วัดวังหมู

พิกัด: 17°32′59″N 100°07′26″E / 17.549654°N 100.123922°E / 17.549654; 100.123922
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดวังหมู
พระบรมธาตุเจดีย์ วัดวังหมู
แผนที่
ชื่อสามัญวัดวังหมู
ที่ตั้งตำบลหาดกรวด อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ 53000
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายเถรวาท มหานิกาย
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดวังหมูตั้งอยู่ที่บ้านวังหมู ตำบลหาดกรวด อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นวัดในพระพุทธศาสนาเถรวาท สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ปรากฏหลักฐานการตั้งวัดในปี พ.ศ. 1700 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาปี พ.ศ. 1732 ในสมัยสุโขทัย มีอายุมากกว่า 800 ปี ถือเป็นวัดเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของอำเภอเมืองอุตรดิตถ์คู่กับวัดพระฝางสวางคบุรีมุนีนาถ[1]

วัดวังหมูตั้งชื่อตามหมู่บ้านที่ตั้งวัด เป็นสถานที่ประกอบศาสนพิธีของชุมชนในละแวกนี้แต่ครั้งอดีตจนถึงปัจจุบัน ในปัจจุบันวัดแห่งนี้ไม่ได้รับขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแต่อย่างใด

ประวัติ[แก้]

วัดวังหมู เป็นวัดเก่าแก่ ตั้งอยู่ในบ้านวังหมู ตำบลหาดกรวด อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์ เชื่อกันว่าสร้างขึ้นประมาณ พ.ศ. 1700 ในสมัยสุโขทัย มีอายุกว่า 800 ปี เป็นวัดที่มีมาคู่กับชุมชนแห่งนี้ ชื่อวัดตั้งขึ้นตามชื่อของชุมชน คือ "บ้านวังหมู" ซึ่งมีที่มาของชื่อหมู่บ้านเป็นตำนานดังนี้

พระเจดีย์วัดวังหมู

ในสมัยโบราณมีพ่อค้าชาวมอญสองคนถ่อเรือทวนกระแสน้ำขึ้นมาค้าขายกับชุมชนในแถบลุ่มแม่น้ำน่าน จนมาจอดเรือเทียบท่าที่ตำบลแห่งหนึ่ง ชาวบ้านในย่านนั้นต่างพากันมาจับจ่ายซื้อข้าวของกันมากมายจนแทบหมดลำเรือ แต่ในระหว่างนั้น สองมอญก็ได้เหลือบไปเห็นหมูป่าตัวหนึ่งกายมีสีทองสุกปลั่งวาววับลงมากินน้ำที่ท่าน้ำฝั่งตรงข้าม (ปัจจุบันคือ บ้านท่าทอง ตำบลวังกะพี้ อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์) สร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับมอญทั้งสองและชาวบ้านเป็นอย่างยิ่ง ด้วยเห็นเป็นสิ่งประหลาดและน่าอัศจรรย์ มอญทั้งสองจึงรีบแจวเรือออกจากท่าเพื่อจะตามไปจับหมูตัวนั้นให้ได้ ส่วนเจ้าหมูนั้นก็วิ่งดำผุดดำว่ายในน้ำ ผลุบๆโผล่ๆ ยั่วยวนให้ตามจับ จนไปถึงวังน้ำวนแห่งหนึ่ง เจ้าหมูก็ดำลงไปในวังน้ำวนแห่งนั้น แล้วไปโผล่ขึ้นฝั่งอีกฝั่งหนึ่ง สองมอญก็ตามไปอย่างไม่ลดละเพื่อหวังจะจับให้ได้ ฝ่ายหมูทองก็แสดงกายให้เห็นหลอกล่อให้จับ ทำเป็นหยุดยืนรอ ยั่วให้ตาม แต่จนแล้วจนรอดสองมอญก็ตามจับไม่ได้สักที จนหมูทองวิ่งไปถึงเกาะเนินดินแห่งหนึ่ง แล้วจึงมุดตัวหายเข้าไปในพงหญ้าในเนินดินแห่งนั้น สองมอญตามมาจนถึงเกาะนั้น แล้วเดินหาจนทั่วก็ไม่พบแม้แต่ร่องรอยของหมูทองแต่อย่างใด จากตำนานเรื่องหมูทองนี้ จึงกลายเป็นที่มาของชื่อ "บ้านวังหมู" และชื่อของ "วัดวังหมู"[2]

สถานที่สำคัญภายในวัด[แก้]

ใบเสมาหินชนวนศิลปะอยุธยาในวัดวังหมู
  • พระอุโบสถมหาอุดทรงเรือสำเภา ศิลปะสมัยอยุธยาตอนปลาย
  • พระเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ เป็นศิลปพื้นบ้านที่เกิดจากการผสมระหว่างสกุลช่างล้านนา พม่า และอยุธยา
  • ศาลาการเปรียญ สร้างเมื่อ พ.ศ 2506 เป็นศาลาการเปรียญที่สร้างด้วยไม้ทั้งหลัง
  • พระวิหารแก้ว เป็นที่ประดิษฐานรูปปั้นหลวงปู่เม็ง สิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำหมู่บ้าน
  • รูปปั้นหมูทอง ตั้งอยู่หน้าซุ้มประตูวัด และหน้าศาลาการเปรียญ เป็นรูปหมูป่าทาสีทองสวยงาม[ต้องการอ้างอิง]

อ้างอิง[แก้]

  1. สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดอุตรดิตถ์. (2555). ทะเบียนวัดจังหวัดอุตรดิตถ์ ปี 2554. [ออน-ไลน์]. เข้าถึงได้จาก : [1][ลิงก์เสีย]. เข้าถึงเมื่อ 30-3-55
  2. กรมการศาสนา. (2531). ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม ๗. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์การศาสนา.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

17°32′59″N 100°07′26″E / 17.549654°N 100.123922°E / 17.549654; 100.123922