มัลลี คงประภัศร์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
มัลลี คงประภัศร์
เกิด20 มกราคม พ.ศ. 2426
ปุย ช้างแก้ว
จังหวัดธนบุรี
เสียชีวิต5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 (88 ปี)
คู่สมรสสม คงประภัสร์
อาชีพข้าราชการ
ครูสอนนาฏศิลป์ไทย
ปีที่แสดงพ.ศ. 2436–2505
สังกัดกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม

มัลลี คงประภัศร์ หรือ ครูหมัน เป็นศิลปินด้านนาฏศิลป์, โขน และละครรำ เป็นที่รู้จักจากความสามารถในแสดงโขนและละครได้ทุกบทบาทแม้แต่ในบทบาทของผู้ชาย[1]

ประวัติ[แก้]

ครูหมันเกิดเมื่อวันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2426 นามเดิมว่า "ปุย" เป็นบุตรคนที่ 3 ของนายกุก และนางนวม ช้างแก้ว อาศัยอยู่บริเวณบ้านริมปากคลองวัดประยุรวงศาวาส จังหวัดธนบุรี คุณครูมัลลี มีพี่น้อง 5 คน คือ

  1. นางเนย ช้างแก้ว
  2. นางเพิ่ม ปูรณานนาค
  3. นางปุย (คุณครูมัลลี หรือ หมั่น) คงประภัศร์
  4. นายชื่น ช้างแก้ว
  5. สิบเอกวิง ช้างแก้ว
  6. นายวรรณ ช้างแก้ว

เมื่อเด็กหญิงปุยอายุได้ประมาณ 8 ปี นายกุกผู้บิดาได้เสียชีวิตลงทำให้เกิดความสับสนวุ่นวายภายในครอบครัวเนื่องจากบ้านที่พักอาศัยอยู่เป็นของญาติทางฝ่ายบิดา นางนวมผู้มารดาจึงได้ไปสมัครเข้ารับราชการสนองพระเดชพระคุณเป็นพนักงานประจำห้องเครื่องเสวยของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุริยงประยุรพันธุ์พระอนุชาของกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ และได้พาธิดาคนเล็กคือเด็กหญิงปุยไปอยู่ด้วย

ฝึกหัดละคร[แก้]

ขณะที่เด็กหญิงปุยเข้าไปอยู่ในวังหลวงกับมารดานั้นได้มีโอกาสเข้าชมละครรำของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวัชรีวงศ์(หม่อมเจ้าขาว)ที่เข้าไปแสดงเป็นประจําในวังหลวง เพราะละครคณะเจ้าขาวเป็นคณะที่มีชื่อเสียงมากในสมัยนั้น ครูหมันมีความสนใจในการแสดงจึงแอบหนีมารดาติดตามคณะละครไป ได้รับการฝึกสอนจาก"หม่อมแม่เป้า" ครูละครคนสำคัญของวังเจ้าขาว (ปัจจุบันคือโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย) เมื่อมารดาทราบมาขอรับตัวกลับ ท่านปฏิเสธและอ้อนวอนจนมารดายอมแพ้และได้เข้าเรียนละครรำอย่างจริงจังโดยได้รับการฝึกหัดอย่างดียิ่งจากหม่อมแม่เป้าแล้วปรากฏว่าเด็กหญิงปุยสามารถการรับถ่ายทอดวิชาละครได้อย่างน่าแปลกใจผิดความคาดหมายของทุกๆคนเพราะไม่ว่าจะเป็นการรำท่าอะไร เพลงไหน ยากลำบากเพียงใด เด็กหญิงปุย เป็นต้องทำให้ได้และทำได้หมดมิได้ผิดเพี้ยนไปจากท่าที่ครูสอนให้แม้แต่นิดเดียว นอกจากนั้นแล้วยังสามารถจดจำได้อย่างรวดเร็วถูกต้องแม่นยำ จนในที่สุดสามารถออกโรงแสดงได้ เมื่ออายุประมาณ 10 ปีเท่านั้น

