ข้ามไปเนื้อหา

วัดป้านปิง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดป้านปิง
แผนที่
ที่ตั้งตำบลศรีภูมิ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดป้านปิง เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลศรีภูมิ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่

ประวัติ[แก้]

วัดป้านปิง คำว่า "ป้านปิง" หมายถึง เป็นแนวขวางแม่น้ำปิง ไม่ได้หมายถึงสร้างมาเพื่อขวางแม่น้ำปิง แต่หมายถังวัดป้านปิง ได้กั้นภยันอันตรายจากอีกฟากฝั่งของแม่น้ำปิงไม่สามารถข้ามมาได้ ซึ่งในอดีตมีภัยสงครามที่จะมาเชียงใหม่ เช่นในสมัยพญามังราย จากกองทัพจากพม่าและกองทัพจากอยุธยา เป็นต้น สันนิษฐานว่าวัดสร้างขึ้นในยุคต้นของอาณาจักรล้านนาตั้งแต่สมัยพญามังราย จนถึงสมัยพญาแสนเมืองมา (ราว พ.ศ. 1839–1954) เมื่ออาณาจักรล้านนาล่มสลายวัดต่าง ๆ จึงชำรุดทรุดโทรมลงรวมทั้งวัดป้านปิงด้วย จนกระทั่งได้สถาปนาอาณาจักรล้านนาใหม่เมื่อ พ.ศ. 2324 และราว พ.ศ. 2326 พระเจ้ากาวิละได้เป็นมหาศรัทธาปก (บูรณะ) วัดต่าง ๆ ขึ้นมาใหม่ ซึ่งคงจะรวมวัดป้านปิงด้วย

จากสมุดข่อยระบุว่า วันเพ็ญเดือน 5 พ.ศ. 2382 ได้สร้างและฉลองอุโบสถของวัดขึ้น ในการสำรวจวัดในเขตเมืองเชียงใหม่เมื่อราว พ.ศ. 2399–2413 ได้ระบุถึงเจ้าอาวาสชื่อ พระภิกษุธรรมปัญญา นับว่าเป็นครั้งแรกที่มีการบันทึกชื่อเจ้าอาวาสไว้ จากข้อมูลชองสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติระบุว่า ตั้งวัดเมื่อ พ.ศ. 2025 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2115

อาคารเสนาสนะ[แก้]

อาคารเสนาสนะที่สำคัญ ได้แก่ วิหารสร้างเมื่อ พ.ศ. 2024 ศิลปะล้านนา วิหารเคยเกิดไฟไหม้จึงได้สร้างวิหารหลังใหม่ภายหลัง มีซุ้มโขงหน้าวิหาร มีรูปปั้นลักษณะจีน เป็นรูปพญานาคสองตัวหางพันกัน เหนือขนดลำตัวสองฟากเป็นยอดเขาหิมพานต์ พร้อมพระอาทิตย์ พระจันทร์ อุโบสถมีหลักศิลาจารึกที่มีลักษณะใบเสมา ทำจากหินทรายสีเทา ด้านหน้าพระอุโบสถ เป็นสถูปบรรจุอัฐิหลวงพ่อพระครูสังฆกิจวิรุฬห์ (สิงห์คำ ธมฺมทินฺโน) อดีตเจ้าอาวาสวัดป้านปิง[1]

เจดีย์ที่สร้างมาตั้งแต่ต้น เป็นแบบฐานสูงย่อมุมไม้ 28 ทรง 12 เหลี่ยม มีฐานกว้าง 10.20 เมตร สูงประมาณ 25 เมตร เจดีย์เป็นทรงแบบล้านนาฝีมือช่างหลวง ปูชนียวัตถุที่สำคัญ ได้แก่ พระเพชรสิงห์หนึ่ง เป็นพระพุทธรูปหล่อด้วยโลหะสัมฤทธิ์ทั้งสององค์ องค์พระประธานประทับนั่งแบบสมาธิเพชรปางมารวิชัย ด้วยฝีมือช่างหลวงยุคต้นของล้านนา หน้าตักกว้าง 1.70 เมตร องค์รองด้านขวาหน้าตักกว้าง 1.30 เมตร และวัดได้ขุดพบดินจี่ฮ่อฐานกุฏิ เป็นอิฐเผาที่เชื่อกันว่าช่างล้านนาเรียนรู้มาจากจีนฮ่อ มณฑลยูนานที่ติดต่อค้าขายกับอาณาจักรล้านนาในยุคต้น ๆ มีประมาณ 20 ก้อน ที่อยู่สภาพดี แต่ละก้อนยาว 60 เซนติเมตร กว้างและหนา 28 เซนติเมตร[2]

อ้างอิง[แก้]

  1. "วัดป้านปิง".
  2. "วัดป้านปิง! วัดที่คุ้มครองอันตรายจากอีกฟากของแม่น้ำปิง". เชียงใหม่นิวส์.