ข้ามไปเนื้อหา

วัดเกวียนหัก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดเกวียนหัก
อุโบสถ
แผนที่
ชื่อสามัญวัดเกวียนหัก, วัดช่องลม
ที่ตั้งตำบลเกวียนหัก อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดเกวียนหัก เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลเกวียนหัก อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี

ประวัติ[แก้]

วัดเกวียนหัก เดิมชื่อ วัดช่องลม ตั้งวัดเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2130 ปรากฏหลักฐานจากอุโบสถหลังเก่าที่มีรูปทรงและลวดลายซึ่งสร้างโดยช่างสกุลอยุธยา คาดว่าสร้างหลังวัดตะปอนน้อยเป็นเวลา 5 ปี ซึ่งใบเสมาอุโบสถวัดตะปอนน้อยสลักไว้ พ.ศ. 2125 แต่วัดเกวียนหักนั้นมีหลักฐานบันทึกว่าสร้างเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2130[1]

มีตำนานเล่าขานว่า เป็นวัดที่เคยเป็นที่พักทัพของพระเจ้าตากสิน เมื่อครั้งที่ยกกองทัพไปโจมตีชมรมชาวพ่อค้าสำเภาที่ทุงใหญ่ (ตราด) ดังปรากฏในเอกสารประชุมพงศาวดารภาคที่ 65 พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันทนุมาศ (เจิม) ร่องรอยการพักทัพ เช่น มีการขุดพบพระยอดธง และสระน้ำโบราณที่เชื่อกันว่าพระเจ้าตากสินขุดให้กองทัพดื่มและใช้ อีกทั้งมีร่องรอยของร่องนำน้ำลึกติดต่อกับทะเลที่เรือใหญ่สามารถเข้ามาถึงหน้าวัดเกวียนหัก ปัจจุบันเป็นคลองเล็ก ๆ ที่มีน้ำทะเลไหลเข้ามาได้และอยู่ใกล้สระโบราณ[2]

การบูรณะวัดเกวียนหักปรากฏหลักฐานว่า คุณพระจินดา พรหมฤทธิ์ (ตำแหน่งนายอำเภอขณะนั้น) ได้เขียนเป็นลายลักษณ์อักษรไว้บนผนังอุโบสถหลังเก่าว่า "พระจินดา มานะ สละหิรัญ ซื้อสุวรรณปิดพระทั้งสององค์ กับออกทรัพย์ซ่อมแซมอุโบสถ โดยกำหนดพันเศษตามประสงค์ ขอให้สมปรารถนา ปัญญายงค์ สมประสงค์ ปณิธาน นิพพานเอย"

อาคารเสนาสนะ[แก้]

อุโบสถหลังเก่า สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย เป็นอาคารก่ออิฐฉาบปูน  ผังอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้องทรงจั่ว ด้านข้างชักปีกนก หน้าบันตกแต่งด้วยลายเทพนมประดับลายก้านขด ซุ้มประตูหน้าต่างประดับลวดลายปูนปั้น หน้าบันมีลายเขียนสี ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย พระพุทธรูปยืนปางประทานอภัยทรงเครื่องและพระอัครสาวก เดิมเคยมีจิตรกรรมฝาผนังแต่ถูกทาสีทับ ที่มุมอุโบสถทั้ง 4 มุม มีเจดีย์ก่ออิฐถือปูนย่อมุมไม้สิบสองสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

อุโบสถหลังใหม่สร้างเมื่อ พ.ศ. 2502 นำรูปแบบของอุโบสถหลังเก่ามาสร้างแต่ขนาดใหญ่ขึ้นและนำเครื่องถ้วยเคลือบประดับหน้าบันช่อฟ้าใบระกาและได้รับการบูรณะทาสีใหม่เมื่อ พ.ศ. 2544 ศาลาการเปรียญสร้างเมื่อ พ.ศ. 2487 เป็นอาคารคอนกรีตโครงสร้างหลังคาไม้ ยกพื้นใต้ถุนโปร่งด้านข้างก่ออิฐฉาบปูนรูปวงโค้งเป็นช่วงทั้ง 4 ด้าน อาคารเรียนหลังเก่า สร้างเมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2496 เป็นอาคารคอนกรีตโครงสร้างไม้ รูปตัวแอล หลังคามุงด้วยกระเบื้องลอนคู่ มีบันไดทางขึ้น 1 บันได ใต้ถุนโปร่งสูง มีการก่ออิฐฉาบปูนเป็นวงโค้งรอบอาคารเหมือนศาลาการเปรียญ[3]

อ้างอิง[แก้]

  1. "เที่ยวสวนทุเรียน..ตะปอนใหญ่ ตามรอย 'พระเจ้าตาก' ที่วัดเกวียนหัก". ไทยรัฐฉบับพิมพ์. 8 เมษายน 2560.
  2. "วัดเกวียนหัก". ระบบฐานข้อมูลท้องถิ่นจังหวัดจันทบุรี. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-07-11. สืบค้นเมื่อ 2021-04-09.
  3. "วัดเกวียนหัก". ระบบภูมิสารสนเทศ แหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม.