วิ่งเปี้ยว

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ปูเปี้ยวหรือปูก้ามดาบ
การแข่งขันกีฬาวิ่งเปี้ยวชิงแชมป์แห่งประเทศไทย ชิงถ้วยพระราชทาน ครั้งที่ 1 ประจำปี 2561
การแข่งขันกีฬาวิ่งเปี้ยวชิงแชมป์แห่งประเทศไทย ชิงถ้วยพระราชทาน ครั้งที่ 2 ประจำปี 2562

         วิ่งเปี้ยว (อังกฤษ : Chase Race) เป็นกีฬาพื้นบ้านที่มีการเล่นสืบทอดต่อกันมาในอดีต คำว่า “เปี้ยว” มาจากลักษณะของปูเปี้ยว คือปูตัวเล็กสีดำหรือดำเหลือบแดง อาศัยอยู่ตามป่าชายเลน ปูเปี้ยวเป็นปูที่วิ่งเร็ว วิ่งหลบตามรากต้นโกงกางอย่างคล่องแคล่ว ว่องไว รวดเร็ว วิ่งเปี้ยวเป็นการเล่นของผู้เล่น ๒ ฝ่าย ปักหลักให้ห่างกัน ๑๐-๑๕ เมตร ผู้เล่นแต่ละฝ่ายยืนต่อกันเป็นแถวหลังหลัก ผู้เล่นคนแรกถือผ้าหรือธงแล้ววิ่งไปยังหลักของฝ่ายตรงข้าม อ้อมหลักนั้นแล้วกลับมาส่งผ้าให้ผู้เล่นคนต่อไป ผู้เล่นต้องพยายามวิ่งให้ทันฝ่ายตรงข้าม ถ้าใช้ผ้าตีฝ่ายตรงข้ามได้ถือว่าชนะ  เนื่องจากการเล่นต้องวิ่งให้ว่องไวรวดเร็วเหมือนปูเปี้ยว จึงเรียกการเล่นนี้ว่าวิ่งเปี้ยว

ที่มาของชื่อวิ่งเปี้ยว  [แก้]

คำว่า ”เปี้ยว” เป็นชื่อปูชนิดหนึ่ง ตัวเล็กสีดำ ๆ หรือดำเหลือบแดงน้อย ๆ ตัวผู้มีก้ามข้างหนึ่งใหญ่ ชอบชูก้ามข้างที่ใหญ่ อาศัยอยู่ตามป่าชายเลน ปูเปี้ยวสามารถวิ่งได้คล่องแคล่วว่องไวมาก วิ่งหลบตามรากต้นโกงกาง ปูเปี้ยวเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าปูก้ามดาบ[1] ชาวบ้านในสมัยโบราณจึงนำชื่อปูเปี้ยวมาใช้เป็นชื่อการเล่นวิ่งเปี้ยวที่มีลักษณะของการวิ่งเร็ว และความคล่องแคล่วว่องไวสูง  และมีสันนิษฐานว่ากีฬาวิ่งเปี้ยวจะดัดแปลงรูปแบบและวิธีการเล่นมาจากการวิ่งวัวคน โดยพบวรรณคดีสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นได้กล่าวถึงการเล่นวิ่งวัวคน ดังนี้ “...บ้างเล่นวิ่งวัวคนโคระแทะ ชนแพะแกะกระบือคู่ขัน...” [2]

วิ่งเปี้ยวเกิดขึ้นเมื่อไหร่  [แก้]

ไม่มีการจดบันทึกแน่ชัด เป็นการปฏิบัติสืบทอด แต่พบว่าเป็นเกมพื้นเมืองที่เล่นกันเป็นการทั่วไปในอดีตของกรุงเทพมหานคร ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคอื่นๆ ของประเทศแล้ว พบว่า พ.ศ.๒๔๔๓ กระทรวงธรรมการมีการจัดให้มีการแขงขันกรีฑาเฉพาะนักเรียนขึ้นเป็นครั้งแรก ณ บริเวณท้องสนามหลวง กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีการแข่งขันวิ่งเปี้ยวด้วยและได้จัดแข่งขันเป็นประจำเรื่อยมา โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเสด็จพระราชดำเนินมาชมการแข่งขันเป็นประจำทุกปี การแข่งขันกรีฑานักเรียนนี้ได้แพร่หลายจัดในจังหวัดต่างๆ ด้วย เช่น ใน พ.ศ. ๒๔๕๒ (ร.ศ. ๑๒๘) มลฑลภูเก็ต (จังหวัดภูเก็ต) ได้จัดการแข่งขันกรีฑานักเรียนเป็นปีแรก ได้จัดให้มีการแข่งขันเกมและกีฬาประเภทต่างๆ เช่นเดียวกับในกรุงเทพฯ[3]  นอกจากนี้กระทรวงกลาโหมยังมีการแข่งขันยุทธกีฬาขึ้นในปีพ.ศ. ๒๔๕๐ โดยเป็นการแข่งขันเกมและกีฬาต่าง ๆ ของทหารหน่วยต่างๆ ในกองทัพสมัยนั้น ได้แก่ ขี่ม้า วิ่งเปี้ยว ปล้ำบนหลังม้า คนวิ่งเปี้ยว ทหารประจัญบาน ไต่ไม้[4]

