ข้ามไปเนื้อหา

วัดมหาธาตุ (จังหวัดพิจิตร)

พิกัด: 16°24′43.9″N 100°17′40.9″E / 16.412194°N 100.294694°E / 16.412194; 100.294694
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดมหาธาตุ
แผนที่
ที่ตั้งทางตอนกลางอุทยานประวัติศาสตร์เมืองเก่าพิจิตรในสวนรุกขชาติกาญจนกุมาร ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมืองพิจิตร จังหวัดพิจิตร
ประเภทโบราณสถาน
ส่วนหนึ่งของเมืองพิจิตรเก่า
ความเป็นมา
วัสดุอิฐ
สร้างพุทธศตวรรษที่ 18 และราวพุทธศตวรรษที่ 20−24
สมัยสุโขทัยและ
อยุธยา
สถาปัตยกรรม
รูปแบบสถาปัตยกรรมลังกา
ชื่อที่ขึ้นทะเบียนวัดมหาธาตุ
ขึ้นเมื่อ8 มีนาคม พ.ศ. 2478
เป็นส่วนหนึ่งของโบราณสถานในจังหวัดพิจิตร
เลขอ้างอิง0004633

วัดมหาธาตุ เป็นโบราณสถานทางตอนกลางของเมืองพิจิตรเก่า สร้างขึ้นในสมัยสุโขทัยและมีการใช้งานต่อเนื่องถึงสมัยอยุธยา ก่อด้วยอิฐ ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำน่านเก่า[ก] สันนิษฐานว่าเป็นวัดที่สำคัญสร้างคู่กับเมืองพิจิตร

ภายในวัดมหาธาตุประกอบไปด้วยเจดีย์ประธาน เป็นเจดีย์ทรงระฆัง ด้านหน้าทางทิศตะวันตกของเจดีย์เป็นวิหารเก้าห้อง มีคูน้ำล้อมรอบเจดีย์กับวิหาร ด้านหลังเจดีย์ทางทิศตะวันออกเป็นพระอุโบสถ มีใบเสมาสองชั้น ปัจจุบันเหลือเพียงส่วนฐานอุโบสถ ทางทิศตะวันออกของอุโบสถมีสระแฝดหรือสระบัว ก่อนจะถึงกำแพงวัดที่ติดกำแพงเมืองพิจิตรเก่าด้านทิศตะวันออก

ลักษณะทางกายภาพ[แก้]

เจดีย์ประธาน[แก้]

เจดีย์ประธานเป็นทรงระฆังแบบสุโขทัย ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากลังกา มีชุดบัวถลาสามชั้นบนฐานเตี้ยรองรับทรงระฆังที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่ เหนือองค์ระฆังคือบัลลังก์สี่เหลี่ยม แกนปล้องไฉน ปล้องไฉนและเม็ดน้ำค้าง ซึ่งเคยถูกต้นยางล้มฟาดจนปล้องไฉนหัก เมื่อปี พ.ศ. 2479 ส่วนยอดยังเหลือให้เห็นถึงพุทธบัลลังก์สูงพ้นยอดไม้ และมีต้นโพธิ์ขนาดย่อมขึ้นที่ชั้นพุทธบัลลังก์

ต่อมาในปี พ.ศ. 2481 ต้นโพธิ์ถูกลมพัดหักโค่นลงมา เจดีย์ส่วนที่เหลือก็พังครืนลงมาเกิดโพรงทำให้เห็นว่ามีซุ้มจระนำอยู่ภายในเจดีย์ มีพวงมาลัยร้อยด้วยลวดเงิน ลูกปัดเป็นหยก แต่ถูกคนร้ายขโมยไป[1]: 232  ซึ่งเจดีย์องค์ในอาจเป็นสิ่งก่อสร้างสมัยสร้างเมืองพิจิตรก็เป็นได้ ดังปรากฏหลักฐานแผ่นอิฐมีจารึกอักษรขอม

วิหารและอุโบสถ[แก้]

อุโบสถตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเจดีย์ประธาน อาจสร้างขึ้นในสมัยอยุธยา[ข] จากการขุดแต่งเนินโบราณสถานในปี พ.ศ.2534 ของกรมศิลปากรที่พบว่าวัดมหาธาตุมีสิ่งก่อสร้าง 2 สมัย คือ สมัยสุโขทัย และสมัยอยุธยา[2]: 48 

วิหารเก้าห้องตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกหรือด้านหน้าเจดีย์ประธาน มีขนาด 9 ห้อง

