วิกิพีเดีย:สภากาแฟ/อภิปราย/เปลี่ยนระบบการตั้งชื่อบทความที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง อบจ.

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
หน้านี้เป็นหน้าอภิปรายในวิกิพีเดียภาษาไทย
การอภิปรายด้านล่างนี้ปิดแล้ว โปรดอย่าแก้ไข หากต้องการออกความเห็นภายหลัง ควรใช้ส่วนใหม่

เสนอให้เปลี่ยนระบบการตั้งชื่อบทความที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นในประเทศไทย โดยเฉพาะการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ที่อยู่ในรูปแบบ "จังหวัด...ในการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดในประเทศไทย พ.ศ. ..." (เช่น จังหวัดเชียงใหม่ในการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดในประเทศไทย พ.ศ. 2551) ซึ่งปัจจุบันมีบทความชื่อรูปแบบนี้อยู่ประมาณ 8 หน้า กับอีกกว่า 200 หน้าที่ยังเป็นลิงก์แดง ตลอดจนบทความในลักษณะเดียวกันที่อาจจะถูกเขียนขึ้นในอนาคต (คิดจากจำนวนการเลือกตั้งนายก อบจ. ที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว แต่ยังไม่ได้ถูกเขียนขึ้นเป็นบทความในวิกิพีเดีย) โดยเสนอให้เปลี่ยนระบบการตั้งชื่อเป็น "การเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด... พ.ศ. ..." โดยมีเหตุผลดังนี้

(1) การเลือกตั้งองค์การบริการส่วนท้องถิ่นในประเทศไทย (โดยเฉพาะ อบจ., สภา อบจ.) เป็นการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนในท้องถิ่นนั้น ๆ โดยสถานการณ์ปกติจะไม่ได้มีความยึดโยงกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไม่ได้กำหนดวันเลือกตั้งตามวาระหรือคำสั่งจากรัฐบาลส่วนกลาง แต่จะดำเนินไปตามวาระของผู้บริหารท้องถิ่น หรือสภาท้องถิ่นของท้องถิ่นนั้น ๆ กล่าวคือ ไม่ได้ถูกกำหนดไว้ให้เลือกตั้งพร้อมกัน หรือใน พ.ศ. เดียวกันทั้ง 76 จังหวัดเสมอไป แต่จะขึ้นกับองค์การปกครองท้องถิ่นนั้น ๆ ว่าวาระเป็นเช่นไร (อ้างตาม พรบ. กฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๖๒ "มาตรา ๙ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดมีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละสี่ปีนับแต่วันเลือกตั้ง... ในกรณีที่นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดดำรงตำแหน่งไม่ครบระยะเวลาสี่ปีก็ให้ถือว่าเป็นหนึ่งวาระ...")

ตัวอย่างเช่น มีการสิ้นสภาพของนายก อบจ. จังหวัด A ซึ่งดำรงตำแหน่งมาได้ 2 ปี ทำให้จังหวัด A จำเป็นต้องมีการเลือกตั้งขึ้นใหม่ นายก อบจ. คนใหม่ของจังหวัด A ที่ได้รับเลือก จะสามารถดำรงตำแหน่งได้เต็ม 4 ปี ไม่ใช่ 2 ปี ถือว่าเป็นการเลือกตั้งครั้งใหม่ (เริ่มนับวาระใหม่) มิใช่การเลือกตั้งแทนตำแหน่งที่ว่างลง (ตัวอย่าง: การเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดร้อยเอ็ด พ.ศ. 2565 เทียบกับ การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร เขต 9 แทนตำแหน่งที่ว่าง พ.ศ. 2565) ดังนั้นรอบวาระการเลือกตั้งนายก อบจ. จังหวัด A ต่อจากนี้ไป พ.ศ. จะไม่ตรงกับจังหวัดอื่นที่มีนายก อบจ. ดำรงตำแหน่งครบวาระ 4 ปี (ตัวอย่าง: จังหวัดแม่ฮ่องสอน เลือกตั้ง 2547 -> 2549 -> 2554 ในขณะที่จังหวัดเชียงใหม่ เลือกตั้ง 2547 -> 2551 -> 2555)

การเลือกตั้งนายก อบจ. ในจังหวัดต่าง ๆ จึงไม่ได้มี พ.ศ. ที่ตรงกันตายตัวเสมอไป การใช้ระบบการตั้งชื่อว่า "จังหวัด...ในการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดในประเทศไทย พ.ศ. ..." จึงฟังดูไม่สมเหตุสมผล และวลีที่ขีดเส้นใต้ชวนให้เข้าใจผิดว่าการเลือกตั้งนายก อบจ. ทุกจังหวัดในประเทศไทยจะต้องจัดขึ้นเป็นการเลือกตั้งใหญ่พร้อมกันใน พ.ศ. เดียวกัน มีความยึดโยงกัน เหมือน "จังหวัด...ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป พ.ศ. ..." ดังนั้นจึงเสนอให้ใช้ระบบการตั้งชื่อใหม่เป็น "การเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด... พ.ศ. ..." ซึ่งดูสื่อความหมายได้ตรงกว่า ว่า การเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นแต่ละท้องถิ่นจะดำเนินไปตามสถานการณ์ของท้องถิ่นนั้น ๆ มิได้มีความเกี่ยวข้องกัน