เป็นต้น อีกทั้งมีการแข่งขันวิ่งเปี้ยวใน พ.ศ.๒๔๕๑ (ร.ศ. ๑๒๗) ในงานการกรีฑานักเรียนประจำปีของกรมศึกษาธิการ[2]   และใน พ.ศ. ๒๔๕๓ กรมศึกษาธิการก็ได้จัดให้มีการแข่งขันวิ่งเปี้ยวในกรีฑานักเรียนประจำปีด้วย [5] หากมีการจัดการแข่งขันย่อมแสดงให้เห็นว่า วิ่งเปี้ยวมีการเล่นกันอย่างแพร่หลายมานานแล้ว ในโรงเรียนเองก็มักจะเล่นเกมและกีฬาพื้นเมืองต่างๆ นิยมเล่นกันมาก ทำให้ไม่สนใจเรียนเท่าที่ควร ถึงกับทางราชการในสมัยนั้นต้องมีประกาศห้ามนักเรียนไม่ให้เล่น กิจกรรมบางอย่างภายในโรงเรียนเพราะจะเสียการเรียน ดังประกาศของเจ้ากรมโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ เมื่อ ร.ศ. ๑๐๙ ตอนหนึ่งกล่าวว่า “ข้อ ๒ ห้ามมิให้นักเรียนเล่นวิ่งไล่ตีแลช่วงไช…”(ประกาศของหลวงสรยุทธโยธาหาญ เจ้ากรมโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ, ร.ศ. ๑๐๙)[2] ในสมัยรัชกาลที่ ๖ การแข่งขันกรีฑานักเรียนของกรมศึกษาธิการที่กระทำต่อเนื่องมาแทบทุกปีนั้น ก็ได้เลื่อนมาจัดเพื่อเป็นการฉลองในงานเฉลิมพระชนมพรรษาเช่นกัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๖ ก็จะเสด็จทอดพระเนตรอยู่เสมอ ๆ  อีกทั้งมีการกล่าวในวรรณคดีสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์อีกด้วย ในสมัยช่วงรัชกาลที่ ๗ การเล่นเกมและกีฬาพื้นเมืองยังคงมีลักษณะคล้ายกับรัชกาลที่ ๖ คือเป็นการเล่นแข่งขันในงานกรีฑานักเรียนประจำปีของจังหวัดต่างๆ และเป็นการเล่นรื่นเริงตามประเพณีต่างๆ ของชาวบ้าน การแข่งขันกรีฑานักเรียนในช่วงระยะนี้มีการเล่นเกมและกีฬาพิ้นเมืองที่เพิ่มเติม เช่น การแข่งขันกรีฑานักเรียนของกระทรวงธรรมการ ประจำปี พ.ศ. ๒๔๗๒ [6]  และในหลวงรัชกาลที่ ๘ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ในสมัยยังทรงพระเยาว์เรียนอยู่ที่โรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัย (ราวปี พ.ศ. ๒๔๗๓-๒๔๗๔) ทรงโปรดเล่นเกมวิ่งเปี้ยวและกระโดดเชือกเป็นที่สุด[7]

 จากที่ได้กล่าวมาข้างต้น ช่วงรัตนโกสินทร์ตอนกลาง นับได้ว่าเป็นช่วงฟื้นฟูและพัฒนาการเล่นกีฬาพื้นเมืองไทยเพราะนิยมเล่นกันทั้งประเทศ โดยช่วงนี้มิได้มุ่งเน้นที่การต่อสู้ป้องกันตัวเพื่อการสงคราม แต่มุ่งเน้นเพื่อเป็นการเล่นออกกําลังกาย เพื่อความสนุกสนานรื่นเริงเพลิดเพลิน และเพื่อผ่อนคลายความตึงเครียดจากงานประจำ นิยมเล่นในงานเทศกาลตามประเพณีของชาวบ้านโดยทั่วไปทั้งในกรุงเทพมหานครและแทบทุกจังหวัด [8]

