ผู้ใช้:Nantadej/กระบะทราย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ปีงบประมาณ 2557

พระสมเด็จจิตรลดา : พระราชศรัทธาเชิงพุทธศิลป์แห่งองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ช่วยศาสตราจารย์เอกพงศ์ ประสงค์เงิน ภาควิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์

กดปุ่ม > เพื่อเล่นไฟล์เสียง


         ตั้งใจจะอุปถัมภก	 ยอยกพระพุทธศาสนา
         ป้องกันขอบขัณฑสีมา	รักษาประชาชนและมนตรี
         ความในพระราชนิพนธ์ข้างต้นมาจากเรื่องนิราศรบพม่าที่ท่าดินแดง ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช นับตั้งแต่อดีตจวบจนรัชกาลปัจจุบัน ปวงพสกนิกรชาวไทยต่างตระหนักดีถึงพระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ที่ทรงกระทำเพื่อยอยกพระพุทธศาสนาและทรงกระทำในฐานะเอกอัครศาสนูปถัมภก สำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันทรงมีพระราชกรณียกิจอันสืบเนื่องกับพระพุทธศาสนาเป็นอเนกอนันต์ หนึ่งในนั้นที่หลายท่านอาจจะมองข้าม คือ การสร้างพระพิมพ์ที่เรียกว่า พระสมเด็จจิตรลดา หรือพระกำลังแผ่นดิน หรือที่ประชาชทั่วไปเรียกว่า สมเด็จจิตรลดาบ้าง พระจิตรลดาบ้าง ซึ่งเดิมเรียกว่า พระพิมพ์ที่ฐานพระพุทธนวราชบพิตร
         พระสมเด็จจิตรลดา เป็นพระเครื่องทรงสามเหลี่ยมหน้าจั่ว ขอบองค์พระด้านหน้าทั้งสามด้านเฉียงป้าน ออกสู่ด้านหลังเล็กน้อย มีสองขนาดพิมพ์ คือ พิมพ์เล็ก กว้าง 1.2 เซนติเมตร สูง 1.9 เซนติเมตร พิมพ์ใหญ่ กว้าง 2 เซนติเมตร สูง 3 เซนติเมตร องค์พระเป็นพระปางสมาธิศิลปะรัตนโกสินทร์ พระพักตร์ทรงผลมะตูม ประทับนั่งขัดสมาธิราบเหนือบัลลังก์ดอกบัว ประกอบด้วยบัวบาน 9 กลีบ และเกสรดอกบัว 9 จุด อยู่ในกรอบสามเหลี่ยมหน้าจั่วมีลักษณะคล้ายกับพระพุทธนวราชบพิตร ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชทานทุกจังหวัดและหน่วยทหาร แตกต่างกันที่พระพุทธนวราชบพิตรเป็นพระปางมารวิชัย พระสมเด็จจิตรลดามีหลายสีตามมวลสารที่ใช้ผลิตในแต่ละครั้งแตกต่างกัน ได้แก่ สีน้ำตาล สีน้ำตาลอมเหลือง สีน้ำตาลอมแดงคล้ายเทียน สีดำอมแดง หรือสีดำอมเขียว มีทั้งสีเข้มและสีอ่อน เป็นพระเครื่องที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสร้างด้วยพระหัตถ์ของพระองค์เอง พระราชทานแก่ทหาร ตำรวจ ข้าราชการและพลเรือน ในช่วงระหว่าง พ.ศ. 2508-2513 มีประมาณ 2,500 องค์ และมีเอกสารส่วนพระองค์หรือใบกำกับพระ ซึ่งแสดงชื่อนามสกุล วันที่รับพระราชทาน หมายเลขกำกับทุกองค์ ในการพระราชทานทรงมีพระราชดำรัสแก่ผู้รับพระราชทานว่า ให้ปิดทองที่หลังองค์พระปฏิมาและเอาไว้บูชาตลอดไป ให้ทำความดีโดยไม่หวังสิ่งตอบแทนใด ๆ 
         แม่พิมพ์ของพระสมเด็จจิตรลดาแกะโดยศาสตราจารย์ไพฑูรย์ เมืองสมบูรณ์ ข้าราชการบำนาญกองหัตถศิลป์ กรมศิลปากร เป็นแม่พิมพ์ลึกใช้ดินน้ำมันกดลงบนแม่พิมพ์เพื่อถอดแบบ แล้วทูลเกล้าฯ ถวาย เพื่อทอดพระเนตรและทรงวินิจฉัย รับสั่งให้แก้ไขจนพอพระราชหฤทัย จากนั้นจะทรงนำแม่พิมพ์ที่แกะไว้มาถอดต้นแบบจากแม่พิมพ์หิน จนได้ตามจำนวนพระราชประสงค์ แล้วทรงนำต้นแบบพระสมเด็จจิตรลดาจำนวนหนึ่ง เรียงบนภาชนะที่เตรียมไว้ เพื่อทำการหล่อแม่พิมพ์อีกครั้งหนึ่ง โดยทรงหล่อเป็นแม่พิมพ์ยาง 