โบราณวัตถุ[แก้]

โบราณวัตถุพบบริเวณวัดมหาธาตุ มีทั้งที่ชาวบ้านค้นพบและค้นพบโดยกรมศิลปากร โดยในปี พ.ศ. 2495 กรมศิลปากรดำเนินการขุดค้นเจดีย์ประธาน พบแผ่นอิฐมีจารึกอักษรขอมโบราณสองแผ่น ได้ความว่า “สุนทร” อาจเกี่ยวกับคำว่า “พิจิตร” แปลว่า งาม เหมือนกัน[3]: 73  จากการพิจารณาตัวอักษรบนแผ่นอิฐกำหนดอายุตัวอักษรราวพุทธศตวรรษที่ 18[1]: 242 

โบราณวัตถุชิ้นหนึ่งได้จากภายในองค์เจดีย์ประธาน คือ พระสุพรรณบัฏ จารึกอักษรขอมโบราณ ปรากฏชื่อ “เมืองสระหลวง” ในปี พ.ศ. 1959[2]: 7  ซึ่งตรงกับศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงที่สันนิษฐานว่าคือเมืองพิจิตรเก่า[4]: 6  พระสุพรรณบัฏหรือลานทอง เป็นแผ่นทองคำกว้าง 4.5 เซนติเมตร ยาว 14.2 เซนติเมตร ข้อความที่ปรากฏเป็นประกาศพระบรมราชโองการเลื่อนพระสมณศักดิ์ภิกษุรูปหนึ่งของวัดมหาธาตุ[1]: 237–241 

โบราณวัตถุอื่นที่พบก่อนกรมศิลปากรเข้าพื้นที่เป็นพระเครื่อง ได้แก่ พระบุเงิน บุทอง ใบตำแย ใบมะยม พระแก้วสี พระแผง พระบูชาหลายขนาด และเทวรูปประจำทิศโลหะ เสลี่ยงเล็ก ผอบ บาตร พวงมาลัยหยกร้อยด้วยลวดเงินลวดทอง แผ่นอิฐปิดทองขนาดใหญ่ 25 x 75 x 15 เซนติเมตร[5]: 11 

ประวัติ[แก้]

ตามหลักฐานทางโบราณคดีเมืองพิจิตรเก่านี้สันนิษฐานตามพงศาวดารเหนือ เรื่องพระยาแกรก[4]: 11 ได้ว่า อาจเป็นโบราณสถานที่มีมาตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 18 ดังปรากฏว่าสิ่งก่อสร้างที่มีซุ้มจระนำภายในเจดีย์ทรงระฆัง แผ่นอิฐมีจารึกอักษรขอมโบราณ และประวัติการสร้างเมืองพิจิตรเก่าโดยเจ้ากาญจนกุมาร หรือพระยาโคตรบองเทวราช

ต่อมาในสมัยสุโขทัย จึงมีการปฏิสังขรณ์โดยพอกเจดีย์ทรงระฆังทับ สร้างพระวิหาร และขุดคูน้ำล้อมรอบ เนื่องจากเมืองพิจิตรเก่านี้มีความสำคัญเป็นหัวเมืองเอกของสุโขทัย ดังปรากฏชื่อเมืองสระหลวงในจารึกสมัยสุโขทัย

จนกระทั่งในสมัยอยุธยามีการสร้างพระอุโบสถต่อเติมที่ด้านหลังวัดมหาธาตุในแนวแกนของสิ่งก่อสร้างหลัก โดยปรากฏชื่อเมืองพิจิตร ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับสมเด็จพระนพรัตน์[4]: 3 

หมายเหตุ[แก้]

  1. ราษฏรเรียกว่า แม่น้ำเมืองเก่า และแม่น้ำพิจิตร
  2. เนื่องจากในสมัยสุโขทัยยังไม่นิยมสร้างอุโบสถ ประกอบกับสมัยอยุธยานิยมสร้างอุโบสถในแนวเดียวกับวิหารและเจดีย์

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 พละ วัฒโน. เมืองพิจิตร. 2508.
  2. 2.0 2.1 สมัย สุทธิธรรม. สารคดีชุดถิ่นทองของไทย : พิจิตร. 2542.
  3. คณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว. วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดพิจิตร. 2545.
  4. 4.0 4.1 4.2 หวน พินธุพันธ์. พิจิตรของเรา. 2520.
  5. สภาวัฒนธรรมแห่งชาติ สำนักวัฒนธรรมทางวรรณกรรม. จังหวัดพิจิตร. 2500