สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
Office Of Natural Resources and Environmental Policy and Planning
ตราสัญลักษณ์
ภาพรวมหน่วยงาน
ก่อตั้ง19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2518[1]
เขตอำนาจทั่วราชอาณาจักรไทย
สำนักงานใหญ่ซอยพิบูลวัฒนา 7 ถนนพระรามที่ 6 แขวงพญาไท เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร
ฝ่ายบริหารหน่วยงาน
  • ประเสริฐ ศิรินภาพร[2], เลขาธิการ
  • จิรวัฒน์ ระติสุนทร, รองเลขาธิการ
  • อินทิรา เอื้อมลฉัตร, รองเลขาธิการ
เว็บไซต์http://www.onep.go.th

สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (อังกฤษ: Office Of Natural Resources and Environmental Policy and Planning) เป็นหน่วยงานระดับกรม ในสังกัดของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีหน้าที่กำหนดนโยบายแผนการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม โดยเสนอแนะนโยบายและแผนการอนุรักษ์และบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม

ประวัติ[แก้]

เนื่องจากปัญหาสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม รัฐบาลจึงได้ประกาศพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2518 ซึ่งประกอบด้วยสำนักงาน ในช่วงแรกใช้ชื่อว่า คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ

ในปี พ.ศ. 2521 และ 2522 ได้ถูกย้ายสังกัดไปอยู่กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและการพลังงาน

ในปี พ.ศ. 2535 รัฐบาลได้ประกาศพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 มีผลให้เกิดหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมขึ้น 3 หน่วยงาน คือ สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม, กรมควบคุมมลพิษ และกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม

เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2545 กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมได้โอนสำนักงานไปเป็นสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม[3]

ภารกิจ[แก้]

  1. จัดทำนโยบายและแผนการอนุรักษ์และบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
  2. ประสานและจัดทำแผนการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และดำเนินการอื่นให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งประสานจัดการเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม
  3. ศึกษา วิเคราะห์ ประสาน และดำเนินการให้มีประกาศเขตพื้นที่ และมาตรการคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
  4. ติดตาม และประเมินผลการดำเนินงานตามนโยบาย แผน และมาตรการและจัดทำรายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อม
  5. ดำเนินการเกี่ยวกับการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้นจากโครงการหรือกิจกรรมของภาครัฐหรือเอกชน ซึ่งมีแนวโน้มที่จะก่อให้เกิดผลเสียหายต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม
  6. บริหารงานกองทุนสิ่งแวดล้อมให้มีประสิทธิภาพ เพื่อสนับสนุนนโยบาย แผนและมาตรการ และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในทุกภาคส่วน
  7. เสนอความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาในการกำหนดนโยบาย และแนวทางการบริหารที่ดินและทรัพยากรดิน การวางแผนการถือครองที่ดิน การสงวนและพัฒนาที่ดินเพื่อจัดให้แก่ประชาชน และการสงวนหรือหวงห้ามที่ดินของรัฐ
  8. ประสานความร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศและต่างประเทศในการดำเนินการร่วมด้านนโยบายและแผนการอนุรักษ์และบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
  9. เสนอความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาในการกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศ การกักเก็บ และการปลดปล่อยแก๊สเรือนกระจก รวมทั้งศึกษา วิจัย และพัฒนาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
  10. เสนอความคิดเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาในการกำหนดนโยบายและแผน การอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน ตลอดจนดำเนินการตามพันธกรณีของความตกลงระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางชีวภาพและพื้นที่ชุ่มน้ำ
  11. ปฏิบัติการอื่นใดตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของสำนักงาน หรือตามที่รัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีมอบหมาย[4]

อ้างอิง[แก้]

  1. พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2518 เรียกใช้เมื่อ 10 ตุลาคม 2561
  2. ประกาศสำนักนายรัฐมนตรีเรื่อง แต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ
  3. "ประวัติ สผ. เรียกใช้เมื่อ 10 ตุลาคม 2561". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-09-19. สืบค้นเมื่อ 2018-10-03.
  4. "อำนาจและหน่าที่ของ สผ. เรียกใช้เมื่อ 10 ตุลาคม 2561". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-09-19. สืบค้นเมื่อ 2018-10-03.