พระเศรษฐีนวโกฏิ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

พระนี้มีชื่อว่า "พระนวเศรษฐี" เป็นที่รู้จักแพร่หลายในปัจจุบันเพราะการสร้างโดยอาจารย์เทพย์ สาริกบุตร อย่างน้อยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2512 ซึ่งอ้างอิงตำราของวัดมณีชลขัณฑ์ จังหวัดลพบุรี เชื่อว่าที่มาของตำรา พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจนฺโท) ได้มาจากล้านช้าง ปัจจุบันนิยมเรียกว่า พระเศรษฐีนวโกฏิ มีอายุคาถาเกินกว่าร้อยปีขึ้นไป มิใช่ตำราแต่งใหม่ พระอาจารย์ในจังหวัดลพบุรีสร้างกันหลายท่าน โดยเฉพาะในสายวัดนิกายธรรมยุติ และตัวบทพระคาถาแพร่หลายอยู่ในประเทศลาว รวมถึงภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ในภาคกลางสวดพระคาถาบทนี้ในงานสำคัญบางงาน แต่แทรกอยู่ในบทใหญ่ ไม่ได้แยกออกเป็นบทพิเศษ

เศรษฐีทั้ง 9[แก้]

เดิมในสมัยพุทธกาล เศรษฐีเป็นตำแหน่งที่ราชาเจ้าแคว้น พระราชทานให้แก่ผู้มีทรัพย์ เป็นพ่อค้าวานิชที่มีผลต่อเศรษฐกิจและความมั่งคั่งของท้องพระคลัง แต่ในพระคาถามุ่งหวังเพียงอ้างความดีของท่านผู้ใจบุญกลุ่มหนึ่ง ที่ปรากฏนามในพระชาดก ซึ่งบริจาคทานอย่างมโหฬาร หรือมีบารมีมาก สามารถบันดาลฝนโบกขรพรรษ สงเคราะห์แก่บริวารได้ เพื่อหวังอ้างบารมีของท่านเหล่านั้น ให้ส่งผลต่อผู้บูชา บุคคลเหล่านั้นทั้งที่อยู่ร่วมสมัยพุทธกาล และสมัยของอดีตพุทธะ มีชื่อว่า

  1. ธนัญชัย
  2. ยะสะ
  3. สุมนะ
  4. ชฏิละ
  5. อนาถปิณฑิกะ
  6. เมณฑกะ
  7. โชติกะ
  8. สุมังคละ
  9. มัณฑาตุ
  10. เวสสันตร

รวมเป็น 10 ท่าน ในบางฉบับ มี 11 ท่าน และในบทคาถานี้ ไม่มีนาง วิสาขามหาอุบาสิกา (ไม่มีชื่อในคาถานี้) ทำให้มีการคัดลอกผิดๆ มาตลอดหลายปี ผู้รู้ได้ถือเอาคตินี้มาสร้างเป็นพระนวเศรษฐี ให้มีพระพักตร์ทั้งหมด 9 พระพักตร์ แทนคุณของผู้บำเพ็ญทานในอดีต โดยรับอิทธิพลรูปแบบของพุทธมหายาน ทำให้มีหลายพระพักตร์

ประวัติ[แก้]

เป็นคติของชาวล้านช้างที่ใช้พระคาถานี้ บูชาพระในวันทางจันทรคติที่กำหนดไว้ในตำรา เชื่อว่าผู้ใดได้บูชาพระด้วยคาถานี้แล้ว จะมีสิริมงคล ทำมาค้าขึ้น ประสพโชคลาภ อยู่เย็นเป็นสุข ด้วยอานิสงส์ ในบทความที่แพร่หลายกัน อ้างว่ามีตำนาน สมัยหนึ่งเกิดทุกข์เข็ญ ทุพภิกขภัยข้าวยากหมากแพง ประชาชนเดือดร้อน บังเกิดความอดอยากขึ้น มีพระภิกษุรูปหนึ่ง ได้แนะนำให้สร้างพระเศรษฐีนวโกฏิขึ้น เพื่อทำการสักการบูชาแก้เคล็ดในความทุกข์ยากทั้งหลาย และเมื่อสร้างและทำการฉลองสำเร็จ ก็ปรากฏมีเหตุการณ์เป็นอัศจรรย์คือ ความทุกข์ยากอดอยากทั้งหลาย ได้บรรเทาลงและสงบระงับในที่สุด ซึ่งอ้างอิงยุคสมัยไม่ได้