         มวลสารที่ใช้ในการสร้างพระสมเด็จจิตรลดา ประกอบด้วย 2 ส่วน ส่วนที่หนึ่ง เป็นส่วนในพระองค์ ประกอบด้วยดอกไม้แห้งจากมาลัยที่ประชาชนทูลเกล้าฯถวาย ในการเสด็จพระราชดำเนิน เปลี่ยนเครื่องทรงพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร และทรงแขวนไว้ที่องค์พระตลอดเทศกาล นอกจากนี้ยังมีดอกไม้แห้งจากมาลัยที่แขวนพระมหาเศวตฉัตร และด้ามพระขรรค์ชัยศรีในพระราชพิธีฉัตรมงคล สีซึ่งขูดจากผ้าใบที่ทรงเขียนภาพฝีพระหัตถ์ ชันและสีน้ำมันที่ทรงขูดจากเรือใบไมโครมด ซึ่งเป็นเรือใบพระที่นั่งที่ทรงใช้แข่งขันในกีฬาแหลมทองปี 1967 ส่วนที่สอง ประกอบด้วย วัตถุที่ได้จากปูชนียสถานหรือพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ในแต่ละจังหวัด ดอกไม้ ผงธูปและเทียนบูชาพระแก้วมรกต และจากพระอารามหลวงที่สำคัญ ดินและตะไคร่น้ำแห้งจากใบเสมาของสังเวชนียสถานในประเทศอินเดีย ศรีลังกา และจากทุกจังหวัดในประเทศไทย และส่วนประกอบสุดท้าย คือ น้ำจากบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ ที่เคยใช้เป็นน้ำสรงมุรธาภิเษก เมื่อได้มวลสารครบแล้ว ทรงนำมาบดเป็นผง รวมกับเส้นพระเจ้า คลุกกับกาวเป็นเนื้อเดียวกัน แล้วกดเป็นองค์พระด้วยพระหัตถ์ โดยทรงใช้เวลาตอนดึกหลังทรงงาน มีเจ้าพระพนักงานหนึ่งคน คอยถวายพระสุธารส
         พระสมเด็จจิตรลดา เป็นพระทรงคุณค่าด้านจิตใจเป็นอย่างยิ่งแก่ผู้ได้รับพระราชทาน การนำมวลสารส่วนพระองค์มาใช้สร้างพระเครื่องนั้น อาจเป็นแนวคิดที่จะสื่อให้เห็นถึง พระอัจฉริยภาพของพระองค์ ทั้งด้านกีฬา ศิลปะ รวมถึงการนำเส้นพระเจ้ามาใช้เป็นมวลสาร เพื่อเพิ่มความศักดิ์สิทธิ์ให้แก่พระสมเด็จจิตรลดา ที่ทรงทำขึ้น เพราะถือว่าเส้นพระเจ้าเป็นของสูงขององค์สมมติเทพ หรืออีกนัยหนึ่งคือ ต้องการแสดงให้เห็นว่า ไม่ว่ามวลสารวัสดุสิ่งใด เมื่อนำมาสร้างพระด้วยความศรัทธาย่อมเป็นเครื่องสร้างขวัญและกำลังใจได้เช่นกัน การนำมวลสารจากสถานที่สำคัญต่าง ๆ ทั่วประเทศมาสร้างพระนั้น เพื่อเป็นเครื่องหมายแห่งความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของประเทศไทยและความสามัคคีกลมเกลียวของประชาชนชาวไทย และการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระวิริยะอุตสาหะสร้างพระพิมพ์ขึ้นด้วยพระองค์เอง แสดงให้เห็นถึงความตั้งพระราชหฤทัย เพื่อให้พระพิมพ์ทรงคุณค่าแก่การเคารพบูชา
         จากที่กล่าวมานี้เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึง พระอัจฉริยภาพขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ที่สอดรับกับพระราชปณิธานที่ว่า เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม ธรรมะที่พระองค์ทรงยึดเป็นหลักนั้นแสดงให้เห็นได้ทั้งในเชิงนามธรรมและรูปธรรม ในทางรูปธรรมนั้น ทรงแสดงให้เห็นด้วยพระสมเด็จจิตรลดาอันเป็นตัวแทนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่พระราชทานแก่ปวงพสกนิกร สะท้อนให้เห็นพระราชศรัทธาในพระพุทธศาสนา และความเป็นเอกอัครศิลปินโดยแท้

เอกสารอ้างอิง ชายเดียว พัฒนาสุวรรณและไชยา พัฒนาสุวรรณ. (2541). พระกำลังแผ่นดิน. กรุงเทพฯ : อัมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง. ณัฐพล อยู่รุ่งเรืองศักดิ์. (2555). ประวัติศาสตร์ผ่านพระเครื่องคติความเชื่อและพุทธพาณิชย์. นครปฐม : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยศิลปากร. ศรีศักร วัลลิโภดม. (2539). พระเครื่องในเมืองสยาม. กรุงเทพฯ : มติชน.

uniserv.buu.ac.th/forum2/topic.asp?TOPIC_ID=5650