ศาสนายาห์เวห์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เศษไหพิธอสพบที่คุนทิลเล็ตอาจรุดในคาบสมุทรไซนายของอียิปต์ จารึกข้อความ "ยาห์เวห์และแอเชราห์ของพระองค์"

ศาสนายาห์เวห์ (อังกฤษ: Yahwism) เป็นชื่อเรียกสมัยใหม่ของศาสนาอิสราเอลโบราณและยูดาห์[1] ศาสนายาห์เวห์เป็นศาสนาหนึ่งในกลุ่มศาสนาเซไมต์โบราณสมัยยุคเหล็ก มีความเชื่อแบบพหุเทวนิยมโดยพื้นฐานและมีกลุ่มเทพและเทวีต่าง ๆ ที่วงศ์วานอิสราเอลนับถือ[2] เทวราชของเหล่าเทพคือพระยาห์เวห์ ซึ่งได้รับการนับถืออย่างสูงในฐานะพระเป็นเจ้าของราชอาณาจักรอิสราเอลทั้งสอง และแอเชราห์ พระชายา[3] รองลงมาเป็นเทพชั้นสอง เช่น บาอัล ชามัช ยาริค มอต และอัสตาร์ตี โดยแต่ละองค์จะมีนักบวชและผู้เผยพระวจนะเฉพาะ นอกจากนี้ยังมีพระราชวงศ์บางส่วนเป็นศาสนิกชน[4][5]

ศาสนายาห์เวห์ประกอบด้วยเทศกาล พิธีสังเวย การกล่าวคำสัตย์ พิธีส่วนตัว และการตัดสินทางศาสนาเพื่อยุติข้อพิพาท[6] มีศาสนสถานหลายแห่งที่อุทิศแด่พระยาห์เวห์ทั่วอิสราเอล ยูดาห์ และสะมาเรียตลอดประวัติศาสตร์ศาสนา ไม่เฉพาะแต่พระวิหารในกรุงเยรูซาเลม[7][8] กระนั้นพระวิหารในกรุงเยรูซาเลมมีความสำคัญสำหรับกษัตริย์แห่งอิสราเอลและยูดาห์ ผู้นำศาสนาในฐานะอุปราชทางโลกของพระเป็นเจ้า[9]

แนวคิดที่ว่ามีเทพองค์อื่นนอกเหนือจากหรือเทียบเท่าพระยาห์เวห์ค่อย ๆ ลดลงจากกระแสความคิดทางศาสนาใหม่ ซึ่งเป็นไปได้ว่าอาจเริ่มในช่วงสหราชอาณาจักรอิสราเอล ราชอาณาจักรอิสราเอลทางเหนือและราชอาณาจักรยูดาห์ทางใต้มีธรรมเนียมร่วมในการนับถือพระยาห์เวห์ ความเปลี่ยนแปลงทางเทววิทยาในยุคหลังเกี่ยวกับสถานะของพระยาห์เวห์จำกัดอยู่ในคนกลุ่มเล็กเมื่อแรกเริ่ม[10] ก่อนจะขยายวงกว้างในช่วงความผันผวนทางการเมืองสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 7–6 ก่อนคริสตกาล ศาสนายาห์เวห์เปลี่ยนผ่านจากพหุเทวนิยม (หรือการนับถือพระยาห์เวห์เป็นหลักในบันทึกบางแหล่ง) สู่เอกเทวนิยมที่พระยาห์เวห์เป็นพระผู้สร้างและเทพองค์เดียวที่ควรค่าแก่การนับถือเมื่อสิ้นสุดการจองจำที่บาบิโลเนีย[11] หลังจากนั้นศาสนิกชนหลายกลุ่มของศาสนายาห์เวห์รวมตัวกันเป็นศาสนายูดาห์สมัยพระวิหารที่สองเมื่อมีการตั้งเยฮุดเมดินาตาในคริสต์ศตวรรษที่ 4 ก่อนคริสตกาล[12][13] ซึ่งเป็นจุดกำเนิดของศาสนายูดาห์และศาสนาสะมาริตัน รวมถึงศาสนาอับราฮัมต่อมาอย่างศาสนาคริสต์และศาสนาอิสลาม

อ้างอิง[แก้]

  1. Miller 2000, p. 1.
  2. Sommer 2009, p.145: It is a commonplace of modern biblical scholarship that Israelite religion prior to the Babylonian exile was basically polytheistic. [...] Many scholars argue that ancient Israelites worshipped a plethora of gods and goddesses [...].
  3. Niehr 1995, p. 54-55.
  4. Handy 1995, pp. 39–40.
  5. Meier 1999, p. 45–46.
  6. Bennett 2002, p. 83.
  7. Davies 2010, p. 112.
  8. Miller 2000, p. 88.
  9. Miller 2000, p. 90.
  10. Albertz 1994, p. 61.
  11. Betz 2000, p. 917 "With the work of the Second Isaiah toward the end of the Babylonian Exile, Israelite monotheism took on a more forceful form of expression. Yahweh is proclaimed as the creator of the cosmos (Isa. 40:21-23, 28). Foreign deities do not exist; there is only one true God, Yahweh (40:12-31; 43:8-13; 46:5-13)."
  12. Moore & Kelle 2011, p. 402.
  13. Pummer 2016, p. 25.