ข้ามไปเนื้อหา

วัดสาวชะโงก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดสาวชะโงก
แผนที่
ที่ตั้งตำบลสาวชะโงก อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
เจ้าอาวาสพระอธิการธีรศักดิ์ ฐาตุกาโม
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดสาวชะโงก เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ริมแม่น้ำบางปะกง ในตำบลสาวชะโงก อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา

วัดสาวชะโงกตั้งวัดเมื่อ พ.ศ. 2356 โดยมีนายนุช นางยัง ชาวคลองสองพี่น้อง อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นผู้ริเริ่มสร้างวัด โดยอุทิศที่ดินประมาณ 6 ไร่ เพื่อก่อสร้างวัด เริ่มแรกมีกุฏิมุงหลังคาด้วยจาก ต่อมาเมื่อประมาณ พ.ศ. 2380 ทางวัดและญาติโยมได้ดำเนินการก่อสร้างอุโบสถ กว้าง 5 เมตร ยาว 8 เมตร และกุฏิสงฆ์ แต่เนื่องจากที่ทุนทรัพย์น้อยจึงก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ จนต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2392 ขุนพัส (รั้ง) ได้ร่วมกับชาวบ้านดำเนินการปฏิสังขรณ์วัดเพิ่มเติมรวมถึงได้ทำการผูกพัทธสีมาเมื่อ พ.ศ. 2392 ต่อมาเมื่อวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2457 นายเจิม ซึ่งเป็นบุตรของนายโตกับอำแดงกลิ่น อยู่คลองบ้านหมู่ ได้บริจาคที่ดินถวายให้วัดสาวชะโงกเป็นที่ธรณีสงฆ์ จำนวน 48 ไร่ 96 ตารางวา ต่อมาเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2543 นายเฉลิม เดชสุภะพงษ์ ได้มอบที่ดินให้เป็นที่กัลปนา จำนวน 1 แปลง เนื้อที่ 3 ไร่ 3 งาน 40 ตารางวา[1] วัดได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2512

เหตุที่ชื่อว่าวัดสาวชะโงกเพราะมีตำนานเล่าว่า ได้มีการยกขันหมากมาทางเรือ เพื่อมาสู่ขอเจ้าสาว เมื่อขบวนขันหมากใกล้มาถึง เจ้าสาวได้ชะโงกหน้าดูขบวนขันหมาก ทำให้พลัดตกลงมาจากเรือนเสียชีวิต ต่อมาพ่อแม่เจ้าสาวได้ยกที่ดินผืนนี้ถวายสร้างเป็นวัด จึงได้ตั้งชื่อเป็นอนุสรณ์แด่ผู้เสียชีวิตว่า "วัดสาวชะโงก"[2]

วัดมีเกจิอาจารย์ดังเป็นที่เคารพศรัทธาแก่พุทธศาสนิกชนทั่วไป คือ พระครูนันทธีราจารย์ (หลวงพ่อเหลือ) ท่านสร้างผ้ายันต์แดงแจกทหารในสงคราม แต่ที่โดดเด่นเป็นที่กล่าวถึงคือ ปลัดขิก[3] ภายในวัดมีรอยพระพุทธบาทจำลอง อายุร้อยกว่าปี

รายนามเจ้าอาวาส[แก้]

  • พระอธิการสังข์ พ.ศ. 2356–2396
  • พระอธิการขิก พ.ศ. 2396–2451
  • พระอธิการแบน พ.ศ. 2451–2460
  • พระอธิการชื่น พ.ศ. 2460–2474
  • พระครูนันทธีราจารย์ (หลวงพ่อเหลือ) พ.ศ. 2474–2488
  • พระอธิการหงวน พ.ศ. 2488–2490
  • พระอธิการช้วน (รักษาการ) พ.ศ. 2490–2492
  • พระครูถาวรธรรมานุวัตร (จวน) พ.ศ. 2492–2547
  • พระอธิการประเสริฐ ปัญญาวโร พ.ศ. 2548–2553
  • พระอธิการธีรศักดิ์ ฐาตุกาโม พ.ศ. 2554 ถึงปัจจุบัน

อ้างอิง[แก้]

  1. "วัดสาวชะโงก". ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม.
  2. "วัดสาว ชะโงก วัดเก่าที่น่าแวะ".
  3. "หลวงพ่อเหลือ นันทสาโร วัดสาวชะโงก ฉะเชิงเทรา". ข่าวสด.