ผู้ใช้:Ohm Thenizer/ทดลองเขียน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
กิจกรรมทางน้ำ พายเรือคายัคชมพื้นที่ชุ่มน้ำภายในบึง ชื่นชมความหลากหลายของพรรณไม้น้ำ นก แมลง และ สัตว์น้ำในบึง

องค์การสวนพฤกษศาสตร์ ภายใต้การดูแลของ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เล็งเห็นคุณค่าความสำคัญของการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำ[1] และ ทรัพยากรพืชในแต่ละภูมิภาคของประเทศที่มีความแตกต่างกัน จึงมีนโยบายที่จะจัดตั้งศูนย์รวมพรรณไม้ประจำแต่ละภูมิภาค อย่างน้อยภาคละ 1 แห่ง

สวนพฤกษศาสตร์ระยอง
ที่ตั้งตำบลซากพง อำเภอแกลง จังหวัดระยอง
พื้นที่3,800 ไร่ (6.08 ตร.กม.)
จัดตั้งพ.ศ. 2545
หน่วยราชการองค์การสวนพฤกษศาสตร์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

สวนพฤกษศาสตร์ภาคตะวันออก[แก้]

สำหรับภาคตะวันออก จึงหวัดระยองได้ประสานความร่วมมือกับองค์การฯ และหน่วยงานท้องถิ่น ได้ร่วมทำการสำรวจพื้นที่บึงสำนักใหญ่ (หนองจำรุง) ตำบลซากพง อำเภอแกลง จังหวัดระยอง ซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 3,800 ไร่ ในการนี้ ทางจังหวัดระยอง และประชาชนในท้องถิ่น เห็นชอบให้องค์การฯ ดูแลรับผิดชอบพื้นที่ในเบื้องต้น ประมาณ 831 ไร่ เมื่อปี พ.ศ. 2545 เพื่อพัฒนาจัดตั้งศูนย์รวมพรรณไม้ภาคตะวันออก ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ทางธรรมชาติ และให้บริการเผยแพร่ความรู้แก่ประชาชนในท้องถิ่นและผู้มาเยี่ยมชม เพื่อสร้างความเข้าใจในการอนุรักษ์ทรัพยากรพื้นที่ชุ่มน้ำและพรรณไม้ท้องถิ่นร่วมกันให้มากขึ้น

ทั้งนี้ เพื่อให้ทรัพยากรพรรณพืชของประเทศได้รับการดูแล และสามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน ซึ่งต่อมาผู้นำท้องถิ่นและประชาชน ได้เห็นพ้องกันที่จะอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำขนาดใหญ่แห่งนี้ ให้เป็นมรดกทางธรรรมชาติที่สำคัญของประชาชนในท้องถิ่นจังหวัดระยอง จึงได้เสนอยกระดับความสำคัญของพื้นที่ชุ่มน้ำแห่งนี้ให้มีความสำคัญในระดับชาติ ตามประกาศคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552[2] ซึ่งมีข้อกำหนดแนวทางการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับชาติที่ชัดเจน

ในปี พ.ศ. 2553 คณะกรรมการองค์การฯ ได้มีมติเปลี่ยนชื่อศูนย์รวมพรรณไม้ภาคตะวันออก จังหวัดระยองมาเป็นสวนพฤกษศาสตร์ระยอง[3] องค์การสวนพฤกษศาสตร์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้ เพื่อรองรับการขยายตัวและเพิ่มศักยภาพในการพัฒนาพื้นที่ให้เป็นสวนพฤกษศาสตร์ที่ได้มาตรฐานในระดับสากล เนื่องจากสวนพฤกษศาสตร์นั้นนานาอารยะประเทศให้ความสำคัญ และเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย ในด้านเป็นแหล่งเรียนรู้และอนุรักษ์ทรัพยากรพืช และเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของแต่ละประเทศ และในปัจจุบันสังคมกลุ่มนิเวศป่าเสม็ดขาว สวนพฤกษศาสตร์ระยอง ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนให้เป็นรุกขมรดกของแผ่นดินประจำปี 2562 [4]โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม

วัตถุประสงค์[แก้]

เพื่อการศึกษา วิจัย และรวบรวมข้อมูลองค์ความรู้เกี่ยวกับพรรณไม้ท้องถิ่น ในภาคตะวันออก และการอนุรักษ์ทรัพยากรพื้นที่ชุ่มน้ำธรรมชาติในภาคตะวันออก และเผยแพร่ความรู้เพื่อการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน

วิสัยทัศน์[แก้]

เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้คู่ชุมชน ด้านการอนุรักษ์พรรรณไม้ท้องถิ่น และทรัพยากรพื้นที่ชุ่มน้ำธรรมชาติ เพื่อประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและประเทศชาติอย่างแท้จริง

พันธกิจ[แก้]

  1. ศึกษารวบรวมข้อมูลพรรณไม้ท้องถิ่นภาคตะวันออก
  2. อนุรักษ์และฟื้นฟูแหล่งพื้นที่ชุ่มน้ำ และสังคมพืชป่าเสม็ด ให้คงความสมบูรณ์
  3. พัฒนาพื้นที่สวนพฤกศาสตร์ให้เป็นแหล่งเรียนรู้คู่ความเพลิดเพลิน ในด้านการอนุรักษ์พรรณไม้ท้องถิ่น และทรัพยากรพื้นที่ชุ่มน้ำธรรมชาติ สำหรับประชาชนผู้มาเยี่ยมชม ให้ได้รับความรู้และได้พักผ่อนตามอัธยาศัย
  4. ประชาสัมพันธ์เผยแผ่ความรู้ด้านพฤกษศาสตร์ที่ถูกต้องแก่ประชาชน
  5. พัฒนาแหล่งเรียนรู้และคืนพรรณไม้ท้องถิ่นสู่ชุมชน เพื่อความรับผิดชอบต่อสังคมร่วมกัน

