พระยาพหลพลพยุหเสนา (กิ่ม พหลโยธิน)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระยาพหลพลพยุหเสนา (กิ่ม พหลโยธิน)
เกิดป. 2385
เสียชีวิต19 ตุลาคม 2441
สาเหตุเสียชีวิตโรคบิด
บุตรพระยาพหลโยธินรามินทรภักดี (นพ พหลโยธิน)พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน)
บิดามารดา
  • ฉ่ำ (บิดา)

พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา (กิ่ม พหลโยธิน) (ป. 2385 – 19 ตุลาคม 2441) เป็นนายทหารและขุนนางชาวไทย และเป็นบิดาของพลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) อดีตนายกรัฐมนตรี

ประวัติ[แก้]

พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา มีชื่อเดิมว่า กิ่ม เกิดเมื่อประมาณปี 2385 ในปลายรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว บิดาชื่อ นายฉ่ำ เป็นนายเวรกรมพระอาลักษณ์ ครั้นถึงปี 2409 ขณะอายุได้ 24 ปี บิดาได้นำเข้าถวายตัวเป็นมหาดเล็กต่อสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ กรมขุนพินิตประชานาถพระตำหนักสวนกุหลาบ

ปีถัดมาคือในปี 2410 โปรดเกล้าฯให้ดำรงตำแหน่งปลัดเวรตำรวจ ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคตในปี 2411 และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ กรมขุนพินิตประชานาถ ขึ้นครองสิริราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้าฯ ให้นายกิ่มเป็นมหาดเล็กเวรฤทธิ์ จากนั้นในปี 2412 ได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตรให้นายกิ่มเป็นหลวงทวยหาญรักษา ปลัดกรมทหารอย่างยุโรป มียศเป็นร้อยเอก

ต่อมา ร้อยเอก หลวงทวยหาญรักษา (กิ่ม) ได้สร้างวีรกรรมด้วยการไปมีปากเสียงกับ เจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง (เพ็ง เพ็ญกุล) ขุนนางชั้นผู้ใหญ่ พระราชโอรสบุญธรรมในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถึงที่จวนของเจ้าพระยามหินทร์ ๆ เนื่องจากเจ้าพระยามหินทร์ไปต่อว่าติเตียนทหารหน้าต่อหน้าหลวงทวยหาญ เจ้าพระยามหินทร์จึงทำหนังสือกราบทูลรายงานเรื่องราวให้ทรงทราบ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงมีลายพระราชหัตถเลขาไปถึง เจ้าหมื่นไวยวรนารถ (เจิม แสง-ชูโต; ต่อมาคือจอมพลเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสง-ชูโต)) เจ้านายของหลวงทวยหาญที่กำลังพักรักษาตัวให้กลับมาเข้าเฝ้า และเมื่อซักถามความจริงจึงได้ทำหนังสือกราบทูลให้ทรงทราบ

จากนั้นในคราวสงครามปราบฮ่อ เมื่อปีระกาสัปตศก พ.ศ. 2428 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีรับสั่งให้เจ้าหมื่นไวยวรนารถเป็นแม่ทัพไปปราบฮ่อ แต่ติดที่ว่านายทหารและพลทหารในสังกัดรวม 5 คนกลับติดคุกรับพระราชอาญาจากคราวตามเสด็จประพาสพระพุทธบาท เมืองสระบุรี เจ้าหมื่นไวยจึงได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูล พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าเทวัญอุไทยวงศ์ กรมหมื่นเทวะวงศ์วโรปการ แต่กรมหมื่นเทวะวงศ์วโรปการก็รับสั่งห้าม เจ้าหมื่นไวย จึงเรียกตัวหลวงทวยหาญมาปรึกษา หลวงทวยหาญจึงทำหนังสือกราบทูลขอพระราชทานอภัยโทษจนเป็นผลสำเร็จ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้พระราชทานสัญญาบัตรให้หลวงทวยหาญเป็น พระพหลพลพยุหเสนา ถือศักดินา 1000 เมื่อวันจันทร์ แรม 3 ค่ำ เดือน 11 ปีระกาสัปตศก จุลศักราช 1247 ตรงกับเดือนตุลาคม 2428[1]

ต่อมาได้เลื่อนยศทหารเป็น นายพันเอก จากนั้นจึงได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นพระยาในราชทินนามเดิมถือศักดินา 1500 เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2438 ระหว่างการบำเพ็ญพระราชกุศลสมโภชสิริราชสมบัติ[2] พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา (กิ่ม) ถึงแก่กรรมด้วยโรคบิดเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2441 ขณะอายุประมาณ 55–56 ปี[3]

พระยาพหลพลพยุหเสนา (กิ่ม) มีบุตรหลายคนแต่บุตรที่โดดเด่นและสำคัญมีอยู่ 2 คนคือ พลโท พระยาพหลโยธินรามินทรภักดี (นพ พหลโยธิน) อดีตองคมนตรี และอดีตสมุหเทศาภิบาลมณฑลนครราชสีมา และพลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) อดีตนายกรัฐมนตรี อดีตผู้บัญชาการทหารบก อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งทั้ง 2 ท่านมีบรรดาศักดิ์และราชทินนามว่า พระยาพหล เช่นเดียวกันกับบิดา[4]

อ้างอิง[แก้]

  1. "สำเนาสัญญาบัตรปีรกาสัปตศก" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 30 กันยายน 2429.
  2. "พระราชทานสัญญาบัตร" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 12 มีนาคม 2438.
  3. "ข่าวตาย" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 22 ตุลาคม 2441.
  4. "ฉากบู๊ของพ่อพระยาพหลฯ ไม่ยอมให้ขุนนางดูหมิ่นทหาร-คอยเฝ้าร.5ขอพระราชทานอภัยโทษให้เพื่อน". ศิลปวัฒนธรรม. 4 ธันวาคม 2021. สืบค้นเมื่อ 2 พฤษภาคม 2024.