วิ่งเปี้ยวในอดีต  [แก้]

วิ่งเปี้ยวยังนิยมจัดให้มีการเล่นแข่งขันเป็นการเฉลิมฉลองในงานพิธีการต่าง ๆ ของทางราชการ และงานรื่นเริงต่างๆของชาวบ้านด้วย การเล่นวิ่งเปี้ยวนับว่าเป็นการเล่นออกกำลังกายของชาวบ้านในสมัยก่อนเป็นอย่างดี เพราะช่วยฝึกหัดให้วิ่งเร็วและมีความทนต่อความเหน็ดเหนื่อย[9] พ.ศ. ๒๔๗๗ - ๒๔๘๐ กีฬาพื้นบ้านมีเล่นอย่างแพร่หลายคึกคักขึ้นอีกระยะหนึ่ง ในงานรื่นเริงปีใหม่ไทย วันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๐ จัดแสดงที่ท้องสนามหลวง กรุงเทพฯ ก็ได้มีการแสดงการละเล่นต่าง ๆ เช่นที่คุ้นหูกันดีอย่าง วิ่งเปี้ยว ฯลฯ[10]  ต่อมาในช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ ประเทศไทยต้องอยู่ในภาวะสงคราม นับตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๘๘ กีฬาพื้นบ้านไทยจึงซบเซาลงอีกครั้งหลังสงคราม แต่ ๒๐ ปีที่ผ่านมา แทบไม่เห็นการเล่นวิ่งเปี้ยวในลานชุมชนหรือสนามเด็กแล้ว จะมีบ้างที่หน่วยงานต่างๆ จัดขึ้นแต่ก็น้อยมากๆ เช่น ในปี พ.ศ ๒๕๓๕ รศ.ขัชชัย โกมารทัต ได้ริเริ่มจัดการแข่งขันกีฬาพื้นเมืองไทย ในมหกรรมกีฬาภายใน ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งได้จัด "วิ่งเปี้ยว" ทั้งประเภทชายและหญิง เป็นหนึ่งในรายการแข่งขันด้วย ในปี พ.ศ ๒๕๕๓ คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย รศ.ชัชชัย โกมารทัต ได้ริเริ่มจัดการแข่งขันมหกรรมกีฬาพื้นเมืองไทยระดับยุวชนและเยาวชน ในกรุงเทพฯ จัดการแข่งขันวิ่งเปี้ยว ทั้งประเทศชายและหญิงเป็นหนึ่งในรายการแข่งขันด้วย และในปี พ.ศ ๒๕๕๘  รศ.ชัชชัย โกมารทัต ไปรับเชิญจากกรมพลศึกษา ให้รับผิดชอบจัดการแข่งขันกีฬาพื้นบ้านไทย ในมหกรรม "กีฬาพื้นบ้านไทย คืนความสุขให้ประชาชน" ใน 4 ภาคทั่วประเทศ จัดรอบชิงชนะเลิศที่สนามเทพหัสดิน สนามกีฬาแห่งชาติ กรุงเทพฯ ซึ่งก็มีจัดแข่งขัน"วิ่งเปี้ยว" ด้วย มีผู้แทนจากจากชุมชน ในจังหวัดต่างๆ เข้าแข่งขันทั่วประเทศ เป็นต้น

            เพลง วิ่งเปี้ยว[11]

           วิ่งเปี้ยว                วิ่งเปี้ยว             วิ่งเลี้ยวอ้อมหลัก

           ใครวิ่งช้านัก          จับถูกฟาดเฟี้ยว

           ฟาดเฟี้ยว             ฟาดเฟี้ยว            ฟาดเฟี้ยว

วิ่งเปี้ยวในปัจจุบัน[แก้]

การแข่งขันกีฬาวิ่งเปี้ยวชิงแชมป์แห่งประเทศไทย ชิงถ้วยพระราชทาน ครั้งที่ 1 ประจำปี 2561