พื้นที่ชุ่มน้ำ[แก้]

หมายความถึง ที่ลุ่ม ที่ราบลุ่ม ที่ลุ่มชื้นแฉะ พรุ แหล่งน้ำ ทั้งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ และที่มนุษย์สร้างขึ้น ทั้งที่มีน้ำขังหรือท่วมอยู่ถาวรและชั่วครั้งชั่วคราว ทั้งที่เป็นแหล่งน้ำนิ่ง และน้ำไหล ทั้งที่เป็นน้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม รวมไปถึง พื้นที่ชายฝั่งทะเลและในทะเล ในบริเวณซึ่งเมื่อน้ำลดลงต่ำสุด มีความลึกของระดับน้ำไม่เกิน 6 เมตร[5]

ความสำคัญของพื้นที่ชุ่มน้ำ[แก้]

  • เป็นแหล่งน้ำที่สำคัญสำหรับ คน พืช สัตว์
  • เป็นแหล่งเก็บกักน้ำ ช่วยลดและป้องกันปัญหาน้ำท่วม
  • ช่วยป้องกันมิให้น้ำเค็มรุกเข้ามาในแผ่นดิน
  • ช่วยลดการพังทลายของชายฝั่ง รวมถึงชายคลองติดทะเล
  • ชะลอการไหลของน้ำ ดักจับตะกอนที่ไหลมาจากตอนบน
  • ช่วยดักจับธาตุอาหารที่ถูกพัดมากับน้ำและตะกอนไว้
  • สิ่งมีชีวิตต่างๆ รวมถึงมนุษย์ ได้ใช้ประโยชน์จากธรรมชาติที่มีอยู่ร่วมกัน
  • มีความสำคัญต่อการคมนาคมในท้องถิ่น
  • เป็นแหล่งรวมพันธุ์พืช และ พันธุ์สัตว์ และเป็นแหล่งของผู้ผลิตที่สำคัญในห่วงโซ่อาหาร
  • เป็นแหล่งอาศัยของนกอพยพระหว่างประเทศ ต้องอาศัยแหล่งพื้นที่ชุ่มน้ำเพื่อการดำรงชีพ

ลักษณะพื้นที่ชุ่มน้ำ บึงสำนักใหญ่ (หนองจำรุง)[แก้]

บึงสำนักใหญ่ (หนองจำรุง) ครอบคลุมพื้นที่รวมกว่า 3,800 ไร่ เป็นบึงน้ำจืดธรรมชาติคล้ายแอ่งกระทะ รองรับน้ำที่ไหลมารวมกันในบริเวณพื้นที่ ต.ซากพง อ.แกลง จ.ระยอง โดยมีเกาะตั้งอยู่กลางบึง ซึ่งประกอบไปด้วย

  • ป่าเสม็ดขาวและสังคมพืชท้องถิ่น ซึ่งยังคงความอุดมสมบูรณ์ มีทรัพยากรพืชที่มีความโดดเด่น เช่น เสม็ดขาว เสม็ดแดง ชะมวง แต้ว ยางนา พะยอม หวาน กะพ้อ พรวด โคลงเคลง มันเทียน ฯลฯ
  • พรรณไม้น้ำ ประกอบไปด้วย กกกระจูด บัวสาย บัวหลวง สาหร่ายข้าวเหนียวดอกเหลือง ดอกชมพู และหม้อข้าวหม้อแกงลิง
  • แพหญ้าลอยน้ำ ชาวบ้านเรียกว่า “หนังหมา” เป็นการทับถมกันของหญ้าเป็นชั้นๆ รวมความหนามากว่า 50 เซนติเมตร ลอยเป็นผืนใหญ่ ซึ่งในบางส่วนของแพหญ้ามีความแข็งแรงให้มนุษย์สามารถเดินย่ำได้โดยไม่จมน้ำ
  • พรรณไม้หายาก ประกอบไปด้วย เอื้องอึ่งอ่าง ผักไผ่น้ำ แห้วชะครู เอื้องสีสนิม ซึ่งหาพบได้บนแพหญ้าหนังหมา

สภาพพื้นที่ภายในเกาะ ผสมผสานระหว่างบึงน้ำจืดและป่าพรุ รวมกันอยู่ในระบบนิเวศน์เดียวกัน เป็นลักษณะพิเศษที่หาได้ยากในประเทศไทย อีกทั้งยังเป็น “พื้นที่ชุ่มน้ำเพียงแห่งเดียวที่ยังสมบูรณ์ที่สุด” ในภาคตะวันออก

อ้างอิง[แก้]

  1. wetland.onep.go.th. "พื้นที่ชุ่มน้ำในประเทศไทย | Wetland For Thai". wetlands.onep.go.th (ภาษาอังกฤษ).
  2. wetland.onep.go.th (November 11, 2009). "มติคณะรัฐมนตรี 3 พฤศจิกายน 2552 | Wetland For Thai" (PDF). wetlands.onep.go.th (ภาษาอังกฤษ).{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  3. "สวนพฤกษศาสตร์ระยอง". องค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง (ภาษาอังกฤษ).
  4. "8 เมษายน วันสถาปนาองค์การสวนพฤกษศาสตร์ - กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม". www.mnre.go.th.
  5. "พื้นที่ชุ่มน้ำ ความสำคัญ คุณค่า สถานการณ์ และภัยคุกคาม". www.wwf.or.th.