ผู้ใช้:Miwako Sato/ทดลองเขียน 2

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

เรื่องราว[แก้]

พระราชพงศาวดาร[แก้]

เรื่องราวของพันท้ายนรสิงห์ปรากฎครั้งแรกในเอกสารชื่อ พระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์วัดพระเชตุพน ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (ครองราชย์ พ.ศ. 2325–2352) รับสั่งให้สมเด็จพระพนรัตน์ (แก้ว) เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เรียบเรียงขึ้นในช่วง พ.ศ. 2340–2350[1] มีเนื้อหาดังนี้[2]

ในปีวอก จ.ศ. 1066 (พ.ศ. 2247) สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 (พระเจ้าเสือ) พระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา ทรงเรือพระที่นั่งเอกชัยไปประพาสปากน้ำเมืองสาครบุรี (ปัจจุบัน คือ จังหวัดสมุทรสาคร) ครั้นเรือไปถึงตำบลโคกขาม (ปัจจุบันอยู่ใน อำเภอเมืองสมุทรสาคร) คลองคดเคี้ยวนัก พันท้ายนรสิงห์ ซึ่งคุมท้ายเรือพระที่นั่ง พายแก้ไขไม่ทัน หัวเรือพระที่นั่งชนกิ่งไม้หักตกลงน้ำ พันท้ายนรสิงห์ตกใจ กระโดดลงจากเรือพระที่นั่งขึ้นไปบนฝั่ง แล้วทูลว่า ขอให้ทรงตั้งศาลเพียงตา แล้วตัดศีรษะพันท้ายนรสิงห์มาตั้งไว้บนศาลนั้นเพื่อบวงสรวงหัวเรือตามกฎหมาย พระเจ้าเสือก็ทรงยกโทษให้ ตรัสว่า หัวเรือหักก็ต่อใหม่ได้ ไม่เอาโทษ พันท้ายนรสิงห์ขอให้ทรงทำตามกฎหมายซึ่งบัญญัติว่า พันท้ายผู้ใดถือท้ายเรือพระที่นั่งแล้วทำหัวเรือหัก ให้ประหารพันท้ายผู้นั้น พระเจ้าเสือรับสั่งให้ฝีพายเอาดินปั้นเป็นรูปพันท้ายนรสิงห์แล้วตัดศีรษะรูปปั้นนั้นแทน พันท้ายนรสิงห์ก็ละอายใจ เกรงผู้คนจะติฉินนินทาพระมหากษัตริย์ที่ไม่ทรงประหารตนตามกฎหมาย วิงวอนให้ทรงประหาร แม้จะทรงทัดทานหลายครั้ง ก็ไม่ยอม พระเจ้าเสือทรงสงสารจนน้ำพระเนตรไหล แต่ต้องทรงปฏิบัติตามกฎหมาย จึงรับสั่งให้เพชฌฆาตประหารพันท้ายนรสิงห์ แล้วเอาศีรษะพันท้ายนรสิงห์ขึ้นบวงสรวงไว้ที่ศาลเพียงตา จากนั้น เสด็จไปทรงตกปลาที่ปากน้ำสาครบุรีต่อ

เมื่อเสด็จกลับกรุงศรีอยุธยาแล้ว พระเจ้าเสือทรงรำลึกว่า "พันท้ายนรสิงฆ์ซึ่งตายเสียนั้นเปนคนซื่อสัจมั่นคงนัก สู้เสียสะละชีวิตรหมีได้อาไลย กลัวว่า เราจะเสียพระราชประเพณีไป เรามีความเสียดายนัก ด้วยเปนข้าหลวงเดีมมาแต่ก่อน อันจะหาผู้ซึ่งรักษ์ใคร่ซื่อตรงต่อจ้าวเหมือนพันท้ายนรสิงฆ์นี้ยากนัก" จึงทรงให้เอาศพพันท้ายนรสิงห์มาทำพิธีพระราชทานเพลิง แล้วทรงมอบข้าวของเงินทองมากมายแก่ภริยาและบุตรของพันท้ายนรสิงห์

จากนั้น พระเจ้าเสือรับสั่งให้เจ้าพระยาจักรี ผู้เป็นสมุหนายก เกณฑ์เลก 30,000 คนจากแปดหัวเมือง (คือ ธนบุรี, นนทบุรี, นครชัยศรี, เพชรบุรี, ราชบุรี, สมุทรปรากร, สมุทรสงคราม, และสาครบุรี) ไปขุดปรับคลองโคกขามมิให้คดเคี้ยวอีก เจ้าพระยาจักรีเกณฑ์เลกได้ 30,000 เศษ แล้วให้พระราชสงครามเป็นแม่กองขุดคลอง ขุดทะลุออกไปยังแม่น้ำสาครบุรีเพื่อเชื่อมกันเป็นทางตรง วิธีขุด คือ ให้ฝรั่งส่องกล้องตัดทางให้ตรง แล้วปักตรุยไว้เป็นแนวตามที่ฝรั่งระบุ ก่อนจะขุดตามแนวตรุยนั้น การขุดเริ่มในปีระกา จ.ศ. 1067 (พ.ศ. 2448) แต่พักไปเมื่อพระเจ้าเสือประชวรสวรรคตในปีจอ จ.ศ. 1068 (พ.ศ. 2449) มาจับทำใหม่ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระเมื่อปีฉลู จ.ศ. 1083 (พ.ศ. 2264) โดยให้พระราชสงครามเป็นแม่กอง เกณฑ์คนใหม่หมด และให้ฝรั่งส่องกล้องทำแนวต่อจากที่ขุดค้างไว้ แล้วลงมือขุด ใช้เวลาสองเดือนเศษก็ลุล่วง สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระพระราชทานชื่อว่า "คลองมหาชัย" และพระราชทานรางวัลแก่พระราชสงคราม ทั้งให้เลื่อนเป็นพระยาราชสงคราม

ข้อความทำนองเดียวกันนี้ยังปรากฏในเอกสารสมัยต่อมา คือ พระราชพงศาวดาร ฉบับบริติชมิวเซียม (พ.ศ. 2350),[3] พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา (พ.ศ. 2398),[4] และ พระราชพงศาวดาร ฉบับหมอบรัดเล (พ.ศ. 2407)[5]

การขยายความ[แก้]

Ref[แก้]

Bio[แก้]

  • ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 82 เรื่อง พระราชงพงศาวดารกรุงสยามจากต้นฉบับของบริติชมิวเซียมกรุงลอนดอน (2nd ed.). กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร. 2537. ISBN 974-419-025-6.
  • พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับหมอบรัดเล (2nd ed.). กรุงเทพฯ: โฆษิต. 2549. ISBN 974-94899-9-3.
  • พระราชพงษาวดาร ฉบับพระราชหัดถเลขา ภาค 2. กรุงเทพฯ: ม.ป.ท. 2455. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช พิมพ์ขึ้นเปนส่วนพระกุศลทานมัยในงานพระศพพระเจ้าบรมวงศ์เธอ (ชั้น 3) กรมหลวงวรเสฐสุดา ฯลฯ.{{cite book}}: CS1 maint: postscript (ลิงก์)
  • สมเด็จพระพนรัตน์ (แก้ว) (2558). ภักดีคำ, ศานติ (บ.ก.). พระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์วัดพระเชตุพน ตรวจสอบชำระจากเอกสารตัวเขียน. กรุงเทพฯ: มูลนิธิ "ทุนพระพุทธยอดฟ้า" ในพระบรมราชูปถัมภ์. ISBN 978-616-92351-0-1.