ปัจจุบันวิ่งเปี้ยวได้ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อให้เหมาะสมตามยุคสมัย ในปี ๒๕๖๒ สมาคมวิ่งเปี้ยวประเทศไทย ได้ก่อตั้งขึ้นโดย นายณัทชลัช ผดุงสรรพ[12] และเป็นนายกสมาคม เป็นผู้สืบสานและพัฒนาวิ่งเปี้ยวจากกีฬาพื้นบ้านให้เป็นกีฬาวิ่งเปี้ยว และจัดการแข่งขันวิ่งเปี้ยวชิงแชมป์แห่งประเทศไทย ตั้งแต่ปี ๒๕๖๑ – ปัจจุบัน และในวันที่ ๑๓ พฤษภาคม กรมส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร ได้ประกาศให้วิ่งเปี้ยวเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร ประจำปี 2567[13] สาขา กีฬาพื้นบ้าน และศิลปะต่อสู้ป้องกันตัว

กติกาการเล่น[แก้]

ณ เมืองโบราณ จังหวัดสมุทรปราการ
การแข่งขันวิ่งเปี้ยวชิงแชมป์แห่งประเทศไทย ชิงถ้วยพระราชทานครั้งที่ 4 ประจำปี 2566

ในอดีตวิ่งเปี้ยวเป็นเพียงกีฬาพื้นบ้าน เล่นเพื่อความสนุกสนาน ไม่ได้หวังผลแพ้ชนะมากนัก ไม่ได้เข้าระบบการแข่งขันแบบสากลมันจึงไม่เร้าใจ

กติกาวิ่งเปี้ยวกีฬาพื้นบ้าน  : แบ่งผู้เล่นออกเป็น ๒ ฝ่าย ฝ่ายละอย่างน้อย ๔ คน จุดเริ่มต้นของทั้งสองฝ่ายจะมองเห็นได้ชัดเจน แต่ละฝ่ายถือผ้าหรือไม้ เมื่อกรรมการให้สัญญาณเริ่มการแข่งขัน ให้แต่ละฝ่ายวิ่งไปทางด้านขวาของตนเอง พยายามวิ่งอ้อมหลักทั้ง ๒ หลักไล่ฝ่ายตรงข้ามให้เร็วที่สุด เมื่อวิ่งครบรอบหนึ่งคน ให้ส่งผ้าหรือไม้ให้คนต่อไป คนที่เพิ่งวิ่งเสร็จไปต่อหลังแถว และเวียนรอบไปเรื่อยๆ เมื่อถึงระยะให้ใช้ผ้าหรือไม้ตีที่หลังคนหน้า หากทำได้สำเร็จ ก็เป็นฝ่ายชนะไป

ปัจจุบันสมาคมวิ่งเปี้ยวประเทศไทย ได้พัฒนาวิ่งเปี้ยวจากกีฬาพื้นบ้าน ยกระดับให้ทันยุคสมัยดูเป็นสากลมากขึ้นและจัดการแข่งขันระดับชาติ แต่ยังคงอัตลักษณ์ของวิ่งเปี้ยวไว้อย่างครบถ้วน ดังนี้

พัฒนากติกามาตรฐาน[แก้]

   ๔.๑    ๑ ทีม ประกอบด้วยผู้เล่น ๖ คน โดยลงแข่งครั้งละ ๔ คน (สำรอง ๒ คน)

   ๔.๒    ผู้เล่นจะต้องยืนตามลำดับเบอร์ ๑,๒,๓,๔ ห้ามมิให้สลับเบอร์กันเด็ดขาด

   ๔.๓    ผู้เล่นต้องยืนอยู่หลังเส้น ๓ เมตรประจำหลักวิ่งของตนเองห้ามเหยียบเส้นเด็ดขาด

   ๔.๓    การปล่อยตัว ให้รอฟังสัญญาณปล่อยตัวพร้อมกัน ถ้ามีการออกตัวก่อนเกิดขึ้น ให้ถือว่าเกิดการทำฟาวล์ กรรมการจะให้สัญญานหยุดการแข่งขัน  แล้วให้กลับไปเริ่มใหม่ หากมีการทำฟาวล์ ๒ ครั้งจากทีมเดิม ให้ถือว่าแพ้ฟาวล์ในเกมส์นั้น

   ๔.๕    เส้นข้างสนามห้ามมิให้เหยียบเด็ดขาด

   ๔.๖    ห้ามมิให้มีการผลัก ดึง หรือกีดขวางการวิ่งของคู่แข่ง ถ้ามีการกระทำดังกล่าว จะถือว่าแพ้ฟาวล์ในเกมส์นั้นทันที

   ๔.๗    ห้ามมิให้ผู้เล่น จับ ชน หรือเหนี่ยวเสาหลักในขณะที่กำลังวิ่งอ้อมเสาหลักโดยเด็ดขาด

