วัดศรีนวลสว่างอารมณ์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดศรีนวลสว่างอารมณ์
ศาลาธรรมาสน์สิงห์
แผนที่
ชื่อสามัญวัดศรีนวลสว่างอารมณ์, วัดศรีนวล, วัดศรีนวลแสงสว่างอารมณ์
ที่ตั้งตำบลชีทวน อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดศรีนวลสว่างอารมณ์ เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ตำบลชีทวน อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี

ประวัติ[แก้]

วัดศรีนวลแสงสว่างอารมณ์ หรือที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่า วัดศรีนวล ซึ่งในแต่เดิมใช้เขียนว่า วัดสีนวน วัดนี้ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างขึ้นเมื่อใด อย่างไรก็ตามสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติระบุว่าตั้งวัดเมื่อ พ.ศ. 2340 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2347[1]

มีเรื่องกล่าวขานต่อกันมาว่าได้มี ญาครูตีนก้อม ได้พาญาติโยม สร้างวัดขึ้นก่อน ต่อมายายสีนวนได้บริจาคที่ดินให้เพิ่มขึ้นเพื่อขยายอาณาเขตของวัดให้กว้างขวางกว่าเดิม ชื่อวัดจึงได้เรียกว่า "วัดสีนวน" หรือ "วัดศรีนวล" ในภายหลัง และคำว่า "แสงสว่างอารมณ์" ได้มาเพิ่มเติมขึ้นภายหลังการก่อสร้างศาสนสถานของวัดในขณะที่พระอุปัชฌาย์วงค์ พฺรหฺมสโร เป็นเจ้าอาวาส (พ.ศ. 2430–2492)

อาคารเสนาสนะและศิลปวัตถุ[แก้]

อาคารเสนาสนะที่สำคัญ ได้แก่ สิม (โบสถ์) ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางประธาน เป็นพระพุทธตรัสรู้สร้างเมื่อ พ.ศ. 2530 เป็นพระโลหะสำริด หน้าตักกว้าง 1.3 เมตร สูง 1.5 เมตร ฐานชุกชีกว้าง 1.9 เมตร สูง 1.5 เมตร ด้านข้างลึก 1.3 เมตร และมีพระพุทธรูปปางประธานองค์เดิม ประดิษฐานอยู่ในโบสถ์เดียวกันกับองค์ใหม่เป็นพระพุทธรูปสำริด ปางมารวิชัย สร้างเมื่อ 2468 ซึ่งย้ายมาจากสิมเดิม หน้าตักกว้าง 1 เมตร สูง 1.50 เมตร ตั้งอยู่บนโต๊ะสูงประมาณ 1 เมตร[2]

ศาลาการเปรียญซึ่งภายในมีธรรมาสน์สิงห์เทินบุษบกที่ซึ่งเป็นสิ่งที่แปลกและแตกต่างจากธรรมาสน์โดยทั่วไปมาก สร้างขึ้นในราว พ.ศ. 2468–2470 ผู้ออกแบบและดำเนินการก่อสร้างเป็นช่างชาวญวน ส่วนการตกแต่งภายนอก ภายในและรายละเอียดต่าง ๆ พระอุปัชฌาย์วงค์ทำเอง ปัจจุบันธรรมาสน์สิงห์นี้ใช้เป็นที่สำหรับให้พระสงฆ์นั่งเทศน์มหาชาติในงานบุญเดือน 4 หรือบุญผะเหวด หรือบุญมหาชาติ[3] ที่ฝ้าเพดานของศาลาการเปรียญมีจิตรกรรมแบบญวนที่ผสมผสานระหว่างศิลปะจีนและตะวันตก

รายนามเจ้าอาวาส[แก้]

  • ญาครูตีนก้อม
  • พระอุปัชฌาย์วงค์ พฺรหฺมสโร พ.ศ. 2430–2492
  • พระทอง พ.ศ. 2493–2508
  • พระข่าย พ.ศ. 2509–2513
  • พระเสงี่ยม โฆสโก พ.ศ. 2514–2522
  • พระพันธ์ จารุวณฺโณ พ.ศ. 2523–2532
  • พระอธิการทา สุขกาโม พ.ศ. 2532–

อ้างอิง[แก้]

  1. "วัดศรีนวล". สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ.
  2. "วัดศรีนวลสว่างอารมณ์ (วัดศรีนวล)". อีสานร้อยแปด.
  3. "วัดศรีนวลแสงสว่างอารมณ์ ธรรมาสน์สิงห์เทินบุษบกมรดกของชาติ". งานข้อมูลท้องถิ่นและจดหมายเหตุ สำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-10-04. สืบค้นเมื่อ 2022-10-04.