การสร้างพระเศรษฐีนวโกฏิ[แก้]

ตำรับของ '''พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจนฺโท)''' ให้ใช้ไม้ ยอป่า ราชพฤกษ์ ตะกรุดหรือกระดาษจารอักขระ เงิน ทองคำ ครั่ง หรือ ชันโรง หรือ ขี้ผึ้ง มีเคล็ดปลีกย่อยในการเลือกไม้ และวิธีการรวมถึงวันที่ทำ อีกพอสมควร ยากที่สุดคือการหาไม้ตรงตามที่ระบุ ทำแล้วมีวิธีบูชา โดยใช้ คาถา "มาขะโย มาวะโยมัยหัง มาจะโกจิ อุปัททะโว ธัญญะธารานิ เม ปะวัสสันตุ ธะนัญชัยยัสสะ ยะถา ฆะเร สุวัณณานิ หิรัญญา จะ สัพพะโภคา จะ ระตะนานิ ปะวัสสันตุ เม เอวัง ฆะเร สุมะนะ ชะฏิลัสสะ จะ อะนาถะปิณฑิกะ เมณฑะกัสสะ โชติกะ สุมังคลัสสะ มัณฑาตุ เวสสันตะรัสสะ ปะวัสสันติ ยะถา ฆะเร เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ สัพพะสิทธิ ภะวันตุ เม" ต้นฉบับเดิมไม่ปรากฏรูปแบบของพระ ผู้รู้จึงประดิษฐ์ขึ้น

อานิสงส์การบูชา[แก้]

การบูชาให้ใช้ดอกไม้หลากสี น้ำ ขนมหวานมังสวิรัติ (ไม่ผสมไข่) ฉบับที่อาจารย์เทพย์ สาริกบุตร สืบทอดมา มิให้ขาดข้าวหลามด้วย ผู้บูชาห้ามมิให้ดื่มสุราเมรัย


เชื่อว่าจะอำนวยลาภผลโภคทรัพย์ตามสมควร ปกปักรักษาให้บ้านเรือนร่มเย็นเป็นสุข มีความเจริญรุ่งเรือง และป้องกันภยันตรายสิ่งไม่ดีไม่งามต่างๆ ปัจจุบันมีการสืบสายวิธีการสร้างได้อย่างถูกต้องตามตำราดั้งเดิม.แต่เคล็ดลับแตกต่าง สูญหาย ไปตามกาลเวลา


คติธรรมที่แฝงอยู่ในพระนวเศรษฐี มุ่งให้ผู้บูชายึดมั่นในการประกอบ ทานบารมี ดั่งนามที่ท่องสวด ซึ่งแต่ละท่าน ตั้งโรงทานบริจาคเป็นประจำ ผู้อยู่ใกล้เคียง ก็ได้รับเมตตากรุณา มีความร่มเย็นเป็นสุข ชาวเมืองหรือชุมชนที่มีบุคคลเหล่านี้อยู่ เมื่อไม่ลำบากต่างก็เอื้อเฟื้อช่วยเหลือกันมิได้โลภ กระหายในทรัพย์สมบัติ ต่างก็มีจิตใจผ่องใสเป็นสุข การบริจาคทรัพย์สมบัติทั้งปวง เพื่อประโยชน์สุขแก่ผู้อื่น ด้วยทรัพย์ทั้งหลาย ยังคลายกิเลส คือ ความโลภ ความหลง หวงแหน เมื่อบริจาคทรัพย์แล้ว ผู้รับก็จะได้ประโยชน์จากสิ่งนั้น และมีความชื่นชมยินดี ผู้ให้ก็จะอิ่มเอมใจว่าได้ทำประโยชน์แก่ผู้อื่น เกิดความปิติยินดีเช่นกัน ทั้งผู้ให้และผู้รับย่อมได้รับ ความสุขความอิ่มใจดังนี้