ศาสนาในประเทศอิสราเอล

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
กำแพงประจิมและโดมแห่งศิลายอดเนินพระวิหาร
ชาวยิวย่านเมืองเก่าเยรูซาเลม
นักบวชขณะประกอบพิธีกรรมที่โบสถ์พระคูหาศักดิ์สิทธิ์

ศาสนาในประเทศอิสราเอล ถือเป็นวัฒนธรรมและวิถีชีวิตที่โดดเด่นของชาวอิสราเอล เพราะศาสนาถือเป็นสิ่งที่มีบทบาทยิ่งต่อประวัติศาสตร์ประเทศ และประเทศอิสราเอลเป็นชาติเดียวในโลกที่ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนายูดาห์ จากข้อมูลจากสำนักข้อมูลส่วนกลางอิสราเอลเมื่อ พ.ศ. 2554 ระบุว่าประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวยิวร้อยละ 75.4 ชาวอาหรับร้อยละ 20.6 และชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ ร้อยละ 4.1[1] ส่วนข้อมูลการนับถือศาสนาเมื่อ พ.ศ. 2562 ระบุว่าประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนายูดาห์ร้อยละ 74.2 ศาสนาอิสลามร้อยละ 17.8 ศาสนาคริสต์ร้อยละ 2 และลัทธิดรูซร้อยละ 1.6 นอกนั้นนับถือศาสนาอื่น ๆ เช่น ศาสนาสะมาริตัน ศาสนาบาไฮ และไม่นับถือศาสนา รวมกันร้อยละ 4.4[2] สำนักวิจัยพิวจัดอันดับให้ประเทศอิสราเอลเป็นชาติที่ "มีปัญหาการสู้รบในสังคมอันเกิดจากศาสนา" ในอันดับที่ 5 และจัดให้เป็นชาติที่ "มีความขัดแย้งรุนแรงกับคนต่างศาสนา" อันดับที่ 6[3]

ประเทศอิสราเอลไม่มีรัฐธรรมนูญ หากแต่มีกฎหมายพื้นฐานรองรับรัฐธรรมนูญที่ระบุว่าประเทศอิสราเอลเป็น "รัฐยิว" (Jewish state) กฎหมายพื้นฐานนี้จะใช้ควบคู่ไปกับรัฐสภาเดี่ยว (Knesset) การตัดสินใจต่าง ๆ จะขึ้นอยู่กับศาลฎีกาอิสราเอลและกฎหมายจารีตอื่นในปัจจุบัน มีการเสนอการอารักขาการปฏิบัติศาสนกิจบางประการแก่ศาสนิกชนโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายภายในประเทศ[4][5] สำนักวิจัยพิวระบุว่าประเทศอิสราเอลมีข้อจำกัดทางศาสนาอยู่ในระดับ "สูง"[6] โดยเฉพาะนิกายที่ไม่ใช่สายย่อยของศาสนายูดาห์นิกายออร์ทอดอกซ์จะถูกจำกัด[7]

กฎหมายอิสราเอลให้การยอมรับอย่างเป็นทางการห้าศาสนา ทั้งหมดล้วนเป็นศาสนาอับราฮัม ได้แก่ ศาสนายูดาห์ ศาสนาคริสต์ ศาสนาอิสลาม ลัทธิดรูซ และศาสนาบาไฮ นอกจากนี้ยังให้การยอมรับนิกายย่อยของศาสนาคริสต์อย่างเป็นทางการ ได้แก่ นิกายโรมันคาทอลิก นิกายอาร์มีเนียคาทอลิก นิกายมารอไนต์ นิกายกรีกคาทอลิก นิกายซีรีแอกคาทอลิก นิกายแคลเดียนคาทอลิก นิกายอีสเทิร์นออร์ทอดอกซ์ นิกายกรีกออร์ทอดอกซ์ นิกายออเรียนทัลออร์ทอดอกซ์ นิกายซีรีแอกออร์ทอดอกซ์ นิกายอาร์มีเนียอะโพสตาลิก และนิกายแองกลิคัน[8][9] ความสัมพันธ์ทางศาสนา เช่น ยิวกับไม่ใช่ยิว มุสลิมกับคริสต์ศาสนิกชน หรือแม้แต่ชาวยิวด้วยกันเองคือ กลุ่มออร์ทอดอกซ์ กลุ่มปฏิรูป และกลุ่มอนุรักษ์นิยม ทั้งหมดล้วนมีความตึงเครียดบ่อยครั้ง[4]

อ้างอิง[แก้]

  1. Haaretz Service (16 September 2009). "Israel on eve of Rosh Hoshanah: Population hits 7.5m, 75.4% Jewish". Haaretz. https://www.haaretz.com/1.5448149. Retrieved 26 December 2009.
  2. Israel's Independence Day 2019 (PDF) (Report). Israel Central Bureau of Statistics. 6 May 2019. สืบค้นเมื่อ 7 May 2019.
  3. "Israel Has Almost as Many Religious Restrictions as Iran, Pew Report Finds". Haaretz, JTA and Ben Sales. July 17, 2019
  4. 4.0 4.1 "Israel and the Occupied Territories". U.S. Department of State.
  5. "Basic Law: Human Dignity and Liberty".
  6. "Global Restrictions on Religion (Full report)" (PDF). The Pew Forum on Religion & Public Life. December 2009. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 3 March 2016. สืบค้นเมื่อ 12 September 2013.
  7. "U.S. Department of State: 2012 Report on International Religious Freedom: Israel and The Occupied Territories (May 20, 2013)"
  8. Sheetrit, Shimon (20 August 2001). "Freedom of Religion in Israel". Israel Ministry of Foreign Affairs. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 6 February 2013. สืบค้นเมื่อ 26 October 2008.
  9. "Freedom of Religion in Israel". www.jewishvirtuallibrary.org (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 16 May 2017.