(ส่วนการเลือกตั้งใน พ.ศ. 2563 เป็นการกำหนดวันเลือกตั้งซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากการระงับการครบวาระของผู้บริหารท้องถิ่นจากคำสั่งของ คสช. ถือเป็นข้อยกเว้น ไม่ใช่สถานการณ์ปกติ)

(2) การตั้งชื่อว่า "การเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด... พ.ศ. ..." ดูกระชับกว่า และค้นหาได้ง่ายกว่า ตามหลักการเรียงประโยคภาษาไทย ผู้อ่านมีแนวโน้มจะค้นหาด้วยคำว่า "การเลือกตั้ง อบจ. (ชื่อจังหวัด) พ.ศ. ..." มากกว่า "(ชื่อจังหวัด) เลือกตั้ง อบจ. พ.ศ. ..." ซึ่งการตั้งชื่อแบบใหม่นี้จะทำให้ผู้อ่านค้นหาบทความเจอได้ง่ายกว่ามาก

(3) การตั้งชื่อว่า "การเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด... พ.ศ. ..." สอดคล้องไปกับระบบการตั้งชื่อ "การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. ..." ที่มีอยู่ก่อนเดิม เป็นการเลือกตั้งท้องถิ่นในระดับเดียวกัน มีระบบการเลือกตั้งคล้ายคลึงกัน

ด้วยเหตุผลข้างต้น ผมจึงขอเสนอให้เปลี่ยนระบบการตั้งชื่อจากเดิม "จังหวัด...ในการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดในประเทศไทย พ.ศ. ..." เป็น "การเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด... พ.ศ. ..." --NELL KKC (คุย) 05:44, 29 กันยายน 2565 (+07)[ตอบกลับ]

ลงคะแนน[แก้]

เห็นด้วย การเลือกตั้งท้องถิ่นไม่เหมือนกับการเลือกตั้ง ส.ส. คาดว่าคงมีการตั้งชื่อโดยไม่ได้คำนึงถึงบริบทนี้ --Horus (พูดคุย) 11:16, 29 กันยายน 2565 (+07)[ตอบกลับ]
เห็นด้วย --Siam2019 (คุย) 12:15, 30 กันยายน 2565 (+07)[ตอบกลับ]
เห็นด้วย --Mr.CN (คุย) 17:02, 1 ตุลาคม 2565 (+07)[ตอบกลับ]
เห็นด้วย ทุกประการ --Miwako Sato (คุย) 21:32, 1 ตุลาคม 2565 (+07)[ตอบกลับ]
เห็นด้วย --Timekeepertmk (คุย) 10:06, 2 ตุลาคม 2565 (+07)[ตอบกลับ]
เห็นด้วย131C191B (💬 | 📝) 11:14, 2 ตุลาคม 2565 (+07)[ตอบกลับ]
เห็นด้วยNakare✝「T」 11:45, 3 ตุลาคม 2565 (+07)[ตอบกลับ]
เห็นด้วย -Pongsak ksm (คุย) 11:49, 4 ตุลาคม 2565 (+07)[ตอบกลับ]
เห็นด้วย ZeroSixTwo (อยู่ระหว่าง "ข้าม" ไปใช้ "ค่ะ" แทนนะคะ) (คุย) 21:14, 7 ตุลาคม 2565 (+07)[ตอบกลับ]
เห็นด้วย --Minarin (คุย) 00:57, 8 ตุลาคม 2565 (+07)[ตอบกลับ]
เป็นกลาง ไม่มีความเห็นครับ --Tvcccp (cn:Yesona) (Talk) 14:44, 9 ตุลาคม 2565 (+07)[ตอบกลับ]

สรุป[แก้]

ผลความเห็นเป็นไปในทิศทางเดียวกันจึงขออนุญาตสรุปผลการอภิปรายดังนี้ครับ

(1) นำข้อเสนอไปปรับใช้ได้ทันที เปลี่ยนระบบการตั้งชื่อจากเดิม "จังหวัด...ในการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดในประเทศไทย พ.ศ. ..." เป็น "การเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด... พ.ศ. ..." รวมไปถึงการเลือกตั้งอื่น ๆ ที่มีลักษณะบริบทการเลือกตั้งคล้ายคลึงกัน

(2) นำผลการอภิปรายนี้เสนอต่อโครงการวิกิการเมืองเพื่อเป็นแนวทางในการออกแบบคู่มือในการเขียนบทความเกี่ยวกับการเลือกตั้งต่อไป (ปัจจุบันโครงการวิกิการเมืองยังไม่สมบูรณ์นัก ต้องการการพัฒนาอีกพอสมควร) --NELL KKC (คุย) 15:52, 12 ตุลาคม 2565 (+07)[ตอบกลับ]