วิกฤตตัวประกันสถานทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย พ.ศ. 2515

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วิกฤตตัวประกันสถานทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย พ.ศ. 2515

สถานที่เกิดเหตุโจมตี
วันที่28 ธันวาคม พ.ศ. 2515
สถานที่
สถานทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย
ผล ไม่มีผลสรุป ฝ่ายโจมตีถอนตัว
ความสูญเสีย
ไม่มีต่อฝ่ายผู้ก่อการ ไม่มีต่อฝ่ายไทย

วิกฤตตัวประกันสถานทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย พ.ศ. 2515 เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2515 เริ่มขึ้นจากการที่ผู้ก่อการปาเลสไตน์กลุ่ม แบล็กเซปเทมเบอร์ เข้าจู่โจมสถานทูตอิสราเอลในกรุงเทพและจับบุคลากรภายในเป็นตัวประกัน หลังจากการเจรจาอยู่นาน 19 ชั่วโมง[1] ผู้ก่อการก็ยินยอมที่จะถอนตัว โดยแลกกับความปลอดภัยของตนที่ประเทศอียิปต์

รายละเอียดของเหตุการณ์[แก้]

การโจมตีเริ่มขึ้นในวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2515 เป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงสถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณขึ้นเป็นสยามมกุฎราชกุมารแห่งประเทศไทย เมื่อผู้ก่อการแบล็ค เซปเทมเบอร์ 2 คนแฝงตัวเข้าไปในงานเลี้ยงภายในสถานทูต ในขณะที่อีก 2 คนปีนข้ามกำแพงสถานทูตพร้อมกับปืนกลเข้าไปในอาคารจากนั้นจึงทำการยึดตัวสถานทูต ผู้ก่อการอนุญาตให้ชาวไทยทั้งหมดในตึกออกไปได้ แต่ให้เหลือเอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำกัมพูชา ชิมอน อาวิมอร์ ที่อยู่ในเหตุการณ์ เลขานุการเอก นิตซาน ฮาดาส และภรรยา รวมถึงเจ้าหน้าที่ของสถานทูตรวม 6 คนไว้เป็นตัวประกัน

หลังจากนั้น ผู้ก่อการได้ย้ายตัวประกันไปยังชั้นสองของอาคารสามชั้นและเรียกร้องการปล่อยตัวนักโทษ 36 คนในเรือนจำอิสราเอล โดยผู้ก่อการขู่ว่าจะระเบิดสถานทูตทิ้ง ถ้าข้อเรียกร้องไม่ได้รับการตอบสนองภายในเวลา 8 นาฬิกาของวันที่ 29 ธันวาคม

พล.อ.อ. ทวี จุลละทรัพย์ เสนาธิการทหารและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลไทยให้เป็นผู้เข้าไปเจรจากับผู้ก่อการพร้อมกับชักชวน พล.จ. ชาติชาย ชุณหะวัณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ (ตำแหน่งและยศในขณะนั้น ภายหลังได้รับพระราชยศเป็นพลตรีหลังจากเหตุการณ์นี้)[ต้องการอ้างอิง] ให้มาร่วมเจรจาด้วยท่ามกลางเสียงคัดค้านในที่ประชุม[2] แต่ภายหลังก็ยินยอม ทั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากเอกอัครราชทูตอียิปต์ประจำประเทศไทย มุสตาฟา เอล อาซอย และผู้นำมุสลิมเข้าไปช่วยเจรจาด้วย

19 ชั่วโมงผ่านไป ผู้ก่อการก็ตกลงที่จะวางอาวุธและปล่อยตัวประกันทั้งหมดแลกกับการที่ไทยจะต้องจัดเครื่องบินนำตัวผู้ก่อการไปส่งยังกรุงไคโร ประเทศอียิปต์ โดยผู้ก่อการได้เดินทางออกจากสถานทูตโดยรถบัสไปยังสนามบินขึ้นเครื่องบินของสายการบินไทยโดยมีเจ้าหน้าที่ของไทยซึ่งมีรัฐมนตรีอยู่ 2 คนรวมถึงเอกอัครราชทูตอียิปต์ประจำประเทศไทยโดยสารไปเป็นประกันด้วย[1]

ภายหลัง[แก้]

ก่อนที่จะขึ้นเครื่องบิน ผู้ก่อการได้ให้ปืนกลในเหตุการณ์เป็นของขวัญแก่นายกรัฐมนตรีจอมพล ถนอม กิตติขจร กระบอกหนึ่ง ส่วนอีกกระบอกมอบให้ พล.อ. ประพาส จารุเสถียร ผู้บัญชาการกองทัพบก[3] ผู้ก่อการปาเลสไตน์ได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจากรัฐบาลอียิปต์ โดยหลังจากที่พวกเขาลงจากเครื่องบิน ผู้ก่อการได้ถูกนำไปขึ้นรถตำรวจโดยไม่ได้ใส่กุญแจมือแต่อย่างไร[4] ส่วนสำนักข่าวต่าง ๆ ในอียิปต์ต่างเรียกพวกเขาเป็นวีรบุรุษ ในด้านของอิสราเอล นายกรัฐมนตรีของอิสราเอลในขณะนั้นคือ โกลดา เมอีร์ และคณะได้แสดงความชื่นชมและขอบคุณรัฐบาลไทยอย่างยิ่งสำหรับการจัดการอันระมัดระวังซึ่งทรงประสิทธิภาพและมีความรับผิดชอบอย่างสูง (active vigilance and supreme responsibility)[5]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 Peter O'Loughlin.Arab Terroristes Flown to Cairo After Releasing Six Hostages,The Telegraph - Dec 30, 1972
  2. ประภัสสร เสวิกุล.อภินิหารข้าวหมกไก่, คมชัดลึก เก็บถาวร 2012-03-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  3. Arab Gunmen Free 6 Held in Bangkok,St. Petersburg Times - Dec 29, 1972
  4. AP.'Bloody Munich' massacre averted as Arabs give up Israeli hostages, The Montreal Gazette - Dec 30, 1972
  5. Bangkok Terrorists Given Heroes Welcome in Cairo[ลิงก์เสีย],The Palm Beach Post - Dec 30, 1972