   ๔.๘    ผู้เล่นต้องวิ่งอ้อมเสาหลักเท่านั้น ห้ามวิ่งตัดเข้าด้านใน โดยเด็ดขาด

   ๔.๙    ผู้เล่นจะต้องรับไม้ผลัดหลังเส้น ๓ เมตรเท่านั้น

   ๔.๑๐  ขณะที่วิ่ง หากผู้เล่นทำไม้ผลัดหลุดมือ ผู้เล่นต้องเป็นผู้เก็บไม้ผลัดที่หล่นขึ้นมาเท่านั้น ห้ามมิให้ผู้อื่นผู้ใดเก็บขึ้นมาให้โดยเด็ดขาด

   ๔.๑๑  ระหว่างการส่งไม้ผลัด หากไม้ผลัดหลุดมือแต่ไม้ผลัดยังไม่สัมผัสมือผู้รับ ให้ผู้ส่งเป็นผู้เก็บไม้ผลัดขึ้นมาส่งให้ผู้รับเท่านั้น ห้ามมิให้ผู้อื่นผู้ใดเก็บขึ้นมาให้โดยเด็ดขาด

   ๔.๑๒  ระหว่างการส่งไม้ผลัด หากไม้ผลัดหลุดมือแต่ไม้ผลัดสัมผัสมือผู้รับแล้ว ให้ผู้รับเป็นผู้เก็บไม้ผลัดขึ้นมาเท่านั้น ห้ามมิให้ผู้อื่นผู้ใดเก็บขึ้นมาให้โดย เด็ดขาด

   ๔.๑๓   จะมีการแพ้ชนะกันได้ต้องใช้ไม้สัมผัสฝ่ายตรงข้ามเท่านั้น

   ๔.๑๔   ในการแข่งขันในแต่ละเกมส์ จะมีเวลากำหนดที่ ๑๐ นาที หากเวลาหมดแต่ยังไม่มีการแพ้ชนะกัน กรรมการผู้ตัดสินจะให้สัญญาณหยุดการแข่งขัน ให้ถือว่ามีผลเสมอกันในเกมส์นั้น

   ๔.๑๕   การแข่งขันจะใช้ระบบ ชนะ ๒ ใน ๓ เกมส์

   ๔.๑๖   เมื่อจบการแข่งขันในแต่ละเกมส์ จะมีเวลาพัก ๓ นาที และให้สลับฝั่งเสาหลัก

   ๔.๑๗   ผู้ฝึกสอนสามารถเข้าในสนามหลังเส้น ๓ เมตรได้จำนวน ๑ คนเท่านั้น

   ๔.๑๘   ผู้เล่นสำรองสามารถเปลี่ยนตัวได้ทุกครั้งที่จบเกมส์

   ๔.๑๙   ผู้เล่นสำรองไม่สามารถเข้าไปในเขตสนามแข่งขันได้

   ๔.๒๐   ผู้เล่นจะต้องใส่ถุงเท้า รองเท้าให้เรียบร้อย

   ๔.๒๑   ผลการตัดสินของกรรมการตัดสินถือเป็นสิทธิ์ขาด

พัฒนาอุปกรณ์การแข่งขัน[แก้]

วิ่งเปี้ยวนับเป็นกีฬาที่เล่นได้ง่าย เพราะ อุปกรณ์มีน้อย หาได้ง่าย ดังนี้

ไม้ผลัดวิ่งเปี้ยว ผลิตจากผ้า

พัฒนาผ้าไม้ผลัด  เป็นไม้ผลัดที่ผลิตจากผ้า ซึ่งตีแล้วไม่เจ็บ

พัฒนาเสาหลัก  ที่จากเดิมที่บ้างก็ใช้เสาเหล็ก เก้าอีก หรือกรวย หรืออะไรก็ตามที่หาได้ในพื้นที่ เป็นเสาหลักวิ่งสี่เหลี่ยมผลิตจาก PU Foam ซึ่งมีลักษณะเบาแข็ง ชนแล้วไม่เจ็บ

กำหนดสนามวิ่งเปี้ยวมาตรฐาน

   - สนามขนาดความยาว ๒๕ เมตร กว้าง ๕ เมตร

   - เสาทั้งสองห่างกัน ๑๐ เมตร

   - กำหนดเส้นหลัง ๓ เมตร

ลักษณะเฉพาะที่แสดงถึงอัตลักษณ์ของวิ่งเปี้ยวฃ[แก้]

