ผจญ มูลสัน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ผจญ มูลสัน
สถิติ
ฉายาพุฒ เกียรติลานสาง
รุ่นแบนตั้มเวท
สัญชาติไทย
เกิดรำพัน มูลสัน
13 กันยายน พ.ศ. 2511 (55 ปี)
อำเภอบรรพตพิสัย จังหวัดนครสวรรค์ ประเทศไทย
ผู้จัดการร.อ.ไฉน ผ่องสุภา
รายการเหรียญรางวัล

ผจญ มูลสัน นักมวยสากลสมัครเล่นทีมชาติไทยที่ได้เหรียญทองแดงโอลิมปิกเมื่อ พ.ศ. 2531[1]

ประวัติ[แก้]

ผจญ มูลสัน มีเดิมมีว่าชื่อ "รำพัน" เกิดเมื่อวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2511 ที่บ้านวงฆ้อง ตำบลด่านช้าง อำเภอบรรพตพิสัย จังหวัดนครสวรรค์ เป็นลูกคนที่ 5 ของนายสนิท และนางบาง มูลสัน จากจำนวนพี่น้องทั้งหมด 6 คน หลังจากเรียนจบ ป.6 จากโรงเรียนบ้านวงฆ้องแล้ว ผจญได้หนีออกจากบ้านไปเรียนหนังสือที่จังหวัดตาก เมื่ออายุได้ 12 ปี และเริ่มชกมวยไทยเพื่อหาเงินเรียน จนจบ ม.3 ที่โรงเรียนตากพิทยาคม เมื่อเห็นว่าตนพอมีฝีมือในการชกมวยอยู่บ้างจึงเดินทางเข้ากรุงเทพฯ สังกัดค่ายมวยโอสถสภาซึ่งอยู่ในการควบคุมของ ร.ต.ไฉน ผ่องสุภา ผจญ ได้เข้าเรียนในโรงเรียนบางกะปิ พร้อมกับขึ้นชกมวยไทยในชื่อ "พุฒ เกียรติลานสาง"

จากนั้นได้ขึ้นชกมวยสากลสมัครเล่นนักเรียนให้โรงเรียนบางกะปิ และชนะเลิศมา จึงอาสาขึ้นชกมวยสากลสมัครเล่นในนามทีมโอสถสภา จนติดทีมชาติ รุ่นแบนตั้มเวท ขึ้นชกในกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 14 ที่อินโดนีเซีย ได้เหรียญทองแดง เช่นเดียวกับในคิงส์คัพ ครั้งที่ 14 ปีเดียวกัน จึงถูกจัดให้เก็บตัวเพื่อเข้าแข่งขันในกีฬาโอลิมปิก 1988 ที่โซล ประเทศเกาหลีใต้

โดยรอบแรกผจญจับสลากผ่าน รอบสองชนะคะแนน มาร์คัส พรีอัลคซ์ (ออสเตรเลีย) 5-0 รอบสามชนะคะแนน อับราฮัม ทอร์เรส (เวเนซุเอลา) 3-2 รอบสี่ชนะคะแนน อัลตัน คูห์ยัก (มองโกเลีย) 5-0 ได้เหรียญทองแดง แต่ในรอบรองชนะเลิศพ่ายแพ้ เคนเนดี้ แมคคินนีย์ (สหรัฐอเมริกา-ต่อมาได้กลายเป็นแชมป์โลกมวยสากลอาชีพในรุ่นแบนตั้มเวท สหพันธ์มวยนานาชาติ หรือ IBF) แบบ RSC. (Referee Stop Contest) หรือ กรรมการผู้ห้ามบนเวทียุติการชก

ผจญจึงกลายเป็นนักกีฬาไทยเพียงคนเดียวที่ได้เหรียญรางวัลจากการแข่งขันโอลิมปิกครั้งนั้น ทั้ง ๆ ที่ผจญไม่ได้เป็นนักมวยที่เป็นตัวเต็งหรือมีความหวังเลย เพราะนักมวยที่ได้รับการจับตามองนั้น คือ วิชัย ขัดโพธิ์ และ ฉัตรชัย สาสกุล เท่านั้น

หลังจากนั้นผจญก็ได้แขวนนวมไป และได้ศึกษาจนจบปริญญาตรีที่วิทยาครูจันทรเกษม ในกลางปี พ.ศ. 2539 หลังจากที่ สมรักษ์ คำสิงห์ สามารถคว้าเหรียญทองมาได้จากการชกในรุ่นเฟเธอร์เวท ผจญก็ได้ร่วมแสดงในละครโทรทัศน์เรื่อง นายขนมต้ม ทางช่อง 7 โดยรับบทเป็น "ไอ้มิ่ง" ร่วมกับนักมวยคนอื่น ๆ เช่น สมรักษ์ คำสิงห์, ทวี อัมพรมหา, เขาทราย แกแล็คซี่, สามารถ พยัคฆ์อรุณ รวมทั้ง วิชัย ราชานนท์ ด้วย

อ้างอิง[แก้]