ข้ามไปเนื้อหา

วัดอีก้าง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดอีก้าง
แผนที่
ชื่อสามัญวัดอีก้าง, วัดอีค่าง
ที่ตั้งตำบลท่าวังตาล อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่
ประเภทโบราณสถานร้าง
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดอีก้าง หรือ วัดอีค่าง เป็นโบราณสถานร้างที่ได้รับการขุดแต่งแล้ว ตั้งอยู่ในเขตกึ่งกลางของเวียงกุมกาม ห่างจากวัดปู่เปี้ยออกมาทางทิศตะวันออกประมาณ 250 เมตร ห่างจากแม่น้ำปิงมาทางตะวันออกประมาณ 700 เมตร ในตำบลท่าวังตาล อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่

ประวัติ[แก้]

คำว่า อีค่าง หรือ อีก้าง ในภาษาถิ่นเหนือ มีความหมายว่า ลิง หรือ ค่าง เพราะในอดีตเคยมีฝูงลิงหรือค่างอาศัยบริเวณโบราณสถานร้างแห่งนี้[1] ชาวบ้านจึงเรียกว่าวัดอีก้าง นอกจากนี้ยังปรากฏเรื่องเล่าสืบต่อกันว่า มีนางค่างตัวหนึ่งทำประโยชน์แก่พระราชามาก เมื่อนางค่างตายลงพระราชาจึงสร้างจึงสร้างวัดนี้ให้แก่นางค่างตัวนี้ วัดอีก้างได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 116 ตอนพิศษ 17ง วันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2542

โบราณสถานและโบราณวัตถุ[แก้]

โบราณสถานวัดอีก้าง ประกอบด้วยกำแพงแก้ว เจดีย์ วิหาร แท่นบูชารอบเจดีย์ 3 ด้าน และอาคารรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า เจดีย์มีลักษณะเป็นเจดีย์เหลี่ยมผสมทรงกลม คือ เรือนธาตุเป็นเจดีย์เหลี่ยมส่วนยอดเป็นเจดีย์ทรงกลม เป็นศิลปะล้านนา สภาพทั่วไปมีวิหารตั้งอยู่บนฐานเดียวกัน หันหน้าไปทางทิศเหนือตั้งอยู่ต่ำกว่าระดับพื้นดินปัจจุบันประมาณ 2 เมตร

วิหารโถงกว้าง 20 เมตร ยาว 13.50 เมตร[2] ปัจจุบันคงเหลือเฉพาะส่วนฐานปัทม์ในผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หลังวิหารมีห้องคูหา (คันธกุฎี) อยู่ด้านหลังห้องประธาน ซึ่งภายในห้องคูหามีแท่นฐานชุกชี 1 แท่น มีบันไดสู่ฐานประทักษิณทั้งด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ภายในมีฐานเสาวิหาร 8 คู่ พื้นวิหารปูด้วยอิฐ ฉาบปูนขาว มีบันไดทางขึ้น 3 ทาง บันไดหลักเป็นแบบบันไดนาค เนื่องจากได้พบชิ้นส่วนปูนปั้นรูปเกล็ดนาคบริเวณฐานวิหารด้านหน้า และอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ตั้งขนานกับแนวฐานวิหาร มีสภาพพังทลายคงเหลือเพียงเฉพาะส่วนฐาน สันนิษฐานว่าอาจเป็นอุโบสถ จากการศึกษาชั้นดินพบว่าอาคารหลังนี้มีการสร้างทับซ้อนกัน 2 สมัย โดยในสมัยแรกน่าจะสร้างขึ้นในคราวเดียวกับวิหารและเจดีย์ และสร้างซ้อนทับอาคารหลังแรกในสมัยต่อมา

นอกจากนั้นยังพบโบราณวัตถุ ได้แก่ ชิ้นส่วนพระพุทธรูปสำริด พระพุทธรูปแก้ว ยอดสถูปจำลองทำจากแก้วส่วนยอดบุทองคำ พระพิมพ์ดินเผา แผ่นฉลุลายสำริด แผ่นโลหะสำริดสำหรับประดับปล้องไฉน และส่วนประกอบฉัตรสำริดปิดทอง ลายปูนปั้นที่มีรอยไหม้ดำและเศษสำริดไหม้ละลายติดแผ่นกระเบื้องดินขอ บริเวณฐานชุกชีประดิษฐานพระประธานและรอบฐานวิหาร ชิ้นส่วนพระพุทธรูปหินทราย เศียรพระพุทธรูปปูนปั้น เม็ดพระศกปูนปั้น และแผ่นอิฐที่มีรอยสลักรูปสัตว์คล้ายลิงอีกด้วย รวมถึงพบภาชนะดินเผาที่ผลิตจากแหล่งเตาสันกำแพง เตาเวียงกาหลง เตาวังเหนือ และเตาสุโขทัย รวมทั้งเครื่องถ้วยจีน และพบแผ่นอิฐจารึกอักษรฝักขามและอักษรธรรมล้านนา ที่มีอายุในช่วงพุทธศตวรรษที่ 20–21 จำนวน 7 ชิ้น[3]

ภาพมุมกว้าง

อ้างอิง[แก้]

  1. "วัดอีก้าง(ร้าง)". ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม.
  2. "วัดอีก้าง (E Khang Temple)". สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-11-07. สืบค้นเมื่อ 2021-11-07.
  3. "วัดอีก้าง(อีค่าง)". ฐานข้อมูลแหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย.