ข้ามไปเนื้อหา

วัดป่าแดด (อำเภอเมืองเชียงใหม่)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดป่าแดด
แผนที่
ชื่อสามัญวัดป่าแดด, วัดดอนแก้ว
ที่ตั้งตำบลป่าแดด อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
เจ้าอาวาสพระครูปลัดนันทวัฒน์ (พระอาจารย์พยุงศักดิ์ ธีรธมฺโม)
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดป่าแดด เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลป่าแดด อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ปัจจุบันพระครูปลัดนันทวัฒน์ (พระอาจารย์พยุงศักดิ์ ธีรธมฺโม) หรือครูบาคัมภีรธรรม เป็นเจ้าอาวาส

ประวัติ[แก้]

วัดป่าแดด เดิมมีชื่อว่า วัดดอนแก้ว เนื่องจากมีสภาพพื้นที่เป็นเนินสูงและมีต้นพิกุล (ต้นดอกแก้ว) ขึ้นอยู่เต็มไปหมด และจากคำบอกเล่ากล่าวว่า ในสมัยพญามังรายสถาปนาเวียงกุมกามเป็นเมืองหลวงแห่งแรกของล้านนาในบริเวณที่ราบลุ่ม ริมแม่น้ำปิง (สายเดิม) มีการใช้บริเวณที่ตั้งของวัดดอนแก้วในอดีตเป็นอุโบสถสำหรับให้นักโทษประหารหรือเชลยศึกได้ฟังเทศน์ฟังธรรมเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนที่จะถูกประหาร โดยจะอาราธนาพระมหาเถระจากวัดในเวียงกุมกามราชธานีพายเรือข้ามฝั่งแม่น้ำปิงมาเทศน์โปรด

เมื่อเวลาผ่านไปหลายร้อยปี สภาพอุโบสถหลังเดิมผุพังลงจนไม่เหลือ จนได้รับการสร้างใหม่เมื่อ พ.ศ. 2345 ภายหลังเปลี่ยนชื่อมาเป็น "วัดป่าแดด" เนื่องจากบริเวณวัดเป็นป่าทึบ ในยามเย็นจะมีฝูงนกแสด หรือนกแสก ร้องเสียงดังไปทั่ว จนชาวบ้านเรียกขานว่าเป็นป่านกแสด และเรียกเพี้ยนกันต่อมากลายเป็นชื่อวัดป่าแดด[1] สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติระบุว่าตั้งวัดเมื่อ พ.ศ. 2475 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2484[2]

อาคารเสนาสนะ[แก้]

อาคารเสนาสนะที่สำคัญ ได้แก่ วิหารหลวงลายคำ อายุกว่า 200 ปี ภายในเป็นโถงโล่งไม่มีเสา และมีภาพจิตรกรรมฝาผนังเป็นภาพของพระพุทธรูปสำคัญต่าง ๆ ในล้านนา ภายในประดิษฐาน หลวงพ่อตาหวาน พระประธานประจำวิหาร

วิหารพระพิฆเนศหรือหอมหาเทพบูรพาจารย์ ซึ่งเป็นอาคารปูนยกพื้นสูงสถาปัตยกรรมล้านนา ภายในทาสีแดงชาด เป็นที่ประดิษฐานพระพิฆเนศนามว่า อุตรศรีคณปติ มีความหมายว่า "ผู้ประทานความสำเร็จในทางทิศเหนือ" ซึ่งสร้างจากโลหะสัมฤทธิ์รมดำ มีสี่พระกร ทรงวัชระ บ่วง งา และถ้วยขนม ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของวิหารหลวง หอพระเพชรกรรมฐาน หรือหอกรรมฐานสำหรับปฏิบัติธรรม เป็นหอไม้สักทองทั้งหลังที่นำเข้ามาจากพม่า ยังมีหอไตรอยู่ทางทิศตะวันออกของวิหารพระพิฆเนศ ติดกับกำแพงด้านหน้าของวัด เป็นอาคารปูนสองชั้นหน้าบันเป็นลายไม้ประดับด้วยกระจกสี นอกจากนั้นบริเวณใต้วิหารพระพิฆเนศเป็นบ่อน้ำทิพย์ ซึ่งเป็นบ่อน้ำเก่าแก่ของวัด

เจดีย์บนฐานสี่เหลี่ยมยกสูง และมีซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปปางสมาธิทั้งสี่ด้านด้วยกัน รวมถึงมีเจดีย์ขนาดเล็ก ๆ 8 องค์ ประดับอยู่บนฐานเจดีย์ ส่วนองค์เจดีย์ก็เป็นทรงระฆังสีทอง ยอดประดับด้วยฉัตรเจ็ดชั้น[3]

อ้างอิง[แก้]

  1. "สายมูต้องมา! ขอพรองค์พระพิฆเนศศักดิ์สิทธิ์ "วัดป่าแดด" เชียงใหม่". ผู้จัดการออนไลน์.
  2. "วัดป่าแดด". สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ.
  3. "วัดป่าแดด จังหวัดเชียงใหม่ ที่สายมูต้องไม่พลาด!!".