·     วิ่งเปี้ยวเป็นกิจกรรมที่เล่นกลางแจ้ง     ความจริงการเล่นกลางแจ้งมีประโยชน์มาก ได้อากาศบริสุทธิ์ อวัยวะต่าง ๆ มีการเคลื่อนไหวเติบโต ผู้ใหญ่ก็เล่นได้ กติกาไม่ซับซ้อน ให้ความสนุกสนาน ตื่นเต้น เล้าใจ ทั้งผู้เล่นและผู้ชม

·     คนไทยช่างสังเกตุ      การเล่นวิ่งเปี้ยว เป็นการวิ่งไล่กัน โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะวิ่งไล่อีกฝ่ายให้ทันผู้เล่นของฝ่ายตรงข้าม ฝ่ายใดวิ่งไล่ทันฝ่ายตรงข้ามได้ ให้ใช้ผ้าตีหรือแตะถูกตัวผู้เล่นอีกฝ่าย ฝ่ายที่ถูกตีจะเป็นฝ่ายแพ้ [14] ด้วยความรวดเร็วเหมือนปูนี้  ย้อนให้เห็นว่าคนไทยในอดีตเป็นคนช่างสังเกต

·     สอนให้รักษาสิ่งของ   วิ่งเปี้ยวในอดีตมีกติกาไม่ให้ผ้าหลุดมือ  หากหลุดมือจะถือว่าแพ้ โดยเป็นการการสอนให้รักและหวงแหนของมีค่า

·     ฝึกความช่างสังเกต ไหวพริบ และการใช้เชาวน์ปัญญา    วิ่งเปี้ยวไม่ใช่การวิ่งแข่งระยะสั้นที่ต้องอาศัยความเร็วเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่คนที่วิ่งยังจะต้องใช้ความคิดและมีสมาธิในการจับจ้องไปที่ผู้เล่นฝ่ายตรงข้าม ว่าจะวิ่งมาทันตนเองแล้วหรือไม่ เพราะหากใครคนใดคนหนึ่งวิ่งช้า ก็มีโอกาสที่ฝ่ายตรงข้ามจะวิ่งตามมาทันได้ ดังนั้นผู้วิ่งคนถัดไปจึงจะต้องรีบวิ่งให้เร็วขึ้นเพื่อเป็นการแก้เกม

·     ฝึกความซื่อสัตย์    เป็นการเล่นเป็นทีม ทำให้เกิดการรักษาระเบียบวินัย ผู้เล่นจะต้องวิ่งไปอ้อมเสาหลักฝ่ายตรงข้าม และวิ่งกลับมาส่งผ้าให้เพื่อนร่วมทีม จากนั้นให้ไปต่อแถวคนสุดท้าย ยังให้เกิดความรับผิดชอบต่อหน้าที่ของตนเอง ซึ่งเป็นวัฒนธรรม ที่เรากำลังไขว่คว้าหากันอยู่ การเล่นจะทำให้เกิดความเคารพกติการ รู้แพ้ รู้ชนะ ไม่คิดคดโกงในการวิ่งลัดเสาหลักหรือลัดคิวเพื่อนที่วิ่งช้าของทีมฝ่ายตนเองเพื่อเอาเปรียบฝ่ายตรงข้าม

·     สร้างความสนุกสนาน       เป็นกิจกรรมที่สร้างความสนุกสนานความตื่นเต้น เล้าใจความสนุกสนาน ช่วยละลายพฤติกรรมของผู้คน และสร้างความสุขให้กับผู้เล่นและผู้ชมได้เป็นอย่างดี

·     ไม่สิ้นเปลือง    วิ่งเปี้ยวมีกติกาไม่ซับซ้อน และใช้อุปกรณ์ง่าย ๆ ที่สามารถหาได้ใกล้ ๆ ตัว โดยการเล่นวิ่งเปี้ยวจะใช้เพียงผ้า ๒ ชิ้น เสาหลัก ๒ เสา บ้างก็ใช้เก้าอีกมาตั้งแทนเสา อีกทั้งยังใช้พื้นที่ไม่เยอะก็สามารถเล่นได้ ทำไห้ไม่สิ้นเปลืองเงินทอง

คุณค่าและบทบาทของวิ่งเปี้ยว[แก้]

