ผู้ใช้:Chatdy/กระบะทราย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

หลวงพ่อวงษ์ เจ้าคณะแขวงไผ่ล้อม/เจ้าคณะอำเภอบ้านค่ายคนแรก ฉบับดร.แขก เลือดบ้านค่าย/ผู้จัดทะเบียนค่ายมวยไทย เลือดบ้านค่าย

จากอัตชีวประวัติของหลวงพ่อวงษ์ วัดบ้านค่าย ที่ท่านได้เขียนด้วยลายมือตัวเองทิ้งไว้เป็นประวัติศาสตร์และเป็นหลักฐานชั้นดีในการยืนยันถึงสิ่งที่ถูกต้อง หลวงพ่อวงษ์ เขียนบันทึกไว้เมื่อวันที่ 26 เมษายน พ.ศ.2479 บรรยายไว้ว่า เดิมท่านชื่อนายวงษ์ วงษ์พิทักษ์ เกิดที่บ้านหนองตาเสี่ยง ต.หนองละลอก อ.บ้านค่าย จ.ระยอง เมื่อวันพฤหัสบดี เดือนเก้า ปีมะเส็ง ปีพ.ศ.2400 บิดาชื่อนายน้อย มารดาชื่อนางเอี่ยม มีพี่น้องร่วมบิดามารดา 9 คนหลวงพ่อวงษ์ เป็นคนที่4 มีอาชีพทำนา เมื่อหลวงพ่ออายุยังน้อย บิดาได้จากไปเสียก่อนเวลาอันควร ท่านจึงได้ช่วยทำนาเลี้ยงน้องๆโดยกู้เงินเขามาซื้อควาย แล้วทำนาปลดหนี้ที่กู้มาภายในเวลาหนึ่งปี ต่อมาเมื่ออายุได้ 14 ปี มารดาได้นำท่านไปฝากเลี้ยงไว้ที่วัดเพื่อเรียนหนังสือ โดยฝากไว้กับพระอาจารย์กลั่น วัดบ้านค่าย ในสมัยนั้นใครจะเรียนหนังสือต้องเรียนที่วัดเท่านั้น และจังหวัดระยองก็มีแต่ป่าเกือบทั้งจังหวัด ในตัวเมืองก็มีบ้านอยู่ไม่มาก ไม่กี่หลัง ถนนหนทางก็ไม่มี มีแต่ทางเกวียน ใครจะไปกรุงเทพฯต้องไปลงเรือที่ปากน้ำระยอง นั่งเรือกันสองถึงสามวันกว่าจะถึงกรุงเทพฯขึ้นกับสภาพอากาศ ดังนั้นคนที่จะเรียนหนังสือต้องมีความมานะพยายามเป็นอย่างดี หนังสือที่เรียนก็เป็นหนังสือขอมไทย และหนังสือไทย
ความประสงค์ของกุลบุตร ที่เข้ามาเรียนที่วัดส่วนใหญ่จะมาเรียนเพื่อเตรียมบวชมากกว่า เช่นเดียวกับหลวงพ่อวงษ์ เมื่ออายุครบบวช ท่านจึงได้อุปสมบท ณ วัดบ้านค่าย ตรงกับเดือนแปดสองหน พ.ศ.2423 (พ.ศ.2423 ตรงกับปีประสูติของกรมหลวงชุมพร เขตอุดมศักดิ์ โอรสร.5)ขณะนั้นอายุ 23 ปี โดยมีหลวงปู่สังข์เฒ่า ผู้สร้างวัดละหารไร่และปู่แท้ๆของหลวงปู่ทิม รวมทั้งเป็นอดีตเจ้าอาวาสวัดละหารใหญ่และวัดเก๋งจีน(ร.พ.ระยอง)เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์ดี วัดบ้านค่ายเป็นพระกรรมาจารย์ พระอาจารย์ห่วงเจ้าอาวาสวัดหนองกะบอกรูปที่ 4 เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ทั้งนี้เมื่อบวชได้ 8 เดือน มีเหตุการณ์สำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้หลวงพ่อเศร้าโศรกมาก คือเหตุเกิดในคืนเดือนสี่ หลวงพ่อวงษ์ ก่อนจำวัดได้จุดธูปเทียนตามปกติ เพื่อบูชาพระก่อนจำวัด ปรากฏว่าธูปได้หักกลางตกลงมาไหม้ผ้าครอง หลวงพ่อวงษ์ เขียนรำพึงรำพันไว้ในประวัติของท่านว่า เมื่อตอนหลับธูปได้หักลงมาไหม้ผ้าครอง ร้องไห้อยู่หลายเวลาเพราะผ้าครองเหมือนผ้าคู่บารมี เหมือนพระผู้ที่มีชีวิตได้ตายไปแล้ววายปราณ ท่านจึงหันและไปทำจิตที่ฟุ้งซ่านที่หลงใหลเลยเข้ากอไผ่หมูลำมะลอก ตอนนั้นหากไม่ได้พระอาจารย์ดี พระกรรมาจารย์ของหลวงพ่อทำน้ำมนต์ 7 บาตรรดให้และเปลี่ยนผ้าครองใหม่เนื่องจากเกรงว่าหลวงพ่อจะลาสิกขา เมืองระยองคงจะขาดพระอาจารย์ผู้ทรงคุณวิเศษไปรูปหนึ่ง
หลวงพ่อวงษ์บวชได้ 10 พรรษา ประมาณปีพ.ศ.2433 (สมัยร.5)พระอาจารย์ดี เจ้าอาวาสวัดบ้านค่ายได้มรณภาพลง พระยาศรีสมุทรโภคโชคชัยชิตสงคราม (อิ่ม ยมจินดา ต้นตระกูลยมจินดา) เจ้าเมืองระยองในสมัยนั้น จึงมอบให้หลวงพ่อวงษ์ เป็นผู้รักษาวัดบ้านค่าย ต่อมาพระครูสมุทรสมานคุณ เจ้าคณะจังหวัดระยอง ได้แต่งตั้งให้หลวงพ่อวงษ์ เป็น'เจ้าอธิการวัดบ้านค่าย'มีอำนาจหน้าที่ในการปกครองวัดบ้านค่ายโดยสมบูรณ์
ต่อมาในปี พ.ศ.2446 สมเด็จพระสังฆราชเจ้ากรมหลวงวชิรญาณวงศ์ สมัยดำรงค์สมณศักดิ์ พระสุคุณคณาภรณ์ เจ้าคณะมณฑลจันทบุรี ได้นัดพระผู้ใหญ่รวม 20 วัดที่วัดเก๋ง ปัจจุบันคือโรงพยาบาลระยอง อ.เมือง ระยองเพื่อแต่งตั้งหลวงพ่อวงษ์ ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะแขวงไผ่ล้อมหรือบ้านค่าย ในวันแรกท่านไม่ยอมรับ ท่านเจ้าคณะมณฑลจันทบุรีก็ยังไม่ยอม ให้พระผู้ใหญ่ในวันนั้นกลับไปก่อนและนัดให้มาใหม่ในวันรุ่งขึ้น
รุ่งเช้า พอฉันเช้าเสร็จ ตีระฆังเข้าประชุมในโบสถ์วัดเก๋ง ท่านเจ้าคณะมณฑลจันทบุรีได้ประกาศต่อหน้าที่ประชุมสงฆ์ทั้งหมดว่า "ท่านวงษ์ ฉันให้เลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่งในสามอย่างนี้คือ 1.ให้รับ 2.ให้สึก 3.ให้ไปเสียต่างเมือง
หลวงพ่อวงษ์ ถูกยื่นคำขาด จึงไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากยอมรับ หลังจากนั้นพระสงฆ์ทั้งหมดที่มาประชุม ณ วัดเก๋ง ได้ร่วมสวดชะยันโตและอนุโมทนาสาธุขึ้นพร้อมกันเป็นอันเสร็จพิธีแต่งตั้งเจ้าคณะแขวงบ้านค่ายหรือเจ้าคณะอำเภอบ้านค่าย นับว่าหลวงพ่อวงษ์เป็นเจ้าคณะแขวงรูปแรกของแขวงไผ่ล้อมหรือเจ้าคณะอำเภอบ้านค่าย โดยในปี พ.ศ. 2446 มีวัดในเขตปกครองของอำเภอบ้านค่าย 16 วัด คือ ส่วนปี พ.ศ.2556 อ.บ้านค่ายมีวัดอยู่ทั้งสิ้น 38 วัดครับ สำหรับ 16 วัด ณ ปีพ.ศ. 2446 มีดังนี้
