พระคริสต์ผู้ทรงสรรพานุภาพ (ไซนาย)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระคริสต์ผู้ทรงสรรพานุภาพ, อารามนักบุญแคเธอริน ไซนาย

รูปเคารพ พระคริสต์ผู้ทรงสรรพานุภาพ (อังกฤษ: Christ Pantocrator) ที่อารามนักบุญแคเธอรินบนคาบสมุทรไซนาย เป็นรูปเคารพสมัยบีแซนทีน สร้างขึ้นในศตวรรษที่ 6[1] และถือเป็นภาพของพระเยซูคริสต์ที่เก่าแก่ที่สุดในฐานะพระผู้ทรงสรรพานุภาพ นักประวัติศาสตร์และนักวิชาการขำนวนมากถือว่ารูปเคารพภาพนี้เป็นชิ้นงานที่สำคัญและเป็นที่จดจำมากที่สุดในศาสตร์ของศิลปะบีแซนทีน และในศาสนาคริสต์อีสเทิร์นออร์ทอดอกซ์และคาทอลิกตะวันออก[2]

เดิมทีเป็นที่เข้าใจกันว่าภาพนี้สร้างขึ้นในศตวรรษที่ 13 เนื่องมาจากการวาดทับเกือบทั้งภาพในเวลานั้น กระทั่งในปี 1962 จึงเป็นที่ยอมรับกันใหม่ว่าภาพนี้สร้างขึ้นในกลางศตวรรษที่ 6 กระนั้นไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดถึงวันที่สร้างสรรค์ภาพนี้ขึ้นมา[3] เมื่ออารามนักบุญแคเธอรินถูกสถาปนาขึ้นโดยดำริของจักรพรรดิยุสตีเนียนที่หนึ่งระหว่างปี 548 ถึง 565[4] อารามได้รับการอุปถัมภ์โดยราชสำนักและจากตัวจักรพรรดิเอง ภาพเขียนนี้เป็นที่เชื่อว่าเป็นหนึ่งในของขวัญจากราชสำนักที่มอบให้แก่อาราม[5] ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่าภาพเขียนนี้สร้างขึ้นในนครคอนซแตนตีโนเปิล ราชธานีของจักรวรรดิบีแซนทีน[6]

เป็นที่ยอมรับกันเป็นส่วนใหญ่ว่ารูปเคารพภาพนี้แสดงภาพแทนภาวะทวิธรรมชาติของพระเยซูคริสต์ กล่าวคือแสดงรูปพระองค์ในฐานะปุถุชนและในฐานะพระเป็นเจ้า[7] ซึ่งน่าจะได้รับอิทธิพลมาจากภายหลังการประชุมสภาสากลในศตวรรษก่อนหน้า ทั้งครั้งแรกที่เอเฟซุส และที่ชัลเซโดน[8] ลักษณะทางขวาของพระเยซูในภาพ (ซ้ายมือของภาพ) แสดงถึงคุณลักษณะของพระองค์ในธรรมชาติที่เป็นปุถุชนหรือมนุษย์ ส่วนอีกฝั่งหนึ่งแสดงถึงคุณลักษณะธรรมชาติอันทรงสรรพานุภาพหรือเป็นพระเจ้า[9] มือขวาเปิดออกในลักษณะให้พร ส่วนมือและแขนซ้ายกอดหนังสือวิวรณ์เล่มหนา[10]

อ้างอิง[แก้]

  1. John Galey, George Forsyth, and Kurt Weitzmann, Sinai and the Monastery of St. Catherine (Givatayim, Israel: Massada, 1980), p. 99.
  2. Galey, Forsyth, Weitzmann, Sinai, p. 92.
  3. Kurt Weitzmann, The Monastery of Saint Catherine at Mount Sinai, the Icons (Princeton, New Jersey: Princeton University Press, 1976), p. 13.
  4. Galey, Forsyth, Weitzmann, Sinai, p. 13.
  5. Galey, Forsyth, Weitzmann, Sinai, 92; Kōnstantinos A. Manaphēs, Sinai: Treasures of the Monastery of Saint Catherine (Athens: Ekdotike Athenon, 1990), p. 93.
  6. Galey, Forsyth, Weitzmann, Sinai, p. 92.
  7. Manolis Chatzidakis and Gerry Walters, "An Encaustic Icon of Christ at Sinai", The Art Bulletin 49, No. 3 (1967): 201; Galey, Forsyth, Weitzmann, Sinai, p. 92; Manaphēs, p. 93; Weitzmann, Sinai, the Icons, p. 15.
  8. Manaphēs, Sinai: Treasures, p. 84; Robin Cormack, Oxford History of Art: Byzantine Art (Oxford: Oxford University Press, 2000), p. 66.
  9. Weitzmann, Sinai, the Icons, p. 15.
  10. Chatzidakis and Walters, "An Encaustic Icon", p. 201.