วิ่งเปี้ยวให้คุณค่าไม่ยิ่งหย่อนกว่ากีฬาสากลที่นิยมเล่นในปัจจุบันแต่อย่างใด โดย วิ่งเปี้ยวต้องมีการวิ่งไล่กันรวดเร็ว มีการวิ่งหนี การกลับตัวเปลี่ยนทิศทางอย่างว่องไวอยู่ตลอดเวลา หากเล่นกันนาน ๆ ต่อเนื่อง ๓๐ - ๔๐ นาที คุณค่าที่ได้ทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สติปัญญา และสังคม มิได้แตกต่างจากการเล่นวิ่งแข่ง เล่นบาสเก็ตบอลหรือฟุตบอลแต่อย่างใด เหนือกว่านั้นวิ่งเปี้ยวยังให้คุณค่าทางด้านการสืบทอดคุณลักษณะที่ดีของความเป็นไทยที่สามารถได้รับการขัดเกลาทางสังคมจากวิ่งเปี้ยวด้วย ซึ่งคุณค่าประการหลังนี้กีฬาสากลไม่มี

·     ทางร่างกาย       วิ่งเปี้ยวเป็นการแข่งขันที่ใช้การวิ่งเร็วเป็นพื้นฐานประกอบกับการกลับตัวเปลี่ยนทิศทางเพื่ออ้อมหลัก และการรับส่งผ้า ทำให้ข้อและแขนได้เคลื่อนไหว ช่วยฝึกทางด้านกำลัง ความแข็งแกร่งและความรวดเร็ว ฝึกการทรงตัวเมื่อเปลี่ยนทิศทาง ทำให้ระบบหายใจและระบบไหลเวียนโลหิตทำงานมากขึ้น

·     ทางจิตใจ      จากสภาพการเล่นที่มีลักษณะเป็นทีม โดยผลัดเปลี่ยนกันแสดงความสามารถจะช่วยส่งเสริมให้ผู้เล่นทุกคนมีจิตใจเข้มแข็ง มีความกล้าในการเข้าร่วมการแข่งขัน กล้าแสดงความสามารถ เมื่อเป็นฝ่ายแพ้ก็ไม่เสียใจจนเกินไป เมื่อชนะก็เกิดความภาคภูมิใจในตนเองและไม่เย้ยหยันฝ่ายแพ้

·     ทางอารมณ์      การแข่งขันทำให้เกิดความสนุกสนาน ตื่นเต้น เร้าใจ ทำให้มีโอกาสแสดงออกทางอารมณ์ที่เหมาะสมและยับยั้งอารมณ์ที่ไม่เหมาะสม ได้แก่ ความไม่พอใจ ความเสียใจที่เกิดขึ้น เช่น เมื่อถูกไล่ทันหรือเกิดการผิดพลาดในการรับผ้า จะเป็นตนเองหรือเพื่อนทีมก็ตาม ผู้เล่นก็จะต้องรู้จักควบคุมอารมณ์และความรู้สึกที่ไม่ดี

·     ทางสติปัญญา   ผู้เล่นแต่ละคนจะต้องหาวิธีในการรับและส่งผ้าให้ได้จังหวะที่ไม่ทำให้ผู้รับทำผ้าหลุดมือ การวิ่งอ้อมหลักก็ต้องคิดว่าจะทำอย่างไรจึงจะไปได้เร็วและไม่เสียการทรงตัว การจัดลำดับผู้วิ่งก็ต้องจัดอย่างมีเหตุผล เป็นการฝึกให้ผู้เล่นรู้จักวางแผนการเล่น รู้จักวินิจฉัยปัญหาต่างๆ มีเหตุมีผลและเกิดความคิดสร้างสรรค์ในรูปแบบต่างๆ

·     ทางสังคม   ผู้เล่นฝ่ายเดียวกันต้องช่วยกันวิ่งอย่างเต็มที่เพื่อให้ฝ่ายตนชนะ เป็นการฝึกความร่วมมือร่วมใจทำงานเพื่อส่วนรวม และการเสียสละเพื่อส่วนรวมด้วย ทำให้เกิดความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน ให้อภัยต่อกันระหว่างผู้เล่นทั้ง ๒ ฝ่าย อีกทั้งยังช่วยฝึกให้ผู้เล่นทำงานร่วมกัน ยอมรับฟังความคิดเห็นของเพื่อนร่วมทีม เคารพกฎ กติกา ฝึกการเป็นผู้นำและผู้ตามที่ดี และฝึกให้เป็นผู้มีน้ำใจนักกีฬา[14] นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดระเบียบวินัย เกิดการยอมรับกฎเกณฑ์ของสังคม สร้างสรรค์ความเป็นญาติมิตรขึ้นในชุมชน ทำให้เกิดความเข้มแข็งจนก่อให้เกิดความดีงามอันเป็นเป้าหมายสูงสุดแห่งชีวิต[15]