เด็กหญิงปุยได้มีโอกาสไปแสดงในงานต่างๆ มากมาย แม้การแสดงหน้าพระที่นั่งก็ยังเคยได้มีโอกาสแสดงถวายหลายครั้งหลายหน ครั้งหนึ่งเด็กหญิงปุ๋ยได้รับการมอบหมายให้แสดงเป็นตัว “สมันน้อย” ในละครเรื่อง “ดาหลัง” ซึ่ง ละครคณะเจ้าขาวจะต้องนำเข้าไปแสดงในวังหลวง ภายหลังจากที่ได้รับการฝึกและซักซ้อมดีแล้วปรากฏว่าการแสดงเป็นตัวสมันน้อยของเด็กหญิงปุย เป็นที่พึ่งพอพระราชหฤทัยและพระทัยของเจ้านายฝ่ายในหลายพระองค์จนทรงจำได้และเรียกเด็กหญิงปุยด้วยความเอ็นดูว่า "ไอ้หมัน" จนติดพระโอษฐ์เป็นเหตุให้ใครต่อใครพากันเรียกกันต่อๆมาว่า “หมัน” จนเคยชินติดปากกระทั่งในที่สุดชื่อปุยก็จางหายไปจากวงการละครเจ้าขาวเกิดมี “หมัน” ขึ้นมาแทนและเจ้าตัวเองก็พอใจในชื่อใหม่นี้เพราะถือเป็นมงคลนามได้ใช้มาจนกระทั่งถึงแก่กรรม

ต่อมาเมื่ออายุประมาณ 22 ปี ได้เกิดรักใคร่ชอบพอกับนายส้ม คงประภัศร์ ซึ่งรับราชการเป็นเสมียนที่กรมพระคลังข้างที่และเป็นนักดนตรี (ทหารแตรมหาดเล็ก) จึงได้กราบทูลลาออกมาแต่งงานอยู่กินกับนายส้ม โดยยึดถืออาชีพทางรับจ้างแสดงละครทั่วไปตลอดมาตามแต่ผู้ใดจะว่าจ้างให้ไปแสดงที่ไหน มีบุตรธิดา 2 คน ได้แก่

  1. นางถนอม(คงประภัศร์) ยวงศรี
  2. นายอรุณ คงประภัสร์

รับราชการ[แก้]

ประมาณ พ.ศ. 2477 ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองกรมมหรสพถูกยุบทางราชการได้จัดตั้งกรมศิลปากรขึ้นมาแทนและในขณะที่หลวงวิจิตรวาทการดำรงตำแหน่งอธิบดีฯ อยู่นั้นทางรัฐบาลได้ดำริจะจัดตั้งโรงเรียนนาฏดุริยางค์ขึ้นจึงได้พยายามจัดหารวบรวมผู้มีความสามารถทางด้านละคร โขน และดนตรีมาเป็นครู ปรากฏว่าในรุ่นแรกนี้ทางราชการได้จัดหามาได้แล้ว ๒ ท่าน คือ

  1. คุณครูลมูล ยมะคุปต์
  2. หม่อมครูต่วน ภัทรนาวิก

หม่อมครูต่วนและครูละม่อม วงทองเหลือ อาจารย์ใหญ่ประจำโรงเรียนาฏดุริยางคศาสตร์(วิทยาลัยนาฏศิลป สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ในปัจจุบัน) ที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นได้ชักชวนครูหมันเข้ารับราชการเป็นครู โดยหลวงวิจิตรวาทการรับเข้าเป็นราชการศิลปินชั้นสามครูนาฏศิลป์ ผลงานสำคัญของท่านคือได้ร่วมกันกับครูลมุล ยมะคุปต์ ประดิษฐ์ท่ารำ "แม่บทใหญ่" รวมถึงเดินทางไปเชื่อมสันถวไมตรีแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมในต่างประเทศ เช่น ประเทศญี่ปุ่น ประเทศพม่า ท่านได้รับการยกย่องในความสามารถของท่านที่สามารถแสดงบทบาทในละครได้ทุกบทบาท และในการแสดงโขน ท่านสามารถขึ้นแสดงแทนในบทบาทชายได้

ครูหมันรับราชการเป็นครูสอนนาฏศิลป กรมศิลปากร จนกระทั่งอายุ 80 ปีเศษ ท่านจึงถูกเลิกว่าจ้างเพราะท่านเริ่มมีอาการ “หลง” หลังจากนั้นท่านก็อยู่กับบ้านเฉยๆ ภายหลังเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ.2514 ท่านเกิดอาการหน้ามืด ล้มฟุบลงบรรดาบุตรหลานและเหลนต่างก็พากันปฐมพยาบาลอย่างเต็มที่และได้เชิญแพทย์มาทำการรักษาพยาบาลภายหลังจากการตรวจโดยละเอียดแล้วแพทย์ได้แนะนำว่าหัวใจสูบฉีดโลหิตได้น้อยทำให้โลหิตไม่สามารถขึ้นไปหล่อเลี้ยงสมองได้เต็มที่ควรให้นอนราบเพื่อโลหิตจะได้หมุนเวียนได้ง่ายบุตรหลานจึงได้นำท่านนอนบนเตียงและให้การรักษาพยาบาลตลอดมาจนถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 ด้วยวัย 88 ปี[2] ได้รับพระราชทานเพลิงศพเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2515 ณ พระเมรุวัดเทพศิรินทราวาส[3]

อ้างอิง[แก้]