พระพุทธเทววิลาส

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระพุทธเทววิลาส
ชื่อเต็มพระพุทธเทววิลาส
ชื่อสามัญหลวงพ่อขาว
ประเภทพระพุทธรูป
ศิลปะเชียงแสนผสมสุโขทัย
ความกว้าง8 นิ้ว
ความสูง19 นิ้ว
วัสดุศิลาขาว
สถานที่ประดิษฐานพระอุโบสถ วัดเทพธิดาราม กรุงเทพมหานคร
ความสำคัญประดิษฐานอยู่ในเวชยันต์บุษบกไม้จำหลักลาย หรือบุศบกท้ายเกริน
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

พระพุทธเทววิลาส หรือหลวงพ่อขาว ประดิษฐาน ณ พระอุโบสถ วัดเทพธิดาราม วรวิหาร ถ.มหาไชย แขวงสำราญราษฎร์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

ไม่ปรากฏประวัติการสร้างหรือที่มา ปรากฏประวัติเพียงว่าพระพุทธเทววิลาสองค์นี้ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาบดินทร์ รัชกาลที่ ๓(พ.ศ. ๒๓๖๗ - ๒๓๙๔) มีพระราชศรัทธาเลื่อมใสในพระบวรพุทธศาสนาอย่างยิ่ง ทรงสร้างและบูรณปฏิสังขรณ์พระอารามจำนวนมาก พุทธศักราช ๒๓๗๙ โปรดให้กรมหมื่นภูมินทรภักดี (พระองค์เจ้าชาย ลดาวัลย์ ต้นราชสกุลลดาวัลย์)อันประสูติแต่เจ้าจอมมารดาเอมน้อย เป็นแม่กองสร้างวัดเพื่อเฉลิมพระเกียรติ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิง วิลาศ กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ พระราชธิดาพระองค์ใหญ่ ผู้เป็นพระปิยราชธิดา อันประสูติแต่ เจ้าจอมมารดาบาง ทรงพระปรีชาสามารถรับราชการสนองพระเดชพระคุณอย่างใกล้ชิด เป็นที่ไว้วางใจ พระราชฤหทัย แต่เดิมชื่อว่าวัดพระยาไกรสวนหลวง สร้างเสร็จเมื่อพุทธศักราช ๒๓๘๒ พระราชทานนามใหม่ว่า "วัดเทพธิดาราม" ซึ่งหมายถึงกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงประกอบพระราชพิธีผูกพัทธสีมา ในวันที่ ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๓๘๒ โปรดให้อัญเชิญพระพุทธรูปจำหลักด้วยศิลาขาว จาก พระบรมมหาราชวังมาเป็นพระปฏิมากรประธาน

พระพุทธปฏิมากรองค์นี้ เดิมเรียกกันแต่เพียงว่า "หลวงพ่อขาว" เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๘ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพล อดุลยเดช มหิตลาธิเบศร รามาธิบดี จักรีนฤบดินทร์ สยามินทราธิราชบรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินทรงบำเพ็ญพระราชกุศล ถวายพระกฐิน ทรงเฉลิมพระนามว่า "พระพุทธเทววิลาส"

ตามหนังสือราชเลขาธิการที่ รล.๐๐๐๒/๒๕๒๒ เมื่อวันที่ ๒๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๑๔

พระพุทธเทววิลาส หรือหลวงพ่อขาว เป็นพระพุทธรูปศิลปะสมัยเชียงแสนผสมสุโขทัย ปางมารวิชัย ขัดสมาธิเพชร จำหลักด้วยศิลายวง สีขาวบริสุทธิ์

พระเพลากว้าง ๑๔ นิ้ว

สูง ๑๙ นิ้ว หนา ๘ นิ้ว พระอังสา(ไหล่) ๙ นิ้ว รอบพระอุระ (อก)๑๘ นิ้ว ประดิษฐานอยู่ในเวชยันต์บุษบกไม้จำหลักลาย หรือบุศบกท้ายเกริน ปิดทองประดับกระจกเกรียบ ลายประณีตบรรจงมาก รอบๆแวดล้อมด้วยดีบุกปั้นเป็นรูปเทพนมและครุฑปิดทอง ด้านซ้ายขวาตั้งแต่งฉัตรเครื่องสูงทองแผ่ลวด ๕ ชั้น ๒ ดั้ง เหนือพระพุทธรูป กางกั้นสุวรรณฉัตรคันดาน ๕ ชั้น ๑ ดั้ง

ด้านมุมซ้ายขวา ฐานบุศบก ประดิษฐานพระพุทธรูปทรงเครื่องปางห้ามสมุทร ประดับขัตติยะภูษิตาภรณ์ เรียกกันว่าพระทอง ดุจเดียวกันกับพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้วมรกต) เบื้องบนพระทองสององค์ กางกั้นสุวรรณฉัตรคันดาน ๕ ชั้น ๒ ดั้ง สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นของเดิมทั้งสิ้น