วัดธรรมาภิรตาราม (กรุงเทพมหานคร)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดธรรมาภิรตาราม
แผนที่
ชื่อสามัญวัดธรรมาภิรตาราม, วัดสองพี่น้อง, วัดสี่แยก, วัดสะพานสูง
ที่ตั้งเลขที่ 170 ถนนเตชะวณิช แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร 10300
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
พระประธานหลวงพ่อสุโขทัย
พระพุทธรูปสำคัญหลวงพ่ออู่ทอง
เจ้าอาวาสพระครูโกศลธรรมคุณ (สำลี สิริกาญฺจโน ศรีโพนทอง)
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดธรรมาภิรตาราม เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในแขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร วัดมีเนื้อที่ประมาณ 8 ไร่

ประวัติ[แก้]

วัดธรรมาภิรตารามสร้างขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. 2300 ไม่ทราบนามและประวัติผู้สร้าง เดิมชาวบ้านเรียกว่า วัดสองพี่น้อง สันนิษฐานว่า มีพี่น้องสองคนร่วมกันสร้างวัดนี้ขึ้น ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเรียกเป็น วัดสี่แยก เนื่องจากตั้งอยู่บริเวณที่คลองบางซื่อตัดกับคลองเปรมประชากร นอกจากนั้นยังมีอีกชื่อ คือ วัดสะพานสูง ตามลักษณะของสะพานข้ามคลองบริเวณนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเคยเสด็จพระราชดำเนินมาที่วัดนี้ มีพระราชดำรัสถามถึงชื่อวัด แล้วตรัสว่า วัดนี้มีสะพานสูงเป็นเครื่องหมาย ควรชื่อวัดสะพานสูง จึงเรียกวัดสะพานสูงตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ต่อมาราว พ.ศ. 2482 หลังจากสยามเปลี่ยนชื่อมาเป็นประเทศไทยแล้ว วัดได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น "วัดธรรมาภิรตาราม"[1] เพราะเห็นว่าชื่อวัดที่เป็นภาษาไทยแท้ ๆ ไม่ไพเราะ โดยตั้งเพื่อให้เหมาะสมตามเหตุการณ์ที่เคยได้เป็นวัดที่มีการศึกษาเล่าเรียนมาทั้งทางโลกและทางธรรม กุลบุตรกุลธิดาที่ได้ศึกษาเล่าเรียนในสำนักนี้มีความรู้ไปประกอบการเลี้ยงชีพ[2]

อาคารเสนาสนะและปูชนียวัตถุ[แก้]

อาคารเสนาสนะในวัดได้แก่ เจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองหรือเจดีย์ทรงเครื่อง กว้างด้านละ 6 เมตร สูงประมาณ 12 เมตร อยู่บริเวณด้านหน้าพระอุโบสถลักษณะศิลปะสมัยอยุธยาตอนปลายแบบที่เรียกว่าโบสถ์มหาอุด กล่าวคือ ก่ออิฐถือปูน หลังโบสถ์อุดตัน หน้าโบสถ์เป็นเพิง หลังคาชั้นเดียวไม่มีช่อฟ้า ใบระกา สัณฐานโบสถ์ด้านนอกทำคล้ายท้องเรือสำเภา คือหัวท้ายโค้ง กลางอ่อนลง ซุ้มประตูอยู่ภายในบริเวณพระอุโบสถมีลักษณะเป็นซุ้มประตูก่ออิฐถือปูน หลังคาทรงจีน ภายในมีใบเสมาหินแกะสลักลวดลาย วัดมีหอระฆังเก่าเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส 2 ชั้น หลังคามุงกระเบื้องว่าว[3]

ปูชนียวัตถุของวัด ได้แก่ หลวงพ่ออู่ทอง เป็นพระพุทธรูปในวิหารองค์ใหญ่ ทำด้วยหินทรายแดง ลงรักปิดทอง ปางสมาธิ แบบสมัยอู่ทอง หน้าตักกว้าง 168 เซนติเมตร ส่วนสูงวัดจากทับเกษตรถึงยอดเปลวรัศมีได้ 227 เซนติเมตร และมีพระพุทธรูปอีกองค์ คือ หลวงพ่อสุโขทัย เป็นพระประธานในพระอุโบสถ ลงรักปิดทอง ปางมารวิชัย สมัยสุโขทัย หน้าตักกว้าง 183 เซนติเมตร ส่วนสูงวัดจากทับเกษตร (ที่นั่ง) ถึงยอดเปลวรัศมีได้ 242 เซนติเมตร[4]

รายนามเจ้าอาวาส[แก้]

  • เจ้าอธิการทอง
  • เจ้าอธิการคุ่ย
  • พระอธิกาคอน
  • พระมหาสา
  • พระครูธรรมานุกูล (เครื่อง อิสฺสรเถร วอนประสพ)
  • พระครูสิริธรรมวิมล (เล็ก ปวโร เปาวรัตน์)
  • พระครูโกศลธรรมคุณ (สำลี สิริกาญฺจโน ศรีโพนทอง)

อ้างอิง[แก้]

  1. กรมศิลปากร. ฝ่ายทะเบียนโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุและช่างอนุรักษ์. รายงานการสำรวจขึ้นทะเบียนโบราณสถาน, พ.ศ. 2539.
  2. "ประวัติวัด".
  3. "วัดธรรมาภิรตาราม". ระบบภูมิสารสนเทศ แหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม.
  4. "หลวงพ่อสุโขทัย".