  1. วัดไชยชุมพล ตำบลบ้านค่าย ปัจจุบันคือวัดบ้านค่าย
  2. วัดสุกรวารี ตำบลบ้านหนองเข้าหมู ปัจจุบันคือวัดหนองคอกหมู
  3. วัดไชยพฤกธาราม ตำบลหวายกรอง ปัจจุบันคือวัดหวายกรอง
  4. วัดสังฆาราม ตำบลบ้านละหาร ปัจจุบันคือวัดละหารใหญ่
  5. วัดวารีสังฆาราม ตำบลบ้านละหาร ปัจจุบันคือวัดละหารไร่
  6. วัดหนองกรับ ตำบลหนองกรับ ปัจจุบันคือวัดหนองกรับ
  7. วัดสิลาล้อม ตำบลบ้านห้วงหิน ปัจจุบันคือวัดห้วงหิน
  8. วัดไผ่ล้อม ตำบลบ้านปากกอไผ่ ปัจจุบันคือวัดไผ่ล้อม
  9. วัดไชยพฤกภุมรา ตำบลบ้านปากน้ำลึก ปัจจุบันคือวัดกะบกขึ้นผึ้ง
  10. วัดราชธาราม ตำบลบ้านหนองละลอก ปัจจุบันคือวัดหนองกะบอก
  11. วัดอารัญญิกกาวาศ ตำบลบ้านเกาะ ปัจจุบันคือวัดเกาะ
  12. วัดมรรคาวารินธาราม ตำบลบ้านหนองตะพาน ปัจจุบันคือวัดหนองตะพาน
  13. วัดทองธาราม ตำบลบ้านเก่า ปัจจุบันคือวัดบ้านเก่า
  14. วัดตรีชล ตำบลบ้านตาขัน ปัจจุบันคือวัดตาขัน
  15. วัดปากแขก ตำบลบ้านปากแขก ปัจจุบันคือวัดปากป่า
  16. วัดมาบข่า ตำบลบ้านมาบข่า ปัจจุบันคือวัดมาบข่า
ต่อมาปีพ.ศ. 2461 หลวงพ่อวงษ์ได้รับตราแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์ ปีพ.ศ. 2472 ได้รับพระราชทานบัตรสมณศักดิ์ เป็นพระครูวิจิตรธรรมานุวัติ เจ้าคณะแขวงจังหวัดระยอง หลวงพ่อวงษ์ได้เรียนวิชากับหลวงพ่อกง พระภิกษุลูกครึ่งเขมรผสมลาว ทั้งวิชาอาคมและแพทย์แผนโบราณ ซึ่งหลวงพ่อวงษ์ต้องเดินเท้าเข้าไปเรียนที่ป่าลึกในประเทศกัมพูชา ในเขตเมืองพระตะบอง เสียมราฐ และศรีโสภณ ซึ่งเคยเป็นของไทยก่อนเสียให้กับฝรั่งเศสปี 2450
หลวงพ่อวงษ์ ถือเป็นเกจิรูปแรกๆของจ.ระยองที่มีโอกาสไปร่วมในพิธีพุทธาภิเษกกับสมเด็จพระสังฆราชแพ แห่งวัดสุทัศน์ที่วัดราชบพิตรในปี พ.ศ.2481 ซึ่งเป็นยุคสงครามอินโดจีน(พ.ศ.2480-2484)ที่กรุงเทพมหานครในสมัยนั้นมาแล้ว รวมทั้งหลวงพ่ออ่ำ วัดหนองกะบอก,หลวงปู่ทิม วัดละหารไร่และหลวงพ่อชื่น วัดมาบข่า ก็เคยได้รับเชิญไปพุทธาภิเษกพิธีใหญ่ที่สมเด็จพระสังฆราชเป็นประธานด้วยเช่นกัน
หลวงพ่อวงษ์ สร้างพระทั้งหมด 5 รุ่นคือ
  1. เหรียญพระพุทธชินราช รุ่นบัวผุด
  2. เหรียญรุ่น (บ้านไข้)
  3. เหรียญรุ่นฉลองโรงเรียน (บ้านไข้)พ.ศ.2477
  4. เหรียญรุ่นบ้านค่าย พ.ศ.2478
  5. เหรียญรุ่นฉลองอายุครบ 80 ปี
เหรียญของวัดบ้านค่าย หลังจากนี้เป็นเหรียญที่สร้างภายหลังหลวงพ่อได้มรณภาพแล้วทั้งสิ้น หลวงพ่อวงษ์ ได้มรณภาพในปีพ.ศ.2483 สิริรวมอายุ 83 ปี 60 พรรษา