นเมื่อ 2010-09-12.