·     ทางวัฒนธรรม      วิ่งเปี้ยวยังเป็นภาพสะท้อนให้เห็นและเข้าใจถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ในอดีตประเทศไทยยังมีศึกสงครามอยู่บ้าง กีฬาพื้นบ้านไทยส่วนใหญ่มีจุดมุ่งหมายเพื่อฝึกการต่อสู้ป้องกันตัวและป้องกันประเทศเมื่อยามมีศึกสงคราม ทำให้มีความกล้าหาญ เข้มแข็ง อดทน มีพละกำลังแข็งแรงสมบูรณ์ ซึ่งวิ่งเปี้ยวเป็นการวิ่งด้วยความเร็วต้น ซึ่งจะทำให้ร่างกายเหนื่อยล้ามาก เป็นการฝึกความอดทนกับความเหน็ดเหนื่อย ฝึกการไล่ล่า และการหนีศัตรูได้เป็นอย่างดี

     วิ่งเปี้ยวเป็นกีฬาพื้นบ้านไทยที่เกิดจากการสร้างสรรค์ของคนยุคก่อน มีการเรียนรู้และสืบทอดต่อกันมายาวนาน เป็นการแสดงถึงความเจริญงอกงาม ความเป็นระเบียบเรียบร้อย ความกลมเกลียว ความมีศีลธรรมอันดีงาม และเป็นทั้งวัฒนธรรมอันทรงคุณค่ายิ่ง แต่ก็มีผู้คนจำนวนน้อยมากที่ให้ความสนใจ และนับวันวิ่งเปี้ยวก็ค่อย ๆ สูญหายไป ๒๐ ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันแทบไม่มีวิ่งเปี้ยวให้เห็นแล้ว เนื่องจากแทบไม่มีการจัดการแข่งขันจากองค์กรของภาครัฐหรือเอกชนมากเท่าที่ควร ขาดการส่งเสริมอย่างจริงจัง เป็นรูปธรรม และเป็นแบบแผนในการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน

ทักษะที่ได้รับการพัฒนา[แก้]

ทักษะที่ได้รับการพัฒนาจากการละเล่นนี้คือ [ต้องการอ้างอิง]

  • ความคล่องแคล่ว ว่องไว
  • ความสามัคคีในหมู่คณะ
  • พัฒนาร่างกายให้แข็งแรง ไม่ป่วย
  • รู้จักวางแผนในการจัดคนวิ่ง และวิธีการวิ่ง
  • พัฒนาไหวพริบ
  • ความมีน้ำใจนักกีฬา

อ้างอิง[แก้]

  1. (สำนักงานราชบัณฑิตยสภา,๑๖ มกราคม ๒๕๕๕)
  2. 2.0 2.1 2.2 "กีฬาพื้นเมืองไทยช่วงสืบทอด". 2010-07-02.
  3. "ความเป็นมาของกีฬาพื้นเมืองไทย". thaifolksport.wordpress.com.
  4. (โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า, ๒๕๑๐ : ๓๙ - ๔๐)
  5. (รายงานการแข่งขันสำหรับการกรีฑานักเรียนประจำปี พ.ศ. ๒๔๕๓ ณ สนามโรงเรียนมัธยมราชบูรณะ, ๒๔๕๓)
  6. (ประกาศของคณะกรรมการจัดการกีฬาของกระทรวงธรรมการ ประจำปี ๒๔๗๒, ๒๔๗๒)
  7. (ซิสเตอร์บุญประจักษ์ ทรรทรานนท์, ๒๕๕๐ : คำนิยม)
  8. (รศ.ดร.โยธิน แสวงดี,ความรู้เกี่ยวกับกีฬาท้องถิ่นและพื้นบ้าน, สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล, น. ๑๒๓)
  9. (ขุนวิทยวุฒิ, ๒๔๖๗ : ๑๔๗)
  10. (วิธีการเล่นตามประเพณีนิยม แสดงที่ท้องสนามหลวง, วันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๐, โรงพิมพ์ศรีหงส์)
  11. (ละเอียด สดคมขำ, ๒๕๖๓, คู่มือการเรียนการสอนวรรณคดีไทย หน่อเนื้อเชื้อไข ในวรรณคดีไทย, น. ๔๒, โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด)
  12. "Facebook". www.facebook.com.
  13. "Facebook". www.facebook.com.
  14. 14.0 14.1 [1](ชัชชัย โกมารทัต, ๒๕๔๙, กีฬาพื้นเมืองไทยภาคกลาง, น.๓๓๙)
  15. (ร.อ.หญิงปรียา หิรัญประดิษฐ์, ๒๕๓๓ : ๑๕)